"อดิศัย กุญชร ณ อยุธยา" หนุ่มโปรไฟล์เริ่ด "คนเบื้องหลังปฏิรูปประเทศ"

"อดิศัย กุญชร ณ อยุธยา" หนุ่มโปรไฟล์เริ่ด "คนเบื้องหลังปฏิรูปประเทศ"

"อดิศัย กุญชร ณ อยุธยา" หนุ่มโปรไฟล์เริ่ด "คนเบื้องหลังปฏิรูปประเทศ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จัดเป็นเซเลบหนุ่มโปรไฟล์ดี "หล่อ รวย เก่ง" โดยเฉพาะหน้าที่การงานน่าสนใจไม่เบา เพราะเขาคือ "ที่ปรึกษา" ให้กับรัฐบาลและหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ องค์กรมหาชน กระทั่งภาคเอกชน

ผลงานชิ้นโบแดงคือ ออกแบบระบบข้าราชการพลเรือนลด 11 ซี เป็น 4 แท่ง ให้กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ทั้งยังเป็นคนเบื้องหลังร่วมจัดทำ ยุทธศาสตร์ 11 ด้านพัฒนาประเทศ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เขาคือ ออ-อดิศัย กุญชร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท วินทูเกเตอร์ จํากัด ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ อดิศัยจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ และระดับปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ ในสาขาวิชาสังคมวิทยาและการเมืองของสังคมยุคใหม่ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศสหราชอาณาจักร

ในวันสบายๆ ออ-อดิศัย ถอดสูทแต่งตัวในสไตล์ที่ชื่นชอบ มาพูดคุยถึงงานและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต

อดิศัยอธิบายงานที่ปรึกษาก่อนว่า คือการเข้าไปในหน่วยงานนั้นๆ ไปฟังว่าเขาอยากให้องค์กรเจริญเติบโตไปอย่างไร จากนั้นจะเข้าไปดูสภาพปัญหา คิดหาแนวทางแก้ไข และดำเนินการต่อไป อย่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่ต่อไปไทยจะเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอล กระทรวงไอซีทีจะเปลี่ยนกระบวนงานและคนอย่างไรให้ทันการเปลี่ยนแปลง เราที่ปรึกษาก็ดูว่าจะเปลี่ยนได้อย่างไร โดยเปรียบเทียบประสบการณ์เมืองนอก ประสบการณ์ภาครัฐของเรา สอบถามผู้ทรงคุณวุฒิด้านไอซีทีทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะสำคัญที่สุดคือทุกคนต้องได้ผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงบรรลุผลยิ่งขึ้น ขณะที่ระยะเวลาขึ้นอยู่กับสภาพปัญหา อย่างปัญหาสั้นใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ปัญหายาวประมาณ 1 ปี แต่บางโครงการปัญหายาวมาก แก้มาตลอด 10 ปี จนขณะนี้ก็ยังทำอยู่ เพราะค่อยๆ แก้ไปทีละเรื่อง

"งานที่ปรึกษาเป็นงานสนุก เรียนจบอะไรมาก็ได้ ขอเพียงมาเรียนรู้และฟังให้มากเพื่อให้เข้าใจองค์กรนั้นๆ ที่มีภารกิจกับสภาพปัญหาไม่เหมือนกัน อย่างผมชอบเป็นที่ปรึกษาให้หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องเรียนรู้ระบบราชการมาก แต่ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงให้สำเร็จของระบบไม่ใช่ขึ้นอยู่กับที่ปรึกษา แต่อยู่กับผู้บริหารองค์กรนั้นๆ ที่จะเล่นด้วย สื่อสารกับคนในองค์กรให้เข้าใจ และคนในองค์กรมาร่วมให้ความสำคัญ"

หนุ่มหน้าอ่อนวัย 36 ปี เชี่ยวชาญงานที่ปรึกษาด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และระบบบริหารจัดการ เขารับเป็นที่ปรึกษาให้หลายหน่วยงานรัฐ สั่งสมประสบการณ์จนมองระบบราชการไทยทะลุปรุโปร่ง

"ข้าราชการไทยกว่า 70% ทำงานแบบให้จบไปวันๆ ทำแบบเดิมทุกวัน มีเพียง 30% ที่ทำงานมีประสิทธิภาพ ฉะนั้น หากอยากให้ระบบราชการไทยทำงานมีประสิทธิภาพ ต้องเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ระบบบรรจุแต่งตั้งใหม่ วิธีการเก็บรักษา วิธีการสรรหาผู้บริหาร ทำอย่างไรที่จะได้ข้าราชการที่ดีและเก่ง ซึ่งทางที่ดีเลยคือ การให้ทุนการศึกษาเยอะๆ เป็นทุนที่ส่งไปเรียนสาขาที่ดีและต้องการในอนาคต และผูกมัดว่าต้องกลับมาทำงานใช้ทุน โดยต้องทำตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 เลย ไม่งั้นจะแข่งกับภาคเอกชนไม่ได้"

"ส่วนระบบราชการในอนาคต ยังมองไม่ออก แต่เชื่อว่า 10 ปีที่ผ่านมาดีขึ้น เช่น สามารถเสียภาษีออนไลน์ได้ ทำพาสปอร์ตเสร็จในครึ่งวัน 10 ปีข้างหน้าก็น่าจะดีขึ้นเช่นกัน อาจเป็นรูปแบบการจ้างงานที่รัฐจะทำงานกับเอกชนและประชาชนมากขึ้น ทำให้ทำงานดีขึ้น และมีเราช่วยทำ (ยิ้ม)"

เป็นคนทำงานหนัก ชนิดที่ 7 วันไม่มีวันหยุด เขาบริหารจัดการชีวิตโดยไม่ต้องมีที่ปรึกษา รู้โดยอัตโนมัติว่าเครียดเมื่อไหร่ก็ไปช้อปของแฟชั่น เป็นงานอดิเรกที่เมื่อ "เปิดตู้สะสมของแฟชั่น" ขึ้นมาเมื่อไหร่ เป็นอันมีความสุข

"ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมชอบแฟชั่นมากคือ เขาได้ทำให้สิ่งที่มีค่าน้อยกลับมีค่ามาก เพียงสื่อสารก็สามารถขายสินค้าได้ราคาเป็นหมื่นเป็นแสน ผมก็เรียนรู้วิธีการของเขาว่า จะทำอย่างไรในข้อเสนอจากคนเล็กๆ อย่างผม จะเป็นข้อเสนอระดับประเทศได้ พบว่าขึ้นอยู่กับวิธีการสื่อสารเช่นกัน โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่จะเป็นคนเบื้องหลัง ไม่ต้องพูดอวดโอ้ว่าฉันทำ ฉันเจ๋ง เพราะไม่มีใครเชื่อผม แต่บอกว่าท่านทำ จะดูน่าเชื่อถือกว่า"

"ผมสะสมของแฟชั่นมาเป็น 10 ปี มีเต็มบ้าน ซึ่งครึ่งหนึ่งผมจะเอาไปบริจาคเด็กชาวเขาทุกปี เด็กๆ อาจไม่รู้ว่าได้ของดีอะไรไป ไม่ว่าจะเสื้อผ้า กระเป๋าแบรนด์เนม ซึ่งเพื่อนๆ ก็จะรุมต่อว่าผม ทำไมไม่เอาของไปขายแล้วเอาเงินมาให้เด็ก เพื่อให้อย่างมีคุณค่ากว่า ผมตั้งใจจะทำอย่างนั้น แต่ไม่สำเร็จสักที เพราะงานมันเยอะมาก" อดิศัยเล่าทั้งหัวเราะ

อดิศัยเล่าถึงหลักการดำเนินชีวิตว่า ผมชอบคิดและวางแผนล่วงหน้าตลอด คิดถึงสิ่งที่อยากเห็นภาพตัวเองในอนาคต แล้วมองย้อนมาตอนนี้ว่าจะเสียใจหรือดีใจกับสิ่งที่ทำหรือไม่ ถามตัวเองอย่างนี้ทุกๆ 1-2 เดือน ก็ดีว่าผมได้ทำในสิ่งที่รักทั้งเรื่องการเรียนและงาน ผมจึงอยากทำโดยไม่รู้สึกว่าต้องทำ แม้งานจะมีอุปสรรคมาก แต่ด้วยความเชื่อว่าหากค่อยๆ ทำทุกอย่างก็ผ่านไปได้ และดำรงในความอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้ผู้ใหญ่ช่วยเหลือและให้โอกาส จนมีวันนี้ได้

"นอกจากนั้นแล้วคงไม่มีอะไรที่ดีไปกว่า งานส่วนหนึ่งที่ทำได้ยังสร้างประโยชน์ให้ประเทศ ผมไปเรียนที่อังกฤษไม่ว่าอยู่เมืองไหน ก็ไม่รู้สึกดีเท่าอยู่เมืองไทยที่เป็นประเทศบ้านเกิด ผมรู้สึกภูมิใจที่เป็นคนไทย ภูมิใจที่มีในหลวง ผมจึงอยากทำให้ประเทศเจริญเติบโตไป"

"อยากให้คนไทยมาร่วมภูมิใจและกล้าบอกออกไปว่า I am Thailand" อดิศัยกล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook