ขั้นตอนการเวียนเทียน ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา สิ่งหนึ่งที่ชาวพุทธนิยมทำนอกเหนือจากการทำบุญ ตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม คือ การเวียนเทียน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยมักจะยืดถือปฏิบัติกันด้วยเช่นกัน แต่หลายคนก็ยังไม่เคยทราบถือเรื่องราวของความสำคัญที่แท้จริง รวมไปถึงขั้นตอนของการเวียนเทียนที่ถูกต้อง Sanook Horoscope รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเวียนเทียนมาให้คุณๆ ได้ทราบกันแล้วค่ะ
การเวียนเทียน คือ การถือดอกไม้ธูปเทียนที่จุดแล้วเวียนขวา (เวียนประทักษิณ โดยให้สิ่งที่เวียนอยู่ทางขวามือของตน) รอบปูชนียวัตถุหรือปูชนียสถาน 3 รอบ ด้วยอาการสำรวมเคารพพร้อมทั้งน้อมใจระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยในขณะนั้นด้วยเป็นการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัยด้วยกาย วาจา และใจ อย่างสูงสุด จัดเป็นบุญกิริยาอย่างหนึ่ง
ขั้นตอนการเวียนเทียนอย่างไรให้ถูกต้อง
การเวียนเทียนเป็นประเพณีที่ชาวพุทธปฏิบัติกันในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 4 วัน ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันอัฏฐมีบูชา การเวียนเทียนถือเป็นการแสดงออกถึงความเคารพต่อพระรัตนตรัยด้วยกาย วาจา และใจ
- การเตรียมตัวก่อนเวียนเทียน
- อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจให้เบิกบาน
- แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่
- เตรียมเครื่องบูชา ได้แก่ ดอกไม้ 1 คู่ ธูป 3 ดอก และเทียน 1 เล่ม
- ไหว้พระประธาน
- เมื่อไปถึงวัด ให้เข้าไปสักการะพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานหลักด้านในโบสถ์ก่อน แล้วค่อยออกมาตั้งแถวเตรียมตัวเวียนเทียน
- เวียนประทักษิณาวัตร
- จุดธูป เทียน นำมาถือไว้ในมือพร้อมดอกไม้ พนมมือขึ้น แล้วเดินวนรอบโบสถ์ไปทางด้านขวามือพร้อมสวดมนต์ เวียนเทียนจนครบ 3 รอบ
- ท่องบทสวดมนต์เวียนเทียน
- รอบที่ 1 ระลึกถึงพระพุทธคุณ สวดบทอิติปิโส
- รอบที่ 2 ระลึกถึงพระธรรมคุณ สวดบทสวากขาโต
- รอบที่ 3 ระลึกถึงพระสังฆคุณ สวดบทสุปะฏิปันโน
- วางดอกไม้ธูปเทียน
- หลังจากเวียนเทียนจนครบ 3 รอบ ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปปักบูชาตามจุดที่เตรียมไว้
เคล็ดลับการเวียนเทียน
- ตั้งใจระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยขณะเวียนเทียน
- แผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์
- อธิษฐานจิตขอพรให้ตนเองและครอบครัวมีความสุขความเจริญ
การเวียนเทียนมีความมุ่งหมายดังนี้
ที่ท่านกำหนดให้มีพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนาขึ้นนั้นก็เพื่อประกาศเกียรติคุณ เทิดทูนพระคุณสมบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้สมกับที่พระองค์เป็นพระศาสดาของเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพื่อเป็นการเตือนใจพุทธศาสนิกชนให้ซาบซึ้งในพระคุณสมบัติของพระองค์และพระรัตนตรัย เจริญภาวนามัยกุศลอีกส่วนหนึ่ง ดังปรากฏตามความในประกาศคณะสงฆ์ใจความว่า
"การเวียนเทียนที่เรียกว่าทำประทักษิณนั้น มีความมุ่งหมายให้แสดงความเคารพต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาของพุทธศาสนิกชนทั้งปวง ด้วยการเดินให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เบื้องขวาของตน และสำรวมใจนึกถึงพระคุณของพระองค์
วาจาบริกรรมคือกล่าวพระคุณของพระองค์ตลอดเวลาที่เวียนเทียน มือถือเครื่องสักการบูชา ถือธูปเทียนดอกไม้ประนมเสมออก เพื่อให้จิตใจของตนอยู่กับพระ ไม่ส่งใจไปสู่ที่อื่นซึ่งมิใช่สิ่งที่ตนเคารพบูชาหรือมิใช่สรณะที่พึ่งสูงสุดของตน การเวียนเทียนนี้เป็นการแสดงความเคารพบูชาตามหลักวัฒนธรรมของไทย เป็นระเบียบที่นิยมปฏิบัติกันมาแต่โบราณกาล"
การบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มุ่งหมายให้ทำในวันเวียนเทียนนั้นมี 2 อย่างคือ
- อามิสบูชา บูชาด้วยสิ่งของ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น
- ปฏิบัติบูชา บูชาด้วยการปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น เสียสละ ให้ทาน รักษาศีล เว้นจากการทำความชั่วทุจริต เว้นจากการเบียดเบียนกัน งดเว้นจากอบายมุขทางแห่งความวิบัติทั้งหลาย ไม่เสพสุรายาเมา ไม่เล่นการพนัน ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต งดเว้นจากการเที่ยวเตร่เฮฮา เว้นจากความฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย เป็นต้น เมื่อเว้นแล้วก็อบรมจิตใจ ให้สงบ ให้นิ่งด้วยการเจริญภาวนาทำสมาธิ(Meditation) หรือฟังธรรม อ่านหนังสือธรรม สนทนาธรรมเพื่อให้เกิดปัญญา เป็นต้น
ประโยชน์ที่ได้รับจากการเวียนเทียน
การได้บูชาพระรัตนตรัยด้วยการเวียนเทียนก็ดี ด้วยการปฏิบัติบูชาตลอดวันนั้นก็ดี ย่อมเกิดผลดีต่อผู้กระทำเอง คือ
- ได้ชื่อว่าเป็นศาสนิกที่ดี ปฏิบัติกิจทางศาสนาตามหน้าที่ที่พึงทำ แสดงถึงความไม่ย่อหย่อนทางจิตใจและศรัทธาต่อพระศาสนา
- ได้รับความแช่มชื่นเบิกบานใจหลังจากได้ประกอบพิธีในวันนั้นแล้ว
- ได้สั่งสมบุญบารมีอันเกิดจากการให้ทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา อันจะส่งผลให้ได้รับโภคสมบัติ รูปสมบัติ และปัญญาสมบัติสืบไป
- ได้ทำชีวิตตนให้มีค่ายิ่งขึ้นด้วยการงดเว้นจากอบายมุข มุ่งปฏิบัติธรรมความดีเพิ่มพูนยิ่งขึ้น
- ได้ชื่อว่าได้บูชาพระรัตนตรัยด้วยการบูชาอย่างยิ่งย่อมได้มงคลในชีวิตตลอดไป
ข้อเตือนใจในการเวียนเทียน
เพื่อให้พิธีกรรมนี้เกิดความเรียบร้อย เป็นแบบแผนที่ดีของอนุชน และเกิดผลดีแก่ผู้ปฏิบัติอย่างแท้จริง ในขณะที่เวียนเทียนจึงควรคำนึงถึงข้อต่อไปนี้
- ให้นึกอยู่เสมอว่าวันนี้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ เป็นวันสำคัญของศาสนา เป็นการแสดงความเคารพบูชาตามหลักวัฒนธรรมไทย จึงต้องปฏิบัติให้ถูกระเบียบแบบแผนอย่าแสดงกิริยาวาจาคะนองอันส่อถึงความไม่เคารพเช่นส่งเสียงอึกทึกโวยวาย โห่ร้อง เย้าแหย่หยอกล้อกันควรเดินด้วยอาการอันสงบ สำรวมมือเท้าและปากในขณะเดินเวียนเทียน
- ขณะเดินเวียนเทียนควรเว้นระยะให้ห่างกันพอควร อย่าให้ไฟธูปเทียนลวกลนผู้อยู่ใกล้ตน หรือทำเทียนหยดใส่หลังผู้เดินข้างหน้าตน เป็นการรบกวนผู้ที่ตั้งใจสำรวมจิตให้สงบด้วยการระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยอยู่ให้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ เป็นการตัดหรือขัดขวางการทำความดีของผู้อื่น
- ผู้ใหญ่ที่เป็นครูบาอาจารย์ บิดามารดา หรือผู้ปกครองควรแนะนำตักเตือนหรือควบคุมศิษย์ลูกหลานหรือคนในปกครองของตนให้ปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามระเบียบในการเวียนเทียน อย่าให้ประพฤติผิดระเบียบ อันเป็นการสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น และเป็นการทำลายวัฒนธรรมของชาติของศาสนาเป็นที่น่าละอายแก่คนต่างชาติต่างศาสนาอย่างมาก
- ผู้มีอำนาจและผู้ใหญ่ควรจะได้ทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ด้วยการไปร่วมประกอบพิธีกรรมนี้ด้วยตนเองพร้อมทั้งชักชวนให้ผู้น้อยไปร่วมด้วย จักเป็นการปลูกฝังนิสัยรักประเพณีวัฒนธรรมไทยแก่อนุชนไทยได้ดีกว่าการชักชวนให้ทำเพียงอย่างเดียว