เรื่องน่ารู้พระพุทธรูปปางต่างๆ มีที่มาอย่างไร (ตอนที่ 2)

เรื่องน่ารู้พระพุทธรูปปางต่างๆ มีที่มาอย่างไร (ตอนที่ 2)

เรื่องน่ารู้พระพุทธรูปปางต่างๆ มีที่มาอย่างไร (ตอนที่ 2)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่เราทราบที่มาของพระพุทธรูปปางต่างๆ กันไป 15 ปางแล้ว Sanook! Horoscope ขอนำเสนอกันต่อกับเรื่องราวน่ารู้ของพระพุทธรูปปางต่างๆ กันค่ะ

พระพุทธรูปปางห้ามแก่นจันทร์พระพุทธรูปปางห้ามแก่นจันทร์

พระพุทธรูปปางเปิดโลก

พระพุทธรูปปางเปิดโลก พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืนอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองหันออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาทรงเปิดโลกบางแบบยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองขึ้น

ความเป็นมาของปางเปิดโลก

เมื่อครบกำหนด 3 เดือน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จสวรรค์ชั้นดาวดึงส์พระพุทธองค์ทรงทำโลกวิวรณปาฏิหาริย์ คือ ทรงเปิดโลกทั้ง 3 อันได้แก่ เทวโลก ยมโลก และมนุษยโลก ให้มองเห็นถึงกันหมดด้วยพุทธานุภาพ เหล่าเทวดาในสวรรค์มองเห็นมนุษย์และสัตว์นรก มนุษย์มองเห็นเทวดาและสัตว์นรก สัตว์นรกมองเห็นมนุษย์และเทวดา แล้วจึงเสด็จลีลาลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สู่สังกัสสนครในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11

พระพุทธรูปางห้ามแก่นจันทร์ พระพุทธรูปางห้ามแก่นจันทร์

พระพุทธรูปางห้ามแก่นจันทร์ 

พระพุทธรูปางห้ามแก่นจันทร์ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ห้อยพระหัตถ์ขวาลงข้างพระวรกาย ฝ่าพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) และยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาทรงห้าม

ความเป็นมาของปางห้ามแก่นจันทร์

เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น มีตำนานกล่าวว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลกษัตริย์แห่งนครสาวัตถีทรงรำลึกถึงพระพุทธองค์มาก ด้วยความเคารพรักและศรัทธาจึงสั่งให้ช่างหลวงทำพระพุทธรูปลักษณะคล้ายองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยไม้แก่นจันทร์หอมอย่างดี ประดิษฐานไว้ในพระราชนิเวศน์เพื่อสักการบูชา พระไม้แก่นจันทร์องค์นี้ถือเป็นพระพุทธรูปองค์แรกในพระพุทธศาสนา

พระพุทธรูปปางสมาธิเพชรพระพุทธรูปปางสมาธิเพชร

พระพุทธรูปปางสมาธิเพชร

พระพุทธรูปปางสมาธิเพชร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ไขว้พระชงฆ์ (แข้ง) หงายฝ่าพระบาททั้งสองข้าง ฝ่าพระหัตถ์วางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับนพระหัตถ์ซ้าย

ความเป็นมาของปางสมาธิเพชร

หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์รับหญ้าคาจากโสตถิยพราหมณ์แล้ว ทรงนำไปปูต่างบัลลังก์ ณ ควงไม้อัสสัตถโพธิพฤกษ์ แล้วประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ อธิษฐานว่า "เนื้อและเลือดในสรีระนี้ แม้จะเหือดแห้งไปหมดส้น จะเหลือแต่หนังเอ็นและกระดูกก็ตามที ถ้าเรายังไม่บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณก็จักไม่ทำลายบัลลังก์นี้

พระพุทธรูปปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาทพระพุทธรูปปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท

พระพุทธรูปปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท

พระพุทธรูปปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองวางที่พระเพลา (ตัก) บางแบบประสานพระหัตถ์วางที่พระเพลา พระบาทซ้ายทรงเหยียบหลังพระบาทขวา เป็นกิริยากดพระบาท

ความเป็นมาของปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท

ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ 3 เหตุการณ์ดังนี้ คือ ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเขาสัจพันธ์ ทรงหยุดบุษบกอยู่บนอากาศ เพื่อทรมานสัจพันธ์ฤาษีให้ละมิจฉาทิฐิ จนได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ แล้วขึ้นบุษบกตามเสด็จไปยังสถานที่ที่ทรงรับนิมนต์ไว้ เมื่อพระพุทธองค์ทรงทำภัตกิจเสร็จ พญานาคราชทูลขอให้ประดิษฐานรอบพระพุทธบาทไว้ริมฝั่งนัมทามหานที ครั้งที่ 2 เมื่อเสด็จกลับมาถึงเขาสัจพันธ์ ได้ตรัสสั่งพระสัจพันธ์ให้พักอยู่ที่เขาแห่งนี้ เพื่อปลดเปลื้องผู้ที่พระสัจพันธ์เคยสอนสัทธิผิดๆ ไว้ ให้พ้นจากมิจฉาทิฏฐิ

พระพุทธองค์ได้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ที่หลังหิน ตามที่พระสัจพันธ์ทูลขอไว้ และครั้งที่ 3 ในพระนครโกสัมพี มีพราหมณ์ชื่อว่า มาคันทิยะ มีธิดาสาวสวยชื่อว่า มาคันทิยา มาคันทิยะได้เห้นพระพุทธองค์ซึ่งงามพร้อมด้วยมหาบุรุษลักษณะทุกประการ จึงนำลูกสาวมาถวาย พระพุทธองค์ได้ทรงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเบื้องขวาให้ปรากฏยังพื้นดิน แล้วเสด็จจากไปประทับอยู่ในบริเวณนั้น พราหมณีภรรยามาคันทิยพราหมณ์ เห็นรอยพระพุทธบาทแล้วทราบทันทีว่ารอยเท้าเช่นนี้เป็นรอยเท้าของคนสละกามได้แก้ว ต่อมาทรงแสดงธรรมโปรดพราหมณ์ทั้งสองจนได้เป็นพระอนาคามี

พระพุทธรูปปางชี้มารพระพุทธรูปปางชี้มาร

พระพุทธรูปปางชี้มาร

พระพุทธรูปปางชี้มาร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระพักตร์ ชี้นิ้วพระหัตถ์ไปข้างหน้า

ความเป็นมาของปางชี้มาร

พระโคธิกเถระปฏิบัติธรรมจนสำเร็จอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ มารคิดว่าวิญญาณของท่านเพิ่งออกจากร่างจึงแฝงกายเข้าไปในก้อนเมฆ เที่ยวตามหาวิญญาณของท่านแต่ไม่พบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกพระหัตถ์ชี้มารให้ภิกษุทั้งหลายดูและตรัสบอกภิกษุว่า

"มารผู้มีใจบาปกำลังแสวงหาวิญญาณพระโคธิกะอยู่ แต่ไม่มีวิญญาณของพระเถระอยู่ในที่นั่น ด้วยเธอได้นิพพานแล้ว" เมื่อมารค้นหาวิญญาณของพระโคธิกเถระไม่พบจึงแปลงเพศเป็นมาณพน้อยเข้าเฝ้าพระพุทธองค์มารทูลถามว่า พระโคธิกะอยู่ที่ใด เมื่อพระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระโคธิกะนิพพานแล้ว มารตกตะลึงด้วยคาดไม่ถึงอันตรธานหายวันไปในทันที พระพุทธองค์ตรัสว่า "ผู้มีศีลบริสุทธิ์อยู่ด้วยความไม่ประมาทย่อมถึงวิมุตติ เพราะฌานหยั่งรู้ชอบแล้วมารจะไม่ประสบทางของท่านได้เลย"

พระพุทธรูปปางปฐมบัญญัติพระพุทธรูปปางปฐมบัญญัติ

พระพุทธรูปปางปฐมบัญญัติ

พระพุทธรูปปางปฐมบัญญัติ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองตะแคงยื่นออกไปข้างหน้า

ความเป็นมาของปางปฐมบัญญัติ

ในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นครเวสาลี สุทินกลันทบุตร ได้ฟังพระธรรมเทศนาบังเกิดความเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบท แต่บิดามารดาอยากให้สึกมาดูแลสมบัติของตระกูล พระสุทินยังยินดีในพรหมจรรย์ บิดาจึงขอทายาทเพราะหากไม่มีผู้สืบสกุล ทรัพย์สินจะถูกยึดตามธรรมเนียม พระสุทินจึงได้ร่วมประเวณีกับภรรยาเก่าตามคำขอร้องและได้บุตรชายคนหนึ่ง ต่อมาท่านรู้สึกไม่สบายใจจึงเล่าให้ภิกษุทั้งหลายทราบ ความทราบถึงพระพุทธองค์ ทรงติเตียนพระสุทินที่ทำกรรมที่ไม่สมควรอย่างยิ่งแก่สมณะ

จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า "ภิกษุเสพเมถุนต้องขาดจากความเป็นภิกษุทันที" นับเป็นปฐมบัญญัติ คือ ข้อแรกในพระวินัยของพระภิกษุ การประพฤติของพระสุทินสมัยนั้นถือว่ายังไม่ขาดจากความเป็นภิกษุ พระพุทธองค์ไม่ทรงเอาผิด เพราะยังไม่มีสิกขาบทห้ามไว้ แต่ถ้าภิกษุใดทำเช่นนี้อีก ถือว่าปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันที

พระพุทธรูปปางประทานพรพระพุทธรูปปางประทานพร

พระพุทธรูปปางประทานพร

พระพุทธรูปปางประทานพร (นั่ง) พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) แบฝ่าพระหัตถ์ขวายื่นออกไปวางที่พระชานุ (เข่า)

ความเป็นมาของปางประทานพร

เมื่อครั้งพระอานนท์ถูกสงฆ์เลือกให้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก ท่านได้ขอพร 8 ประการ จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร 4 ข้อแรก ได้แก่ ไม่ประทานจีวรอันประณีตแก่ท่าน ไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตที่พระองค์ได้มาแก่ท่าน ไม่ประทานให้ท่านอยู่คันธกุฎีเดียวกับพระพุทธองค์ และไม่ทรงพาท่านไปในที่นิมนต์ ส่วน 4 ข้อหลังนั้น ได้แก่ ขอให้พระพุทธองค์ไปในที่นิมนต์ที่ท่านรับไว้ ถ้าท่านนำพุทธบริษัทมาจากแดนไหลขอให้ได้เข้าเฝ้าทันที ถ้าท่านมีความสงสัยขอให้ถามได้ทันที และข้อสุดท้ายคือ ถ้าพระพุทธองค์ไปแสดงธรรมที่ไหน ถ้าท่านไม่ได้ฟัง ขอให้แสดงแก่ท่านอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันคำครหาว่า ท่านอุปัฏฐากแล้วไม่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากพระพุทธองค์เลย พระพุทธองค์ได้ประทานพรทั้ง 8 ประการแก่พระอานนท์

พระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดีหรือปางทรงเครื่องพระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดีหรือปางทรงเครื่อง

พระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดีหรือปางทรงเครื่อง

พระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดีหรือปางทรงเครื่อง อยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) ทรงเครื่องต้นอย่างพระมหากษัตริย์

ความเป็นมาของปางโปรดพญาชมพูบดีหรือปางทรงเครื่อง

พญาชมพูบดีผู้มีฤทธิ์เดชมาก มีความริษยาพระเจ้าพิมพิสาร เพราะทรงมีปราสาทงดงามกว่าปราสาทของพระองค์ จึงมารุกรานข่มเหงจนพระเจ้าพิมพิสารต้องหนีไปพึ่งพระบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเนรมิตพระองค์เองเป็นพรราชาธิราชที่งดงามดุจท้าวมหาพรหม และรับสั่งให้ท้าวสักกเทวราชแปลงเป็นราชทูตไปทูลเชิญพญาชมพูบดีมา พญาชมพูบดีตกตะลึงในความงามและความยิ่งใหญ่แห่งพระนครของพระเจ้าราชาธิราช พระพุทธองค์ทรงให้โอกาสพญาชมพูบดีแสดงฤทธิ์ แต่ก็พ่ายแพ้ต่อพระพุทธองค์ จึงทรงบันดาลให้ทุกสิ่งกลับคืนสู่สภาพเดิมและทรงแสดงธรรมโปรดจนพญาชมพูบดีเพื่อหน่ายในราชสมบัติอันไม่ยั่งยืน ทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พญาชมพูบดี


พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์

พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์

พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) บนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางบนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุ นิยมสร้างช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ อีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย

ความเป็นมาของปางปาลิไลยก์

ครั้งหนึ่งพระภิกษุในวัดโฆสิตาราม กรุงโกสัมพี ทะเลาะวิวาทกัน ประพฤติตนเป็นผู้ว่าสอนยาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงระอาพระทัย จึงเสด็จไปจำพรรษาอยู่ในป่าแถบหมู่บ้านปาลิเลยยกะ โดยมีพญาช้างปาลิเลยยกะและลิงตัวหนึ่งเป็นอุปัฏฐาก ครั้นออกพรรษา พระอานนท์พร้อมด้วยคณะพระภิกษุได้มากราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ ให้เสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร หลังจากพระพุทธองค์เสด็จกลับ พญาช้างเสียใจล้มลงขาดใจตาย บรรดาพระภิกษุผู้ว่ายาก เมื่อทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จกลับมายังพระเชตวันมหาวิหาร ก็รีบเดินทางมาเข้าเฝ้าเพื่อแสดงความสำนึกผิด


พระพุทธรูปปางโปรดองคุลิมาลโจรพระพุทธรูปปางโปรดองคุลิมาลโจร

พระพุทธรูปปางโปรดองคุลิมาลโจร

พระพุทธรูปปางโปรดองคุลิมาลโจร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) นิ้วพระหัตถ์ตั้งตรง หันฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้าย

ความเป็นมาของปางโปรดองคุลิมาลโจร

อหิงสกกุมารบุตรพราหมณ์ปุโรหิตแห่งนครสาวัตถี ได้ศึกษาสรรพวิชาอยู่ ณ สำนักทิศาปาโมกข์ เมืองตักศิลา ผู้เป็นอาจารย์ถูกยุยงว่า อหิงสกะหมายล้มล้างตน จึงหาทางกำจัดโดยยืมมือผู้อื่นฆ่า และบอกว่าจะสอน "วิษณุมนต์" ให้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องหานิ้วมือมนุษย์จำนวนหนึ่งพันนิ้วจากหนึ่งพันคนมาบูชาครู

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระอนาคตังสญาณว่า อหิงสกะ หรือองคุลิมาลโจรหรือจอมโจรผู้มีนิ้วมือเป้นมาลัยกำลังจะทำกรรมหนักเพราะกำลังจะฆ่ามารดา จึงเสด็จไปขวางทาง องคุลิมาลโจรตะโกนว่า "หยุดก่อนสมณะ" พระพุทธองค์รับสั่งว่า "เราหยุดแล้ว แต่ท่านนั่นแหละยังไม่หยุด" พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงธรรมจนองคุลิมาลทูลขอบรรพชา พระพุทธองค์จึงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้องคุลิมาลได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในกาลต่อมา



พระพุทธรูปปางประทานอภัยพระพุทธรูปปางประทานอภัย

พระพุทธรูปปางประทานอภัย

พระพุทธรูปปางประทานอภัย (นั่ง) พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นเสมอพระอุระ (อก) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองเบนไปข้าวหน้าเล็กน้อย บางแบบเป็นพระอิริยาบถยืน

ความเป็นมาของปางประทานอภัย

พระเจ้าอชาตศัตรู พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร แห่งกรุงราชคฤห์ ถูกพระเทวทัตยุยงให้ปลงพระชนม์พระราชบิดา แล้วขึ้นครองราชย์แทน พระเจ้าอชาตศัตรูยังทรงช่วยสนับสนุนพระเทวทัต ส่งนายขมังธนูไปปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่สำเร็จ ภายหลังสำนึกตัว จึงเสด็จมาสารภาพความผิดของตน และขอพระราชทานอภัยโทษกับพระพุทธองค์ ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งสูงสุด หันมาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาและทรงให้ความอุปถัมภ์ในการทำสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 1



พระพุทธรูปปางพิจารณาชราธรรมพระพุทธรูปปางพิจารณาชราธรรม

พระพุทธรูปปางพิจารณาชราธรรม

พระพุทธรูปปางพิจารณาชราธรรม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางคว่ำอยู่บนพระชานุ (เข่า) ทั้งสองข้าง

ความเป็นมาของปางพิจารณาชราธรรม

วันหนึ่งในพรรษาที่ 45 พรรษาสุดท้ายแห่งพระชนมายุ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปราศรัยเรื่องชราธรรมกับพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ บัดนี้เราชราภาพล่วงกาลผ่านวัยจนพระชนมายุล่วงเข้า 80 ปีแล้ว กายของตถาคตทรุดโทรมเสมือนเกวียนชำรุดที่ต้องซ่อม ต้องมัดกระหนาบให้อยู่ด้วยไม้ไผ่ อันมิใช่สัมภาระแห่งเกวียนนั้น ดูก่อนอานนท์ เมื่อใดตถาคตเข้าอนิมิตเจโตสมาธิ ตั้งจิตสงบมั่น คือไม่ให้มีนิมิตใดๆ เพราะไม่ทำนิมิตทั้งหลายไว้ในใจ ดับเวทนาบางเหล่าเสีย และหยุดยั้งอยู่ด้วยอนิมิตสมาธิ เมื่อนั้นกายแห่งตถาคตย่อมผ่องใส มีความผาสุกสบายตลอดกาย ดูก่อนอานนท์ เพราะธรรม คือนิมิตสมาธิธรรมนั้นมีความผาสุก ฉะนั้นท่านทั้งหลายจงมีตนเป็นเกราะ มีธรรมเป็นที่พึ่งทุกอิริยาบถเถิด"



พระพุทธรูปปางแสดงโอฬาริกนิมิตพระพุทธรูปปางแสดงโอฬาริกนิมิต

พระพุทธรูปปางแสดงโอฬาริกนิมิต

พระพุทธรูปปางแสดงโอฬาริกนิมิต พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นป้องเสมอพระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ (เข่า)

ความเป็นมาของปางแสดงโอฬาริกนิมิต

ในวันเพ็ญเดือน 3 (วันมาฆบูชา) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จไปประทับที่ ปาวาลเจดีย์ และทรงแสดงโอฬาริกนิมิต คือ ตรัสให้พระอานนท์ทราบว่าผู้ใดเจริญอิทธิบาทภาวนา หรืออิทธิบาท 4 ได้สมบูรณ์แล้ว ผู้นั้นย่อมสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ถึงกัปหนึ่ง หรือเกินกว่าตามประสงค์ แม้พระพุทธองค์ได้ตรัสแสดงนิมิตถึง 3 หน แต่พระอานนท์มิได้ทูลอาราธนาให้ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ตลอดกัปเพราะถูกมารดลใจ พระพุทธองค์ทรงเคยแสดงนิมิตทำนองนี้ในสถานที่ต่างๆ ถึง 16 ครั้ง (อิทธิบาท 4 ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา)



พระพุทธรูปปางห้ามมารพระพุทธรูปปางห้ามมาร

พระพุทธรูปปางห้ามมาร

พระพุทธรูปปางห้ามมาร พระพุทะรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายอยู่บนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นห้องเสมอพระอุระ (อก) แสดงอาการห้าม

ความเป็นมาของปางห้ามมาร

หลังจากทรงพิจารณาธรรมในเรือนแก้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปประทับใต้ต้นไทร ธิดาทั้ง 3 ของพญามาร คือ นางราคา นางตัณหา นางอรดี ได้อาสาผู้เป็นบิดาไปทำลายตบะเดชะของพระพุทธองค์ ด้วยการเนรมิตร่างเป็นสตรีสวยงามในวัยต่างๆ ตลอดจนแสดงอิตถีมายาโดยการฟ้อนรำขับร้อง แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงเอาพระทัยใส่ กลับขับไล่ธิดาทั้ง 3 ของพญามารถให้หลีกไป



พระพุทธรูปปางปลงอายุสังขารพระพุทธรูปปางปลงอายุสังขาร

พระพุทธรูปปางปลงอายุสังขาร

พระพุทธรูปปางปลงอายุสังขาร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระชานุ (เข่า) บางแบบวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นทาบที่พระอุระ (อก) เป็นอาการลูบพระวรกาย

ความเป็นมาของปางปลงอายุสังขาร

เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับ ณ ปาวาลเจดีย์ มารมาทูลอาราธนาให้ปรินิพพาน เมื่อพระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขาร ก็เกิดอัศจรรย์แผ่นดินไหวกลองทิพย์ก็บันลือลั่นในอากาศ พระอานนท์บังเกิดความพิศวงในบุพพนิมิตจึงทูลถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอัศจรรย์นี้ พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า ได้ปลงอายุสังขารแล้ว ต่อแต่นี้ไปอีก 3 เดือน จะปรินิพพาน พระอานนท์จึงทูลอาราธนาให้ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ตลอดกัปหนึ่ง เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก พระพุทธองค์ตรัสว่าได้ทรงแสดงโอฬาริกนิมิตถึง 16 ครั้ง แต่พระอานนท์มิได้ทูลอาราธนาให้ดำรงพระชนม์ชีพอยู่เสมอ และบัดนี้พญามารได้ทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ดับขันธปรินิพพานแล้ว พระพุทธองค์ได้สละแล้ว จะนำสิ่งนั้นกลับมาอีกด้วยเหตุใด



พระพุทธรูปปางทรงพยากรณ์พระพุทธรูปปางทรงพยากรณ์

พระพุทธรูปปางทรงพยากรณ์

พระพุทธรูปปางทรงพยากรณ์ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา ลืมพระเนตร พระเศียรหนุนเขนย (หมอน) พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นวางที่พระอุทร (ท้อง)

ความเป็นมาของปางทรงพยากรณ์

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น พระอานนท์เศร้าโศกเสียใจมาก จึงแอบไปยืนร้องไห้อยู่เพียงลำพัง พระพุทธองค์ได้ตรัสปลอบว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง จะหาความเที่ยงแท้จากสังขารได้แต่ที่ไหน ทุกสิ่งมีเกิดในเบื้องต้น ต้องแปรปรวนในท่ามกลางและดับสลายลงในที่สุด ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจนั้นเป็นของธรรมดา ให้ละความเศร้าโศก และตั้งใจปฏิบัติธรรม จากนั้นทรงสรรเสริญความดีของพระอานนท์และทรงตรัสพยากรณ์ว่า พระอานนท์จักบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ก่อนที่คณะสงฆ์จะทำปฐมสังคายนา



พระพุทธรูปปางปรินิพพานพระพุทธรูปปางปรินิพพาน

พระพุทธรูปปางปรินิพพาน

พระพุทธรูปางปรินิพพาน พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย (หมอน) พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ข้างพระเขนย พระบาทซ้ายทับซ้อนพระบาทขวา

ความเป็นมาของปางปรินิพพาน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (เดือน 6) ก่อนพุทธศักราช 1 ปี การถวายพระเพลิงได้จัดขึ้น ณ มกุฎพันธนเจดีย์ กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 (วันอัฎฐมี) หลังจากถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว 3 เดือน คณะสงฆ์ได้สังคายนาพระไตรปิฎก การทำปฐมสังคายนาใช้เวลา 7 เดือน

>>> เรื่องน่ารู้พระพุทธรูปปางต่างๆ มีที่มาอย่างไร (ตอนที่ 1) คลิก!



ขอบคุณข้อมูลประขอบจาก http://www.dmc.tv/ (หนังสือปางพระพุทธรูป หัวข้อธรรมในคำสอน) 
ภาพประกอบจาก วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรวิหาร จังหวัดนครปฐม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook