ประวัติ และ ตำนาน เจ้าแม่กวนอิม

ประวัติ และ ตำนาน เจ้าแม่กวนอิม

ประวัติ และ ตำนาน เจ้าแม่กวนอิม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เจ้าแม่กวนอิม เป็นพระโพธิสัตว์ ของพระพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน เป็นองค์เดียวกันกับพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ในภาษาสันสกฤต ซึ่งมีต้นกำเนิดจากพระสูตรมหายานในอินเดีย และได้ผสมผสานกับความเชื่อพื้นถิ่นดั้งเดิมของจีน คือตำนานเรื่องพระธิดาเมี่ยวซ่าน ก่อให้เกิดเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิมในภาคสตรีขึ้น

เพื่อแสดงออกถึงความอ่อนโยน และแสดงถึงความเมตตากรุณาให้เด่นชัดยิ่งขึ้นดังเช่นความรักของมารดาที่มีต่อบุตร ซึ่งเป็นการผสมผสานกลมกลืนทางความเชื่อที่ปราศจากข้อขัดแย้ง เนื่องจากในสัทธรรมปุณฑรีกสูตรได้อธิบายว่า พระอวโลกิเตศวรนั้นสามารถแบ่งภาคเพื่อโปรดสรรพสัตว์ได้มากมายทั้งปางบุรุษและสตรี และเป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์มหายานที่เมื่อเข้าไปสู่ดินแดนอื่นทั้งทิเบต จีน หรือญี่ปุ่น ย่อมผสมผสานกลมกลืนได้กับเทพท้องถิ่นนั้น ๆ

 

ประวัติ และ ตำนาน เจ้าแม่กวนอิมประวัติ และ ตำนาน เจ้าแม่กวนอิม

 

ความหมายของพระนาม

คำว่า อวโลกิเตศวร ได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายนัยด้วยกัน แต่โดยรูปศัพท์แล้ว คำว่าอวโลกิเตศวรมาจากคำสันสกฤตสองคำคือ อวโลกิต กับ อิศวร แปลได้ว่าผู้เป็นใหญ่ที่เฝ้ามองจากเบื้องบน หรือ พระผู้ทัศนาดูโลก ซึ่งหมายถึงเฝ้าดูแลสรรพสัตว์ที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์นั่นเอง ซิมเมอร์ นักวิชาการชาวเยอรมันอธิบายว่า พระโพธิสัตว์องค์นี้ทรงเป็นสมันตมุข คือ ปรากฏพระพักตร์อยู่ทุกทิศอาจแลเห็นทั้งหมด ทรงเป็นผู้ที่สามารถบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ คืออาจจะเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อใดก็ได้ แต่ทรงยับยั้งไว้เนื่องจากความกรุณาสงสารต่อสรรพสัตว์

นอกจากนี้นักปราชญ์พุทธศาสนาบางท่านยังได้เสนอความเห็นว่า คำว่า อิศวร นั้น เป็นเสมือนตำแหน่งที่ติดมากับพระนามอวโลกิตะ จึงถือได้ว่าทรงเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์เดียวที่มีตำแหน่งระบุไว้ท้ายพระนาม ในขณะที่พระโพธิสัตว์พระองค์อื่นหามีไม่ อันแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญยิ่งของพระโพธิสัตว์พระองค์นี้

พุทธศาสนิกชนชาวจีนจะรู้จักพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ในพระนามว่า กวนซีอิม หรือ กวนอิม ซึ่งก็มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่าอวโลกิเตศวรในภาษาสันสกฤต คือผู้เพ่งสดับเสียงแห่งโลก แต่โดยทั่วไปแล้วมักให้อรรถาธิบายเป็นใจความว่าหมายถึง พระผู้สดับฟังเสียงคร่ำครวญของสัตว์โลก (ที่กำลังตกอยู่ในห้วงทุกข์) คำว่ากวนซีอิมนี้พระกุมารชีวะชาวเอเชียกลางผู้ไปเผยแผ่พระศาสนาในจีนเป็นผู้แปลขึ้น ต่อมาตัดออกเหลือเพียงกวนอิมเท่านั้น เนื่องจากคำว่าซีไปพ้องกับพระนามของ จักรพรรดิถังไท่จง หรือ หลีซีหมิง นั่นเอง

พระอวโลกิเตศวรในฐานะเป็นพระธยานิโพธิสัตว์

พุทธศาสนามหายานได้จำแนกพระโพธิสัตว์ออกเป็น 2 ประเภท อันได้แก่ พระมนุษิโพธิสัตว์ และ พระธยานิโพธิสัตว์

พระมนุษิโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ในสภาวะมนุษย์หรือเป็นสิ่งมีชีวิตในรูปแบบอื่น ๆ ที่กำลังบำเพ็ญสั่งสมบารมีอันยิ่งใหญ่เพื่อพระโพธิญาณอันประเสริฐ ถ้าตามมติของฝ่ายเถรวาทก็คือผู้ที่ยังเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารเพื่อบำเพ็ญ ทศบารมี ๑๐ ประการให้บริบูรณ์ เหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระผู้มีพระภาคได้ทรงกระทำมาในอดีต

โดยที่ทรงเสวยพระชาติเป็นทั้งมนุษย์และสัตว์จนได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระศากยมุนีพุทธเจ้า การบำเพ็ญบารมีดังกล่าวนี้เป็นความยากลำบากแสนสาหัส สำเร็จได้ด้วยโพธิจิต อีกทั้งวิริยะและความกรุณาอันหาที่เปรียบมิได้ ต้องอาศัยระยะเวลายาวนานนับด้วยกัปอสงไขย สิ้นภพสิ้นชาติสุดจะประมาณได้

พระธยานิโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ประเภทนี้มิใช่พระโพธิสัตว์ผู้กำลังบำเพ็ญบารมีเพื่อแสวงหาดวงปัญญาอันจะนำไปสู่ความรู้แจ้งเหมือนประเภทแรก แต่เป็นพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีบริบูรณ์ครบถ้วนแล้ว และสำเร็จเป็นพระธยานิโพธิสัตว์หรือพระโพธิสัตว์ในสมาธิโดยยับยั้งไว้ยังไม่เสด็จเข้าสู่พุทธภูมิ เพื่อจะโปรดสรรพสัตว์ต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด พระธยานิโพธิสัตว์นี้เป็นทิพยบุคคลที่มีลักษณะดังหนึ่งเทพยดา มีคุณชาติทางจิตเข้าสู่ภูมิธรรมขั้นสูงสุดและทรงไว้ซึ่งพระโพธิญาณอย่างมั่นคง

จึงมีสภาวะที่สูงกว่าพระโพธิสัตว์ทั่วไป พระธยานิโพธิสัตว์มักจะมีภูมิหลังที่ยาวนาน เป็นพระโพธิสัตว์เจ้าที่สำเร็จเป็นพระโพธิสัตว์มาเนิ่นนานนับแต่สมัยพระอดีตพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ สุดจะคณานับเป็นกาลเวลาได้ พระธยานิโพธิสัตว์ที่พุทธศาสนิกชนมหายานรู้จักดี อาทิ พระมัญชุศรี พระอวโลกิเตศวร พระมหาสถามปราปต์ พระสมันตภัทร พระกษิติครรภ์ เป็นต้น

 

>>>อ่านคำทำนายเซียมซีเจ้าแม่กวนอิม คลิก !!

 

ขอบคุณข้อมูลจากและภาพประกอบจาก www.guanimongyai.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook