ผีปอบ กับตำนานความเชื่อของไทย

ผีปอบ กับตำนานความเชื่อของไทย

ผีปอบ กับตำนานความเชื่อของไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผีปอบ หรือการเป็นผีปอบ มักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีวิชาทางไสยศาสตร์และมีมนต์ดำที่แก่กล้า สามารถใช้วิชาเหล่านั้นเพื่อไปทำร้ายผู้อื่นให้ถึงแก่ความตายได้ อาทิ การทำเสน่ห์ยาแฝด การเสกหนังควายเข้าท้อง การเสกตะปูเข้าท้อง หรือการใช้มนตราเพื่อบังคับภูติ ผี วิญญาณ ให้เข้าไปสิ่ง หรือกระทำในสิ่งที่ตนต้องการ เรื่องราวของผีปอบนั้นถูกเล่าขานกันมาเป็นเวลานาน และได้มีการถ่ายทอดเรื่องราวของผีปอบผ่านรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นละคร หรือภาพยนตร์ ซึ่งมีความแตกต่างกันไป แต่ในวันนี้เราจะพาไปรู้จักกับเรื่องราวความเป็นมาว่าผีปอบนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

พระพุทธเจ้าได้ทรงระบุว่า วิชาที่เป็นไสยเวทย์มนต์ดำเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเดียรฉานวิชา ทำให้ผู้ที่มีอาคมจะต้องมีข้อห้าม หรือข้อปฏิบัติกำกับอยู่ด้วยเสมอ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการละเมิดในข้อห้ามดังกล่าวโดยเด็ดขาด หากมีการละเมิด หรือกระทำผิดในข้อปฏิบัติ ชาวอีสานจะเรียกว่า “คะลำ” หรือ “ผิดครู” ซึ่งก่อให้เกิดโทษหนัก วิญญาณของบรมครูจะลงโทษคนที่ละเมิดข้อปฏิบัติโดยการสั่งให้ไปเป็นผีปอบ หรืออาจมองได้ในอีกแง่หนึ่ง ผู้ที่จะกลายเป็นผีปอบได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ใช้วิชาอาคมอย่างหนัก และใช้ไสยเวทย์ดังกล่าวไปทำร้ายผู้อื่นอย่างไม่เกรงกลัวต่อบาป ตลอดจนการกระทำกรรมชั่วเป็นอาจิณ จนกระทั่งอาถรรพ์ของไสยเวทย์ย้อนกลับเข้ามาทำร้ายตนเองจนกลายเป็นผีปอบไปในที่สุด

ตำนานผีปอบตำนานผีปอบ

ประเภทของผีปอบ

ผีปอบสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท โดยมีลักษณะทางกายภาพที่สามารถสังเกตเห็นได้ดังนี้

  • ผีปอบธรรมดา คือ คนที่มีร่างของผีปอบสิงสู่อยู่ เมื่อบุคคลเหล่านี้ได้ตายไป ผีปอบที่สิงอยู่ในร่างก็จะสลายตามไปด้วย
  • ผีปอบเชื้อ คือ หากในครอบครัวใดที่มีพ่อแม่เป็นผีปอบ เมื่อตายไป ลูกหลานจะต้องสืบทอดเชื้อสายการเป็นผีปอบต่อไปด้วย หรือในอีกแง่หนึ่งก็อาจเป็นการสืบต่อทางพันธุกรรมที่ไม่ว่าจะเต็มใจ หรือไม่เต็มใจก็ตาม ก็ต้องรับสืบทอดต่อกันไปไม่มีวันจบสิ้น
  • ผีปอบแลกหน้า คือ ผีปอบที่มีความเจ้าเล่ห์ มักชอบโยนความผิดไปให้ผู้อื่น กล่าวคือ เวลาที่ผีปอบประเภทนี้เข้าไปสิงใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อถูกถามว่ามีผู้ใดเลี้ยง ผีปอบประเภทนี้จะไม่ยอมบอกความจริง แต่จะไปพูดจาโทษคนนั้นคนนี้โดยผู้ที่ถูกกล่าวถึงไม่ทราบเรื่องอะไรเลย
  • ผีปอบกักกึก คือ ผีปอบที่ไม่ยอมพูดจนกว่าจะมีคนถาม หรือจนกว่าจะมีญาติพี่น้องตามหมอผีมาขับไล่ ผีปอบจึงจะยอมเปิดปากพูดความจริงว่าใครเลี้ยงดูผีปอบตนนี้ไว้ หรือมีใครใช้ให้มาเข้าสิง ซึ่งในภาษาอีสานนั้น คำว่า “กึก” แปลว่า ใบ้

ผีปอบผีปอบ

ลักษณะของผู้ที่ถูกผีปอบเข้าสิง

ชาวอีสานมักเรียกผู้ถูกผีปอบเข้าสิงว่า “ปอบเข้า” โดยจะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันไป บางคนอาจแสดงลักษณะอาการก้าวร้าย ดุร้าย บางคนอาจนอนซมคล้ายกับคนป่วยไข้หนัก แต่บางคนก็อาจจะร่ำไห้ รำพึงรำพันไปต่างๆ นาๆ ลักษณะอีกหนึ่งอย่างที่เราสามารถพบเห็นได้อยู่ทั่วไป คือ ผู้ที่ถูกผีปอบเข้าสิงมักจะเรียกหาอาหารที่สุกๆ ดิบๆ อาทิ ตับหมู ตับไก่ เวลาที่กินก็จะมูมมาม แสดงความตะกละออกมา และกินจุได้มากกว่าปกติ ซึ่งเมื่อญาติพี่น้องที่รู้ว่ามีคนที่ป่วยนั้นกำลังถูกผีปอบเข้าสิงก็มักจะไปตามหมอผีให้มาช่วยขับไล่

จุดกำเนิดของผีปอบตามความเชื่อ

ว่ากันว่าผีปอบที่คนโบราณ หรือคนในยุคปัจจุบันนี้พบกันนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นวิญญาณผีปอบที่เกิดจากคนที่เรียนวิชาปอบที่ตายไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ เมื่อตนมีชีวิตอยู่ยึดติด ยึดมั่นในวิชาอย่างไร พอตายจากโลกนี้ไปก็ยังเป็นเช่นนั้น เช่น ยังอยากกินเนื้อดิบๆ เครื่องในสดๆ ก็เลยหาวิธีเข้าสิงคนเพื่ออาศัยร่างเหล่านั้นในการหากินของดิบๆ สดๆ ต่อไป มีภาวะคล้ายๆ กับ “สัมภเวสี” หรือ “อสูรกาย” ซึ่งผีปอบเหล่านี้เมื่อแผ่ส่วนบุญไปให้ พูดคุยขับไล่ก็จะออกง่ายกว่าพวกที่เรียนวิชาแล้วกลายเป็นผีปอบ หรือจำพวกที่มีการสืบทอดแท้ๆ หากเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่มีวิชาอาคมมาก และมีจิตแข็ง พลังจิตสูงจะไล่ยาก อีกทั้งยังสามารถเอาชีวิตคนที่มีเวรกรรมเนื่องต่อกันได้ เรียกว่า “ผีปอบเจ้ากรรมนายเวร” โดยผีปอบประเภทนี้สามารถทำบุญแผ่ส่วนกุศลให้สามารถอโหสิกรรมได้

ได้รู้ประวัติความเป็นมาของการเป็น ผีปอบ กันแล้วเป็นยังไงกันบ้าง ? ถึงแม้ว่าในยุคสมัยนี้จะไม่ค่อยได้เห็นพิธีการไล่ผีปอบกันสักเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพิธีกรรมเหล่านี้จะหายไปจากสังคม สิ่งที่เราทำได้คือการใช้ชีวิตให้อยู่บนความสุจริต คิดดี ทำดี แล้วก็อย่าลืมหมั่นทำบุญทำทานกันด้วย เราจะได้อยู่รอดปลอดภัย ไม่สามารถมีภัยอันตรายใดใดมาทำลายเราได้

ทำไมปอบถึงต้องกินแต่ของคาว ของสดทำไมปอบถึงต้องกินแต่ของคาว ของสด

และอีกข้อสงสัยที่ว่า ทำไมปอบถึงต้องกินแต่ของคาว ของสด ตามตำนานของทางพระพุทธศาสนาเล่าว่า ผีปอบ คือ ผีสายยักษ์ อยู่ในสายการปกครอง ของท้าวเวสสุวัณ ที่เข้าสิงร่างมนุษย์ ก็เพื่ออาศัยร่างมนุษย์กินอาหาร โดยเฉพาะอาหารดิบๆ หรือ สัตว์เป็นๆ เช่น ไปหักคอเป็ด ไก่ ในเล้ากิน หรืออาศัยร่าง เหมือนเป็นร่างทรง

แต่ไม่ใช่ว่าจะเข้าสิงได้ทุกคน จะเข้าสิงร่างมนุษย์ที่มีวิบากกรรมทางนี้ คือ อดีตเคยนับถือผีเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกยามมีทุกข์ จนเป็นประเพณีธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา มีจิตผูกพันกับผี และกรรมทำปาณาติบาต ฆ่าสัตว์ เช่น ไหว้ผี บางทีก็ฆ่าสัตว์เล็ก เช่น เป็ด ไก่ บางทีก็ฆ่าสัตว์ใหญ่ เช่น วัว ควาย เป็นต้น

รวมคลิปเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีปอบ

สำหรับรายการคนอวดผี ในตอนผีปอบเข้าสิงนี้ เป็นเรื่องราวของพริตตี้สาวคนหนึ่ง เธอเดินทางไปเที่ยวยังผับแห่งหนึ่ง แต่จู่ก็มีวิญญาณเข้าสิงร่าง ฟ้อนรำเป็นท่าทางต่างๆ เพื่อนๆ ที่เห็นต่างตกใจกลัวว่าเกิดอะไรขึ้นกับเธอ หลังจากนั้นก็มีวิญญาณผีปอบ ผีเปรตเข้ามาสิงเธอ รวมถึงวิญญาณผีปอบที่จะตามเอาชีวิตของเธอ

จากตำนานผีปอบ สู่ภาพยนตร์ บ้านผีปอบ

จากเรื่องเล่าตำนานผีปอบที่ถูกเล่าขานกันมาอย่างยาวนานถึงความน่ากลัวปนสยอง และอาจจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยากไปเสียหน่อยในทางวิทยาศาสตร์ เราในฐานะที่เป็นเด็กยุคนี้ก็ไม่รู้ว่าผีปอบตัวเป็นๆ จะมีความน่ากลัวอย่างไร คงจะมีแต่รุ่นพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายายของเราเท่านั้นที่เคยได้สัมผัสถึงเรื่องราวเร้นลับดังที่กล่าวมา จากเรื่องเล่าที่ถูกเล่าต่อกันมาเรื่อยๆ นำไปสู่การสร้างเป็นภาพยนตร์บนจอเงิน ที่อาจจะลดทอนความน่ากลัวจากตำนานไปอยู่มาก จนกลายมาเป็นความตลกที่สร้างภาพจำและทำให้พวกเรานึกถึงนักแสดงที่เข้ามารับบท ปอบหยิบ อย่าง ณัฐนี สิทธิสมาน จากภาพยนตร์เรื่อง บ้านผีปอบ ได้อย่างติดตา

บ้านผีปอบ เป็นภายนตร์ไทยในแบบผีๆ ที่ผสมความมีอารมร์ขันเข้าไปตลอดทั้งเรื่อง ได้รับความนิยมจนนำมาสร้างภาคต่อถึง 14 ภาค ตั้งแต่ปี 2532 - 2554 โดยตัวละครหลักก็ได้ยกเอาตัวละคร ผีปอบ (ปอบหยิบ) มาจากนวนิยายของ เหม เวชรกร เนื่องด้วยภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อดำเนินการสร้างและจัดฉายภาคแรกก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำให้มีการสร้างภาคต่อๆ มา จนภาพยนตร์เรื่อง บ้านผีปอบ ได้กลายเป็นภาพยนตร์สยองขวัญผสมเบาสมอง โดยเน้นไปที่ความตลกและการดำเนินเรื่องที่สนุกสนานเสียมากกว่า ซึ่งนั้นเองทำให้ ปอบหยิบ โด่งดังและเป็นที่รู้จัก มีภาพจำเป็นวิธีการหนีผีที่แปลกๆ อาทิ วิ่งหนีลงตุ้ม วิ่งขึ้นต้นไม้ เหาะข้ามคลอง หรือแม้กระทั่งตัวละครอื่นๆ ก็มีการแกล้งผีปอบกลับต่างๆ นาๆ อย่าง การทาสีเป็นประตูลวง ในขณะเดียวกันที่ตัวผีปอบเองก็มีวิธีวิ่งไล่จับคนแปลกๆ เช่นกัน อาทิ ขี่บั้งไฟ ขี่มอเตอร์ไซค์ ใช้พัดสันกำแพง ตั้งแต่บัดนั้น ณัฐนี สิทธิสมาน ผู้ที่รับบทผีปอบก็ได้รับฉายานามว่า เจ้าแม่ผีปอบ และกลายเป็นสัญลักษณ์ของภาพยนตร์ซีรี่ส์นี้ต่อมา

อย่างไรก็ตามผีปอบ ก็ยังคงเป็นความเชื่อของโบราณโดยเฉพาะทางภาคอีสานของไทยเราที่ยังคงมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าผีปอบมีอยู่จริงหรือไม่อย่างไร! 

ข้อมูลเพิ่มเติม Tumnandd.com, Wikipedia

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook