หยก กับความเชื่อของชาวจีน

หยก กับความเชื่อของชาวจีน

หยก กับความเชื่อของชาวจีน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


หยก หรือ ยู่ ในภาษาจีนกลาง หรือ เง็ก ในภาษาจีนแต้จิ๋ว คือ อัญมณีที่ชาวจีนยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณธรรม 5 ประการ คือ ใจบุญ สมถะ กล้าหาญ ยุติธรรม และมีสติปัญญา ชาวจีนมีความผูกพันกับหยกตั้งแต่เกิดจนตายก็ว่าได้ เพราะชาวจีนเชื่อว่าหยกเป็นอัญมณีศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาซึ่งสิริมงคล ความเจริญรุ่งเรือง ความร่ำรวย ความมีโชคแก่ผู้ครอบครองและทำให้อายุยืนด้วยดังนั้น

ชาวจีนในสมัยก่อนไม่ว่าจะเป็นชนชั้นใดจึงนิยมใช้หยกเป็นเครื่องประดับและ เครื่องใช้ต่าง เช่น พระจักรพรรดิใช้หยกเป็นตราพระราชลัญจกร พระธำมรงค์ พระคทา หรือพระที่นั่ง ชาวจีนทั่วไปมักจะให้ลูกหลานของตนพกหยกติดตัวไว้เสมอ ถ้าเป็นเด็กหญิงจะสวมกำไลหยก แต่ถ้าเป็นเด็กชายก็จะพกเครื่องใช้ที่ทำด้วยหยกหรือจี้พระหยก เมื่อเสียชีวิตหยกก็จะถูกฝังลงไปพร้อมกับศพ

หยก กับความเชื่อของชาวจีน



การที่ชาวจีนฝังหยกลงไปด้วยกันกับศพนี้ เนื่องจากเชื่อกันว่าหยกสามารถรักษาศพไม่ให้เน่าเปื่อยได้ ดังที่มีการขุดพบฉลองพระองค์หยกของพระจักรพรรดิในราชวงศ์ฮั่นตะวันตกเมื่อ 2,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันความเชื่อนี้ ส่วนประเพณีทำศพนั้น ชาวจีนมักจะนำหยกที่แกะสลักเป็นรูปกลมแบนมีรูตรงกลางซึ่งแทนสัญลักษณ์ของ สวรรค์ที่เรียกว่า "ปิ" (Pi) มาวางไว้ด้านหลังศพ ส่วนบนท้องศพจะวางหยกรูปสี่เหลี่ยมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโลก เรียกว่า "จุง" (Tsung) เพื่อให้สวรรค์หนุนหลัง

หยกสีเขียว คือ สีที่ผู้คนนิยมสวมใส่มากที่สุด แต่นอกจากสีเขียวแล้วหยกยังมีสีสันอื่น ๆ อีก เช่น แดง ม่วง เหลือง น้ำตาล สีของหยกที่แตกต่างกันเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของสิริมงคลที่แตกต่างกันไป

เช่น หยกสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ร่ำรวย หยกสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความมีโชค หยกสีม่วงเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตที่มีความสุขสมบูรณ์พร้อม หยกสีอ่อน ๆ เนื้อแก้วเป็นสัญลักษณ์ของจิตใจที่สงบสุข ส่วนลักษณะที่แข็งและหนาแน่นของหยกเปรียบเหมือนความฉลาดและความกล้าหาญ ความลื่นเป็นมันของผิวหยก คือ ความยุติ - ธรรม และการให้ความรู้สึกที่นุ่มนวลเป็นเครื่องหมายของความกตัญญู
นอกจากนี้ ชาวจีนยังเชื่อกันอีกว่าหยกมีอำนาจคุ้มครองผู้สวมใส่ให้พ้นจากสิ่งชั่วร้าย เป็นเครื่องรางบอกเหตุได้ว่าผู้สวมใส่กำลังมีโชคหรือมีเคราะห์อย่างไร สังเกตได้จากสีของหยก หากหยกมีสีสันสดใส นั่นก็หมายความว่า เจ้าของหยกกำลังจะมีโชค แต่ถ้าหากหยกมีสีหมองลงหรือมองเห็นรอยแตกร้าวชัดขึ้นก็แปลว่า เจ้าของหยกกำลังจะมีเคราะห์มาเยือน หยกที่ชาวจีนใช้เป็นเครื่องรางมักจะแกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น ปลา เต่า จิ้งหรีด หน้าเสือ

ทางด้านการรักษาโรค ชาวจีนเชื่อกันว่าหากกินหยกบดละเอียดจะช่วยรักษาโรคไต โรคเจ็บสีข้าง โรคโลหิตจาง โรคหอบหืด ชาวจีนศรัทธาและยกย่องอัญมณีสีเขียวล้ำค่านี้มากจนนำคำว่า

"หยก" มาใช้เป็นคำแสดงลักษณะอาการที่ประณีต งดงาม และมีความหมายในทางที่ดีงามอีกด้วย เช่น

"ยู่หนู่" แปลตามตัวว่า ผู้ที่ทำด้วยหยก แต่ความหมายที่แท้จริง คือผู้หญิงสวย

"ยู่เมี่ยน" แปลว่าหน้าหยก แต่ความหมายที่แท้จริง คือใบหน้าอันงดงาม "ยู่ถี่"แปลว่า ร่างที่ทำด้วยหยก แต่ความหมายที่แท้จริง คือร่างอันมีค่าของคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง
ทุกวันนี้ชาวจีนส่วนใหญ่ยังคงใช้หยกเป็นเครื่องประดับอยู่ แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมานาน แต่ความเชื่อความศรัทธาในคุณค่าของอัญมณีชิ้นหนึ่งสามารถถ่ายถอดมาสู่ผู้คน รุ่นหลังได้โดยไม่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่น่าเชื่อ เรียกได้ว่า หยก คือ อัญมณีคู่ชีวิตของชาวจีนจริง ๆ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.sgs.ac.th ขอบคุณข้อมูลจาก Photos.com

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ หยก กับความเชื่อของชาวจีน

หยก กับความเชื่อของชาวจีน
หยก กับความเชื่อของชาวจีน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook