ข้อพึงปฏิบัติสำหรับชาวพุทธใน "วันอาสาฬหบูชา"
ในวันสำคัญของพระพุทธศาสนาชาวพุทธอย่างเราก็ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเด็กถึงเรื่องการเข้าวัด ทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม เพราะนั่นคือสิ่งที่ช่วยให้เรามีสติ กล่อมเกลาจิตใจของเราได้เป็นอย่างดี
และยิ่งเป็นวันสำคัญอย่าง "วันอาสาฬหบูชา" กิจกรรมอะไรบ้างที่เราเหล่าพุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติกัน Sanook Horoscope มีคำแนะนำดีๆ มาฝากกันค่ะ
ก่อนที่เราจะไปรู้ว่าเราควรปฏิบัติตัวอย่างไรในวันวันอาสาฬหบูชาทราบกันหรือไม่ว่า วันนี้มีความสำคัญอย่างไร
อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" ในวันอาสาฬหบูชาจะตรงกับ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เป็นวันที่เกิดปรากฎการณ์ยิ่งใหญ่ของศาสนาพุทธ คือ พระพุทธเจ้าแสดงธรรมเทศนา"ธรรมจักกัปวัตนสูตร" เป็นครั้งแรก แล้วทำให้ "พระโกณฑัญญะ" หนึ่งใน 5 ปัญจวัคคีย์ ได้เลื่อมใสในพระธรรมเทศนาจึงขอบวชและได้เป็นพระสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้านั่นเอง
เมื่อทราบกันแล้วว่าประวัติความเป็นมาของวันอาสาฬหบูชานั้นเป็นอย่างไร เรามารู้เรื่องราวกันต่อว่าสิ่งที่เราควรปฏิบัติในวันสำคัญนี้มีอะไรบ้าง
- ตักบาตร ในช่วงเช้า ซึ่งบางคนก็มักจะทำกันอยู่แล้วในทุกๆวันพระ แต่สำหรับวันพระที่เป็นวันสำคัญแบบนี้ก็อาจจะมีการจัดงานตักบาตราที่ใหญ่ขึ้นตามวัดและสถานที่ต่างๆ ที่เตรียมจัดเอาไว้ให้ ใครสะดวกที่ไหนก็สามารถไปร่วมงานได้ตามสถานที่นั้นได้เลย
- ทำบุญ บำเพ็ญกุศล ตลอดทั้งวัน สืบเนื่องจากการตักบาตร ก็จะมีการทำบุญในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการถวายสังฆทาน ปล่อยนก ปล่อยปลา เพื่อเป็นการไถ่บาป หรือบางคนก็อาจจะ ถือศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ขัดเกลาจิตใจ เพื่อความสุขทางกายและใจ
- เวียนเทียน ในตอนค่ำกิจกรรมสิ่งหนึ่งที่เป็นสิ่งชาวพุทธพึ่งกระทำกันในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาก็คือ "การเวียนเทียน" ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีจัดกันเกือบทุกวัด
โดยจุดประสงค์ของการเวียนเทียนนั้น มีใจความสำคัญดังนี้
"การเวียนเทียนที่เรียกว่าทำประทักษิณนั้น มีความมุ่งหมายให้แสดงความเคารพต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาของพุทธศาสนิกชนทั้งปวง ด้วยการเดินให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เบื้องขวาของตน และสำรวมใจนึกถึงพระคุณของพระองค์
วาจาบริกรรมคือกล่าวพระคุณของพระองค์ตลอดเวลาที่เวียนเทียน มือถือเครื่องสักการบูชา ถือธูปเทียนดอกไม้ประนมมือไว้ที่อก เพื่อให้จิตใจของตนอยู่กับพระ ไม่ส่งใจไปสู่ที่อื่นซึ่งมิใช่สิ่งที่ตนเคารพบูชาหรือมิใช่สรณะที่พึ่งสูงสุดของตน การเวียนเทียนนี้เป็นการแสดงความเคารพบูชาตามหลักวัฒนธรรมของไทย เป็นระเบียบที่นิยมปฏิบัติกันมาแต่โบราณกาล"
ประโยชน์ที่ได้รับจากการเวียนเทียน การได้บูชาพระรัตนตรัยด้วยการเวียนเทียนก็ดี ด้วยการปฏิบัติบูชาตลอดวันนั้นก็ดี ย่อมเกิดผลดีต่อผู้กระทำเอง คือ
"ได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ปฏิบัติกิจทางศาสนาตามหน้าที่ที่พึงทำ ได้รับความแช่มชื่นเบิกบาน ได้สั่งสมบุญบารมีอันเกิดจากการให้ทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา ได้ทำชีวิตตนให้มีค่ายิ่งขึ้นด้วยการงดเว้นจากอบายมุข มุ่งปฏิบัติธรรมความดีเพิ่มพูนยิ่งขึ้น ได้ชื่อว่าได้บูชาพระรัตนตรัยด้วยการบูชาอย่างยิ่งย่อมได้มงคลในชีวิตตลอด"
แต่ถึงอย่างไรก็ดี เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การเวียนเทียนจึงกลายเป็นสิ่งที่เริ่มจะเป็นเหมือนกิจกรรมทางโลก ที่ไม่ได้ทำให้จิตใจได้สงบอย่างแท้จริง เพราะมีบางครั้งที่หลายคนมักจะปฏิบัติตนไม่สำรวมหรือไม่ถูกต้องในการร่วมกิจกรรมเวียนเทียน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสียงดัง การเดินอย่างไม่มีสติ
ทำให้เทียนหรือธูปนั้นไปโดนคนข้างๆ เกิดเป็นอารมณ์ฉุนเฉียวหรือผิดใจกัน แล้วสุดท้ายก็ทำให้จิตใจหม่นหมอง บุญที่ทำร่วมกันมาตั้งแต่เช้า ตักบาตร ทำบุญ ฟังเทศน์ ก็คงไม่มีประโยชน์ใดๆเลย หากแต่ไม่สามารถควบคุมสติตัวเองเอาไว้ได้
ดังนั้นเพื่อเป็นการคงไว้ซึ่งสิ่งดีๆ ที่อยู่คู่กับพระพุทธศาสนาเรา ก็ควรปฏิบัติตามกันอย่างเคร่งครัดเพื่อจะได้อิ่มบุญสุขใจกันถ้วนหน้าค่ะ