ตำนานการเชิดสิงโตในวันตรุษจีน
ในวันตรุษจีนของทุกๆ ปี รวมไปถึงวันตรุษจีน2558 นี้ หลายคนมักจะเห็นการแสดง "เชิดสิงโต" ซึ่งเป็นเหมือนประเพณีที่ทำกันเป็นประจำ เป็นการเอาฤกษ์เอาชัยให้เกิดความเป็นสิริมงคลในวันตรุษจีนหรือวันปีใหม่จีนนั้นเอง แต่ชาวสนุก!ดูดวงทราบไหมคะว่า ทำไมต้องมีการเชิดสิงโตในวันตรุษจีน? มาหาคำตอบได้ที่นี่กับเรื่องราว "ตำนานการเชิดสิงโตในวันตรุษจีน" ค่ะ
คนจีนโบราณมีความเชื่อว่า "สิงโต" เป็นบุตรของมังกร ซึ่งมีอำนาจและทรงพลังมากที่สุดในบรรดาบุตรทั้งหมด ได้รับมอบหมายจากสวรรค์ในฐานะผู้พิทักษ์ สิงโตจึงถือเป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจ ความกล้าหาญ และความจงรักภักดี นอกจากนี้ยังเชื่อว่ากันว่าสิงโตเป็น สัตว์เทพเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ แม้เพียงเสียงคำรามก็สามารถปัดเป่าวิญญาณและสิ่งชั่วร้ายได้
ด้วยเหตุนี้เองชาวจีนจึงนิยมสร้างรูปสลักสิงโตไว้ตรงหน้าพระราชวัง ตามหน้าบ้านหรือสถานที่ต่างๆ เพื่อเป็นองครักษ์ผู้พิทักษ์คอยคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายภูตผีปีศาจและสิ่งชั่วร้ายต่างๆ โดยจะสร้างสิงโตไว้ตรงหน้าประตูทางเข้าเป็นคู่ สิงโตตัวผู้จะอยู่ทางด้านขวามือ(ของผู้ที่เดินเข้า)และสิงโตตัวเมียจะอยู่ทางด้านซ้าย
จริงๆ แล้วตำนานที่มาของการเชิดสิงโตมีหลากหลายแตกต่างกันอยู่พอสมควร แต่ในที่นี้ขอยกตัวอย่างมาแค่บางส่วนที่เป็นที่เล่ากันเป็นส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
มีตำนานหนึ่งกล่าวว่าในประเทศจีนสมัยห้าราชวงศ์ในวันตรุษจีน (หรือบางที่ก็ว่าวันไหว้พระจันทร์) จะปรากฏสัตว์ร้ายชื่อว่า เหนียน Nien (ตัวเหนียนนั้นมีตัวยาวแปดฟุต ศีรษะใหญ่ มีฟันแหลมคม ตาเหมือนระฆังทองแดง มีใบหน้าสีเขียว มีเขาบนศีรษะ) ซึ่งจะคอยทำร้ายผู้คน สัตว์เลี้ยงและทำลายพืชผลไร่นาเสียหาย ผู้คนจึงต้องบวงสรวงต่อเทพเจ้าบนสวรรค์ เทพเจ้าเง็กเซียนฮ่องเต้จึงส่งเทพสิงโตมาขับไล่เจ้าตัวเหนียนไป
ในวันตรุษจีนปีต่อมา เจ้าตัวเหนียนก็กลับมาสร้างความเดือดร้อนอีก แต่คราวนี้เทพสิงโตไม่ลงมาช่วยอีกแล้ว ผู้คนจึงต้องร่วมใจกันแต่งตัวทำเลียนแบบสิงโต จึงสามารถขับไล่ตัวเหนียนไปได้และเกิดเป็นประเพณีเชิดสิงโตขึ้นในวันตรุษจีนปีต่อๆ มา
บางตำนานเล่าว่า พระยูไลได้เสร็จมาปราบพยศตัวเหนียนจนเชื่องและพากลับไปชาวบ้านจึงเฉลิมฉลองและจัดทำการแต่งตัวเลียนแบบท่าทางตัวเหนียนเพื่อบูชาพระยูไล จึงเกิดเป็นการเชิดสิงโต
อีกหนึ่งตำนานเล่าว่าการเชิดสิงโตเริ่มขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ้อง แม่ทัพจงอวี่ (Zhong Yue) ยกทัพออกรบที่ดินแดนหลินหยี (Lin Yi) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีนแถวๆ ประเทศลาว และพม่า ข้าศึกชาวพื้นเมืองได้ใช้กองทัพช้างในการสู้รบ ทำให้แม่ทัพจงอวี่ต้องรับศึกหนัก จึงใช้อุบายให้ทหารกองหน้าแต่งตัวเป็นสิงโต กองทัพช้างของข้าศึกเห็นจึงแตกตื่นและแตกพ่ายไป ประเทศจีนจึงมีประเพณีเชิดสิงโตเพื่อฉลองชัยชนะ
นอกจากนี้ประเพณีการเชิดสิงโตยังแบ่งออกเป็นแบบเหนือ(ปักกิ่ง)ซึ่งเลียนแบบท่าทางของสุนัข แต่ถ้าเป็นการเชิดสิงโตแบบใต้จะเลียนแบบท่าทางของแมว ซึ่งยังแบ่งเป็นแบบกวางตุ้ง ฮกเกี้ยนอีกด้วย และการเชิดสิงโตแบบใต้นี้ยังมีการแบ่งประเภทตามสีของหน้าสิงโต ได้แก่ สีเหลืองจะหมายถึงเล่าปี่ สีแดงจะหมายถึงกวนอู และสีดำจะหมายถึงเตียวหุย ที่สำคัญลักษณะของขนและพู่ยังต่างกันออกไปอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก FW Mail, http://blog.th.88db.com/
ขอบคุณภาพประกอบจาก Photos.com