ไหว้พระ 9 วัดรอบอยุธยาเมืองเก่า งดงามและเรียนรู้ประวัติศาสตร์

ไหว้พระ 9 วัดรอบอยุธยาเมืองเก่า งดงามและเรียนรู้ประวัติศาสตร์

ไหว้พระ 9 วัดรอบอยุธยาเมืองเก่า งดงามและเรียนรู้ประวัติศาสตร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากวันอาทิตย์เป็นวันสำหรับครอบครัว ลองพาพ่อแม่และลูกหลานมาเดินเที่ยว หาของกินอร่อยๆ และมาสักการบูชา ไหว้พระ 9 วัดรอบเมืองอยุธยากันดีกว่าค่ะ เพราะอยุธยาวัดเยอะ และอยู่ติดๆ กัน เดินทางไม่นานก็เยี่ยมชมได้ครบ 9 วัดแล้ว นอกจากได้บุญได้กุศลแล้ว ยังได้เรียนรู้และศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา ยุครุ่งเรืองของประเทศกันด้วยค่ะ

1. วัดใหญ่ชัยมงคล


เดิมชื่อ "วัดป่าแก้ว" หรือ "วัดเจ้าไท" ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะพระนคร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1900 เป็นที่พำนักของพระภิกษุคณะป่าแก้ว จุดเด่นของวัดได้แก่เจดีย์องค์ใหญ่ที่เชื่อกันว่า ได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ด้วยคำแนะนำของสมเด็จพระวันรัตน์ ผู้เป็นพระเถระที่สมเด็จพระนเรศวรทรงให้ความเคารพ ให้สร้างเจดีย์ขึ้นมาแทนการประหารชีวิตบรรดาแม่ทัพนายกองที่ตามทัพไปทำยุทธหัตถีไม่ทัน แล้วปล่อยให้พระองค์ทรงกระทำยุทธหัตถีแต่เพียงผู้เดียว เจดีย์นี้มีความสูง 1 เส้น 1 วา เป็นเจดีย์ ที่สูงที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาจนทุกวันนี้

2. วัดพนัญเชิงวรวิหาร


วัดพนัญเชิง เป็นวัดที่มีประวัติอันยาวนาน ก่อสร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร แบบมหานิกาย มีจุดเด่นสำคัญ คือ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อซำปอกง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา

3. วัดพระศรีสรรเพชญ์


วัดพระศรีสรรเพชญ์ หรือ วัดพระศรีสรรเพชญ เป็นวัดหลวงในพระราชวังโบราณ อยุธยา เดิมในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ใช้เป็นที่ประทับ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่ทางตอนเหนือ แล้วจึงโปรดฯให้ยกเป็นเขตพุทธาวาส เพื่อประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมือง จึงไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ซึ่งเป็นต้นแบบของ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร

4. วัดหน้าพระเมรุ


วัดหน้าพระเมรุ มีชื่อเดิมว่า "วัดพระเมรุราชการาม" เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าทำลาย และยังคงสภาพที่ดีมาก เพราะพม่าได้ไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่วัดนี้ พระอุโบสถและพระพุทธรูปประธานทรงเครื่องใหญ่ ซึ่งคงสร้างขึ้นราวรัชกาลของพระเจ้าปราสาททอง หน้าบันของพระอุโบสถเป็นไม้แกะสลักปิดทองที่แสดงรูปพระนารายณ์ทรงครุฑแวดล้อมด้วยเหล่าเทวดา คติดังกล่าวเป็นที่นิยมในสมัยโบราณที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ คือเป็นพระนารายณ์อวตาร ดังนั้น หน้าบันของโบสถ์ วิหาร หรือปราสาทราชวังที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือทรงบูรณะก็มักจะทำรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเป็นสำคัญ อันมีความหมายว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดหลวง

5. วัดมหาธาตุ


วัดมหาธาตุ เป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมธาตุใจกลางพระนคร และยังเป็นที่พำนักของสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายคามวาสีอีกด้วย วัดแห่งนี้จึงได้รับการก่อสร้างและดูแลตลอดเวลาจวบจนถูกทำลายลงหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระปรางค์เคยพังลงมาเกือบครึ่งองค์ถึงชั้นครุฑ และยังมิได้ซ่อมแซมให้คืนดีดังเดิม ต่อมาสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงบูรณะใหม่ รวมเป็นความสูง 25 วา แต่ก็ได้พังทลายลงมาอีกรอบในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 และต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำกำลังทหารไปช่วยกันสร้างยอดพระปรางค์ด้วยไม้สักชั้นเยี่ยมและได้สถาปนาให้เป็นพระปรางค์ประจำชาตินับจากนั้น

6. วัดภูเขาทอง


วัดภูเขาทอง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร เมื่อปี พ.ศ. 1930 มีเจดีย์ใหญ่ที่ชื่อว่า เจดีย์ภูเขาทอง เมื่อปี พ.ศ. 2112 พระเจ้าบุเรงนอง แห่งเมืองหงสาวดี ได้ยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ จึงได้สร้างพระเจดีย์ใหญ่แบบมอญขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์ที่วัดนี้ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ได้ทำการปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ใหม่ เปลี่ยนรูปจากเจดีย์มอญเป็นรูปเจดีย์ย่อไม้สิบสองที่กำลังนิยมอยู่ในขณะนั้น ส่วนฐานนั้นเป็นศิลปะมอญอยู่ นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า บริเวณนี้เดิมเป็นทุ่งโล่งที่มีการตั้งทัพข้าศึก และเกิดการทำการยุทธหัตถีในหลายครั้งหลายสมัย

7. วัดไชยวัฒนาราม


วัดไชยวัฒนารามเป็นวัดสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2173 โดยเดิมบริเวณที่ตั้งของวัดแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของพระราชมารดาที่ได้สิ้นพระชนม์ไปก่อนที่พระเจ้าปราสาททองได้เสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์ เมื่อพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ พระองค์จึงได้สร้างวัดไชยวัฒนารามขึ้นเพื่ออุทิศผลบุญนี้ให้กับพระราชมารดาของพระองค์ และอีกประการหนึ่งวัดนี้อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือเขมรด้วย จึงทำให้มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมส่วนหนึ่งมาจากปราสาทนครวัด

8. วัดโลกยสุธาราม


วัดโลกยสุธาราม สันนิษฐานว่าได้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ในรัชสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราช พระราชบิดาเจ้าสามพระยา ราว พ.ศ. 1995 วัดนี้มีพระพุทธไสยาสน์ ปางไสยาสน์ ที่ใหญ่ที่สุดในเกาะเมืองอยุธยา ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ก่ออิฐถือปูน มีความยาว 42 เมตร และสูง 8 เมตร พระพักตร์หันไปทางทิศเหนือ ที่พระเศียรมีดอกบัวรองรับ พระบาทซ้อนกันเป็นมุมฉาก นิ้วพระบาทยาวเท่ากัน มีดอกบัวเกยซ้อนรองรับพระเศียรแทนพระเขนย สันนิษฐานว่าแต่เดิมเป็นพระพุทธรูปไม่ทรงเครื่อง แต่การบูรณะใน พ.ศ. 2499 คงมีการแก้พระเศียรเป็นอย่างพระพุทธรูปทรงเครื่อง

9. วัดพระราม


วัดพระราม คาดว่าถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1912 ในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร ซึ่งเป็นบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พระราชบิดา แต่พระองค์ทรงครองราชย์ได้เพียงแค่ปีเดียว จึงเข้าใจกันว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ทรงได้ช่วยเหลือให้สร้าง จนสำเร็จก็ได้ หรืออาจจะสร้างเสร็จเมื่อสมเด็จพระราเมศวรเสวยราชย์ครั้งที่ 2 ก็เป็นไปได้


ขอบคุณข้อมูลจาก Wikipedia
ภาพประกอบจาก ทศพร สุภาพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook