บทสวดโพชฌงคปริตร การสวดมนต์ขจัดโรคร้าย

บทสวดโพชฌงคปริตร การสวดมนต์ขจัดโรคร้าย

บทสวดโพชฌงคปริตร การสวดมนต์ขจัดโรคร้าย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การสวดมนต์ขจัดโรคร้ายทำอย่างไร โดย ธ.ธรรมรักษ์

ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นอย่างหนึ่งว่า เมื่อครั้งที่ตัวเราเองหรือคนใกล้ชิดเกิดอาการเจ็บป่วยมากๆ มักจะมีการสวดมนต์และอธิษฐานจิตการสวดมนต์ขจัดโรคร้ายทำอย่างไรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะเชื่อว่าการสวดมนต์และการอธิษฐานนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดกำลังใจ และบางรายก็มีความเชื่อมั่นว่าจะทำให้หายป่วยได้ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ก็ไม่ผิดแต่เราต้องทำความเข้าใจข้อเท็จจริงให้ถ่องแท้

ความเจ็บป่วยนั้นถือว่าเป็นเครื่องที่กระตุ้นให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ถ้าป่วยเป็นก็เห็นธรรมได้ เราต้องพิจารณาตามความจริงข้อนี้อยู่เสมอ จะได้ไม่ต้องเชื่ออะไรอย่างงมงายไร้เหตุผล

บทสวดมนต์ แท้ที่จริงแล้วก็คือบทที่ใช้สวดเพื่อระลึกถึง เช่น บทสวดบูชาพระรัตนตรัย ใช้สวดเพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ การสวดมนต์เป็นการทำจิตให้แน่วแน่แล้วจึงได้เจริญภาวนา

การสวดมนต์หรือคาถาใดๆ นั้น ยังผลประโยชน์คือ ช่วยทำจิตใจให้เบิกบาน ที่ว่าป้องกันภัย หมายความว่า “ผู้ที่มีศีลดีแล้ว” แล้วเมื่อเจอปัญหาต่างๆ เวลาได้สวดมนต์หรือพระคาถาเพื่อให้จิตสงบ แล้วเจริญภาวนาจะทำให้ผู้ที่สวดนั้นได้รับความอนุเคราะห์ช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหตุนี้จึงเป็นที่มาของการสวดมนต์หรือพระคาถาป้องกันภัย ผู้ที่ทุศีลหรือไม่รักษาศีลสวดไปก็อาจจะไม่เป็นผล

การสวดมนต์คาถานั้น ที่เราได้ยินได้ฟังกันมาตั้งแต่เด็กจะนิยมสวดเป็น ภาษาบาลี ซึ่งหากแปลความหมายออกมาก็จะพบว่า ส่วนใหญ่แล้วเป็นคำสวดบูชาเพื่อรำลึกถึงพระคุณของ พระรัตนตรัย อันได้แก่พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ แทบทั้งสิ้น

ในพระพุทธศาสนา เน้นเรื่องการใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล คำว่า มนต์ หมายถึง “หลักธรรม บทสอนใจ” มากกว่า ถ้อยคำที่ขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าจะตีความไปถึงถ้อยคำที่ขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ให้ได้จริง ๆ ก็จะต้องอธิบายว่าขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ได้ “เมื่อนำไปสอนใจ นำไปเป็นข้อปฏิบัติ” ให้เกิดผลที่ปรารถนาได้อย่างน่าอัศจรรย์ นอกจากนั้นการทำจิตให้สงบในบทสวดก็มีคุณค่าเป็นอย่างมาก

การสวดมนต์จึงกลายเป็นอุบาย กลวิธี ที่จะทำให้จิตมีสมาธิในระดับหนึ่ง จดจ่ออยู่ที่ใดที่หนึ่งที่เดียวเมื่อใจสงบอาการของกายก็จะสงบระงับตามไปด้วยเข้าทำนอง “กายป่วยแต่ใจไม่ป่วย” ซึ่งบทสวดมนต์ทางพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงเรื่องความศักดิ์สิทธิ์และทรงพลานุภาพเกี่ยวกับเรื่องความเจ็บป่วยก็คือ บทสวดโพชฌงคปริตร

  

บทสวดโพชฌงคปริตรคืออะไร ศักดิ์สิทธิ์อย่างไร

บทสวดนี้เป็นบทสวดสำคัญที่พระสงฆ์นิยมนำมาสวดในงานทำบุญคล้ายวันเกิด หรือสวดเพื่อสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยให้มีพลังจิตในการสร้างสติขึ้นซึ่งบทนี้จะเกิดอานุภาพมากหากประกอบกับการบำเพ็ญจิตเจริญภาวนาควบคู่ไปด้วย

การที่เชื่อกันว่าบทสวดมนต์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์ก็เพราะ มีเรื่องในพระไตรปิฎกเล่าว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปเยี่ยมพระมหากัสสปะที่อาพาธอยู่ได้รับความทุกข์ทรมานมาก พระองค์จึงทรงแสดงบทสวดโพชฌงค์แก่พระมหากัสสปะให้ท่านได้ฟังและน้อมจิตปฏิบัติตาม

หลังจากฟังบทสวดและท่านพระมหากัสสปะได้พิจารณาธรรมตามก็พบว่า ท่านสามารถหายจากโรคได้ และอีกครั้งหนึ่งพระองค์ได้ทรงแสดงธรรมบทนี้แก่พระโมคคัลลานะซึ่งอาพาธอยู่ในลักษณะเดียวกัน หลังจากนั้นก็พบว่า พระโมคคัลลานะก็หายจากอาพาธได้

และเรื่องราวที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เองทรงอาพาธ จึงตรัสให้พระจุนทะเถระแสดงโพชฌงค์ถวาย ซึ่งพบว่าพระพุทธเจ้าก็หายประชวร พุทธศาสนิกชนจึงพากันเชื่อว่า โพชฌงค์นั้น สวดแล้วช่วยให้หายโรค

แต่ในความเป็นจริง พระไตรปิฎกกล่าวว่า โพชฌงคปริตรนั้นเป็น หลักธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นธรรมเกี่ยวกับปัญญาเป็นธรรมชั้นสูง เป็นคำสอนในการทำใจให้สว่าง สะอาดผ่องใส ซึ่งสามารถช่วยรักษาใจ เพราะจิตใจมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับร่างกาย เนื่องจากกายกับใจเป็นสิ่งที่อาศัยกันและกัน หากใจดี ร่างกายย่อมดีตาม

หลักของโพชฌงค์เป็นหลักปฏิบัติทั่วไปซึ่งไม่จำกัดเฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น เพราะโพชฌงค์แปลว่า “องค์แห่งโพธิ” หรือ “องค์แห่งโพธิญาณ” เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญา ดังนั้นถ้าเราสวดมนต์บทนี้ด้วยความเข้าใจในสาระก็จะมองเห็นความเจ็บป่วยว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรของชีวิต เป็นเรื่องธรรมดา แล้วก็จะเป็นการกระตุ้นเตือนให้ลุกขึ้นมาปฏิบัติธรรม คือมองว่า เวลาที่ป่วยอยู่นี้แหละคือเวลาที่ดีที่จะได้พักผ่อนจิต ได้ปฏิบัติธรรม

 

บทสวดโพชฌงคปริตร

โพชฌังโคสะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา วิริยัมปีติปัสสัทธิ โพชฌังคา จะตะถาปะเร สะมาธุเปกขะโพชฌังคา สัตเต เต สัพพะทัสสินา มุนินา สัมมะทักขาตา ภาวิตา พะหุลีกะตา

สังวัตตันติ อะภิญญายะ นิพพานายะ จะ โพธิยา เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทาฯเอกัสะมิง สะมะเย นาโถ โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง คิลาเน ทุกขิเต ทิสะวา โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ เต จะ ตัง อะภินันทิตะวาโรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทาฯ เอกะทา ธัมมะราชาปิ เคลัญเญนาภิปีฬิโต จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ ภะณาเปตะวานะ สาทะรัง สัมโมทิตะวา จะ อาพาธา ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส เอเตนะ สัจจะวัชเชนะโสตถิ เต โหตุ สัพพะทาฯ

ปะหีนา เต จะ อาพาธา ติณณันนัมปิ มะเหสินัง มัคคาหะตะกิเลสาวะ ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะโสตถิ เต โหตุ สัพพะทาฯ

 

คำแปล

โพชฌงค์ 7 ประการ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ วิริยะสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ 7 ประการเหล่านี้ เป็นธรรมอันพระมุนีเจ้า ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงตรัสไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน

ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ ในสมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้า ทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะเป็นไข้ ได้รับความลำบาก จึงทรงแสดงโพชฌงค์ 7 ประการ ให้ท่านทั้งสองฟัง ท่านทั้งสองนั้น ชื่นชมยินดียิ่ง ซึ่งโพชฌงคธรรม โรคก็หายได้ในบัดดล

ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ ในครั้งหนึ่ง องค์พระธรรมราชาเอง (พระพุทธเจ้า) ทรงประชวรเป็นไข้หนัก รับสั่งให้พระจุนทะเถระ กล่าวโพชฌงค์นั้นนั่นแลถวายโดยเคารพ ก็ทรงบันเทิงพระหฤทัย หายจากพระประชวรนั้นได้โดยพลัน

ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ ก็อาพาธทั้งหลายนั้น ของพระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง ๓ องค์นั้น หายแล้วไม่กลับเป็นอีก ดุจดังกิเลส ถูกอริยมรรคกำจัดเสียแล้ว ถึงซึ่งความไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ

ผู้ที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมโพชฌงค์ก็จะเข้าใจความธรรมดาของชีวิต ว่าเป็นของไม่เที่ยง มีการแตกดับไปเป็นของธรรมดา เมื่อเข้าใจก็จะเห็นความแตกดับเป็นเรื่องที่ปกติ สิ่งใดเกิดมาสิ่งนั้นย่อมดับไป ก็จะทำให้มุ่งรักษาใจไม่ให้ป่วยนี่แหละคือความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงของโพชฌงคปริตร

 

การสวดขอขมากรรม

การสวดมนต์เพื่อการขอขมากรรมนั้น ถือเป็นหนึ่งบทสวดหนึ่งที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงความสำนึกผิด ยอมรับผิดและต้องการขอขมาลาโทษจากเจ้ากรรมนายเวร ให้เขาอดโทษ ผ่อนปรนโทษ หรืออโหสิกรรมให้เพราะเราได้ไปล่วงเกินเขามาก่อน เมื่อได้ทำบุญใดๆ แล้วก็มักจะมีการสวดมนต์บทนี้เป็นการกล่าวขอขมาในการกระทำ

การสวดขอขมากรรมมีผลในทางจิตใจมาก ทำให้รู้สึกโปร่งเบาทั้งกายและจิต เหมือนได้ปลดแอกความผิด เพราะได้ขอโทษแล้ว แต่เรื่องที่เจ้ากรรมนายเวรจะให้อภัยหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับบุญกุศลของแต่ละบุคคลได้ทำส่งให้เขามากน้อยแค่ไหน หากทำมากส่งให้มากเจ้ากรรมนายเวรย่อมอโหสิกรรมให้ได้เร็วยิ่งขึ้น

 

บทสวดขอขมากรรม

“หากข้าพเจ้า จงใจหรือประมาทพลาดพลั้งล่วงเกิน บิดา-มารดา ครูบาอาจารย์ พระพุทธ พระธรรม พระอรหันต์ทุกพระองค์ พระอริยสงฆ์เจ้า ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย รวมถึงผู้มีพระคุณ และท่านเจ้ากรรมนายเวร จะด้วย กาย วาจา ใจ ก็ดี ขอได้โปรดอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้าด้วย

 หาก ข้าพเจ้ามีเจ้าของในตัวติดตามมาขออนุญาตมีคู่มีครอบครัว ได้เหมือนคนปกติทั่วไป ขอถอนคำอธิษฐานคำสาบานที่จะติดตามคู่ในอดีต ขอให้ต่างฝ่ายต่างเป็นอิสระต่อกัน ข้าพเจ้าจะประพฤติตนในทางที่ถูกที่ชอบที่ควร

ขอบุญบารมีในอดีตกาลที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จงส่งผลให้ข้าพเจ้าและครอบครัวตลอดจนบริวารที่เกี่ยวข้อง จงเจริญด้วย อายุวรรณะ สุขะ พละ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ สติปัญญา ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ อุปสรรคใดๆโรคภัยใดๆ ขอให้มลายสิ้นไป ขอให้ข้าพเจ้ามีความสว่าง ทั้งทางโลก ทางธรรม ตั้งแต่บัดนี้ตราบเข้าสู่พระนิพพาน เทอญ

หากมีผู้ใดเคย สร้างเวรสร้างกรรมกับข้าพเจ้า ไม่ว่าจะชาติใดภพใดก็ตาม ข้าพเจ้ายินดีอโหสิกรรมให้ ขอถอนความพยาบาท ความอาฆาตและคำสาปแช่งในทุกชาติทุกภพ ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากคำสาปแช่งของปวงชนของเจ้ากรรมนายเวร ขอให้พ้นนรกภูมิ พบแสงสว่างทั้งทางโลก ทางธรรม เทอญ…”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook