รู้ไหม...ออกกำลังกายแล้วทำไมยังอ้วน?
หลายคนที่เข้ายิมหรือออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ แต่น้ำหนักและรูปร่างก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงเสียที ปัญหานี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนส่วนใหญ่หันหน้าหนีกับการออกกำลังกาย ไปพึ่งพายาหรือทางลัดอื่นๆที่ส่งผลข้างเคียงและเห็นผลเร็วแต่ไม่ยั่งยืน วันนี้มติชนออนไลน์มีวิธีสำรวจการออกกำลังกายของตัวเองง่ายๆ แล้วลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ
- ไม่เคยกำหนดเป้าหมาย
ออกกำลังกายก็เหมือนกับชีวิตคนเรา ต้องมีเป้าหมายและพยายามมุ่งไปให้ถึง หลายคนเคยชินกับการวิ่งบนลู่วิ่ง หรือ วิ่งรอบสนาม วิ่งไปจนเหนื่อย พอเหนื่อยก็หยุด ถ้าใครยังทำแบบนี้อยู่ก็ลองเปลี่ยนวิธีออกกำลังกาย หันมากำหนดเป้าหมายดู เช่น เริ่มกำหนดเวลาในการวิ่งที่แน่นอนว่าต้องวิ่งไปกี่นาทีถึงจะหยุดเดิน หรือ พักได้ คิดเฉลี่ยคนเราควรวิ่งประมาณ30-40นาที ก็ลองตั้งเป้าดู สมมุติว่าวิ่งได้แค่10นาที แล้วเหนื่อย ก็พักโดยการเดิน แล้วก็วิ่งใหม่อีก10นาที จนครบ 3 ครั้ง แต่ว่าระวังอย่าพักเดินนานเกินไปเวลาที่พักเดินควรจะน้อยกว่าเวลาที่ใช้วิ่ง ค่อยๆฝึกแบบนี้ไปไม่นานก็จะสามารถวิ่งต่อเนื่อง30นาทีได้อย่างสบาย ๆ
- งมงายอยู่กับตัวเลขบนหน้าจอเครื่องคาร์ดิโอ
ไม่ว่าคุณจะเล่นเครื่องคาดิโอแบบไหน สิ่งเดียวที่คุณยึดมาเชื่อถือได้คือ"จำนวนนาที"เท่านั้น ส่วนค่าอื่นๆ เช่น ระยะทาง แคลอรี ฯลฯ อย่าไปเชื่อมันเลย ตั้งเป้ากับการคาร์ดิโอได้ต่อเนื่องที่นาน และท้าทายขึ้น เช่น วิ่งได้เร็วขึ้น เดินได้ชันขึ้น หรือคาร์ดิโอได้นานขึ้น จะเห็นผลกว่าการไปงมงายกับตัวเลขแคลอรีบนหน้าจอ
- หันมาสร้างกล้ามเนื้อบ้าง
ควรออกกำลังกายโดยใช้แรงต้าน หรือการสร้างมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะมวลกล้ามเนื้อที่มากขึ้นส่งผลให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้ดีขึ้นนั่นเอง อย่ามัวแต่คาร์ดิโออย่างเดียว
- กินให้เป็น
เมื่อคุณใช้พลังงานไปกับการออกกำลังกายไม่ว่าจะเป็นแบบเบาหรือหนัก สิ่งหนึ่งที่ตามมาคืออาการหิว ควรใส่ใจกับสิ่งที่จะกินเข้าไปโดยคำนวณจากจำนวนแคลอรีของอาหารก่อนรับประทาน (ปกติร่างกายของผู้ชายต้องการพลังงาน 1,800–2,500 กิโลแคลอรี ส่วนผู้หญิงประมาณ 1,500–2,000 กิโลแคลอรี) ลองคำนวณง่ายๆ จากอาหาร 1 มื้อที่รับประทานว่าโดยเฉลี่ยแต่ละจานนั้นให้พลังงานกี่กิโล ตั้งเป้าการเผาผลาญพลังงานที่คุณได้รับในแต่ละวัน เพื่อให้ร่างกายได้ดึงเอาไขมันสะสมออกมาใช้