‘ต๋อง ศิษย์ฉ่อย’ เปลี่ยนวันเลวร้าย สู่ชัยชนะของชีวิต

‘ต๋อง ศิษย์ฉ่อย’ เปลี่ยนวันเลวร้าย สู่ชัยชนะของชีวิต

‘ต๋อง ศิษย์ฉ่อย’ เปลี่ยนวันเลวร้าย สู่ชัยชนะของชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเอ่ยถึงกีฬาสนุกเกอร์ แน่นอนว่าชื่อแรกที่เรานึกถึง คือ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย
เขากลายเป็นขวัญใจคนไทยทั้งประเทศ เมื่อคว้าแชมป์สมัครเล่นโลก 1998 ที่ประเทศออสเตรเลีย แล้วไปเทิร์นโปรในปีต่อมาด้วยสไตล์การเล่นที่แม่นยำ ดุดันกล้าวัดใจ ไต่อันดับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ถือว่าเป็นนักสนุกเกอร์จากเอเชียคนแรกที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพระดับโลกจุดสุดยอดความสุขของแฟนแม่นคิวไทย คือเมื่อเขาผงาดขึ้นเป็นมือวางอันดับ 3 ของโลก ทำผลงานเข้ารอบรองชนะเลิศศึกชิงแชมป์โลก และคว้าแชมป์ ไทยแลนด์โอเพ่น และนั่นก็ถือเป็นจุดสูงสุดในอาชีพของเขา และหน้าประวัติศาสตร์เกมโต๊ะสักหลาดของเอเชีย

นับมาถึง 20 ปีให้หลัง ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ผ่านร้อนผ่านหนาวมากมายในอาชีพ มีเรื่องเล่าจากชีวิตบนยอดพีระมิด และตกต่ำลงมาเป็นฐานให้เด็กรุ่นหลังได้ป่ายปีนขึ้นไป

มุมความคิดคมกริบในวันนี้ ที่เขานั่งเปิดใจกับ GM ไม่ต่างไปจากเหลี่ยมมุมความแม่มของเขาบนโต๊ะสนุกเกอร์ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย หรือ รัชพล ภู่โอบอ้อมมาบอกเล่าถึงวันที่เลวร้ายในชีวิตของเขา และความสุขภายในที่เกิดขึ้นในวันนี้

สนุกเกอร์ให้ทุกสิ่งแก่ผม แต่ขาดมันก็ไม่ตาย
จนถึงทุกวันนี้ หากถามว่าผมได้อะไรจากสนุกเกอร์บ้าง ชีวิตผมได้ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากกีฬานี้ ได้ทั้งระเบียบวินัย มีเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ จากเด็กที่ทำอะไรเองไม่เป็น กลายมาเป็นทำเองทุกอย่าง จากคนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ก็กลายเป็นพูดได้ ได้เห็น เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากทั่วโลก คิดดูสิ! ตอนนี้ผมอายุปาเข้าไป 45 แล้วนะ พวกคุณยังไม่ลืมผมเลย และยังมาสัมภาษณ์ในวันนี้ ซึ่งทุกครั้งที่มีพวกคุณมาเยี่ยมเยือน ผมรู้สึกยินดีมาก มันอบอุ่น ชื่นใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ใช่ว่าชีวิตผมจะขาดสนุกเกอร์ไม่ได้ ผมได้เรียนรู้มากมายจากความพ่ายแพ้ และจนถึงตอนนี้ ถ้าต้องเลิกเล่นมันไป นั่นก็ไม่ใช่ End of the World เราไม่ตายหรอกหากขาดมัน อยู่ที่ความคิดของเรามากกว่า ว่าจะยึดติดกับอดีตแค่ไหน เราจะยึดติดไปทำไม ผมได้เรียนรู้ว่าชีวิตนี้ ไม่ว่าเราจะสูญเสียอะไรมากแค่ไหน หากเข้าใจและยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ เราก็จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุข


เกลียดความไม่เท่าเทียม
สิ่งที่ผมเกลียดนักก็คือความไม่เท่าเทียม การแบ่งชนชั้นวรรณะ การแบ่งสีผิว การเดินทางไปทั่วโลก ทำให้ผมรู้ว่าคนเราเกิดมาเท่ากัน เราควรจะเสมอภาคเท่าเทียม ตอนสมัยที่ผมเริ่มเดินทางไปแข่งขันที่อังกฤษใหม่ๆ สมัยนั้นนิโกรเขาก็ไม่ชอบ แขกอาหรับก็ไม่ชอบ เอเชียอย่างเราๆ เขาก็ไม่ชอบ มองว่าคนละชั้นกับเขา ส่งสายตาดูแคลนกัน มัน Look Down เกินไป ทั้งที่ไม่รู้ว่าเราเป็นใคร แต่สายตาเหล่านั้นไม่ได้ทำให้ผมย่อท้อนะ ทำให้ผมสู้มากกว่า ตอบโต้ด้วยฝีมือสนุกเกอร์นี่แหละ แทงให้ดิ้นเลย อย่าเอาสายตาดูถูกของคนอื่นมาทำให้ตัวเองท้อ คนเราต้องลบคำสบประมาทให้ได้ จำเอาไว้นะครับน้อง ว่านี่คือ Big Test ของชีวิตที่เราแต่ละคนจะต้องผ่านไปให้ได้ คนเราเวลาโดนใครมาดูถูก ก็มักจะเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง ทำให้เกมเสีย สิ่งที่วางแผนไว้ก็เสียไปหมด


จุดตกต่ำที่สุดในชีวิต
ถามว่าอันดับช่วงไหนตกต่ำที่สุด ผมคิดว่าก็ปีนี้นี่แหละ (หัวเราะ) นี่คือปีที่ 31 ของการเป็นโปร-สนุกเกอร์ แต่สำหรับคนอายุ 45 แล้ว ผมว่าเราไม่ต้องกังวลอะไรแล้วละ ไม่มีอะไรต้องพิสูจน์อีกต่อไป ผมทำใจสบายๆ กลับมาตายตาหลับในเมืองไทย

แต่ถ้าถามว่าชีวิตช่วงไหนที่ย่ำแย่ที่สุด แน่นอนต้องเป็นตอนแข่งเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 เล่นในบ้านเราเอง ผมตั้งใจมาก แต่กลับแพ้ ทำเบรกละไม่เกิน 20 แต้ม เป็นฟอร์มที่แย่ที่สุดในชีวิต เหมือนมวยซ้อมเป็นเดือน ซ้อมแทบตาย แต่ดันโดนน็อกใน 10 วินาทีของยกแรก ช่วงนั้นไม่อยากกลับมาแข่งอะไรในเมืองไทยอีกเลย แต่ความพ่ายแพ้ครั้งนั้น ก็สอนให้ผมเข้าใจว่าตัวเราเองต้องรับให้ได้ กับช่วงเวลาที่ดีที่สุดหรือช่วงที่แย่ที่สุด เพราะไม่มีใครชนะหรือแพ้ไปตลอด ชนะก็อย่าไปชะล่าใจ ยิ่งพอถึงตอนตก สำคัญที่สุด เราจะเห็นความเป็นจริงของชีวิต รับมันให้ได้ ก้าวต่อไป

พิสูจน์ความแข็งแกร่ง
การเป็นแชมป์นั้นยาก แต่ก็อย่างที่ใครๆ เขาพูดกันน่ะ ว่าการรักษาแชมป์ยากกว่า แต่สำหรับผมเหรอยากที่สุดคือการอยู่ข้างล่าง อยู่กับความตกต่ำ หากเป็นคนยึดติด ไม่ยอมรับอะไรง่ายๆ อาจจะซึมเศร้าไปเลย ตอนยังหนุ่มๆ ผมเคยลงโทษตัวเองด้วยการไม่กินข้าว 3 วันหลังแพ้ ตอนนั้นเกลียดมันไปหมดทุกคนในโลก แล้วพบว่าการอดข้าวไปแล้ว มันไม่ได้ช่วยอะไร ให้เราทบทวนแก้ไขเพื่อแมตช์ต่อไป ตอนมือขึ้น ทุกอย่างสวยงามมีการต้อนรับขับสู้ที่ดี มีเกียรติ แต่กลับกัน ตอนผลงานตก ไม่ต้องอื่นไกลเลย เพื่อนรอบตัวก็เปลี่ยน ผมเห็นชัดเจนหลายคน เขามาแฮปปี้กับเราตอนประสบความสำเร็จพอตอนตกต่ำหายไป เรื่องนี้ก็ดีนะ ทำให้ผมได้เข้าใจและเห็นความเป็นจริงได้ชัดเจน


แค่เข้าใจคุณก็อยู่ได้อย่างมีความสุข
คนเราไม่สามารถเอาใจทุกคนได้ เป็นธรรมดาที่จะต้องมีทั้งคนรักและเกลียด เขาเชียร์เรามาก คาดหวังมาก พอไม่เป็นไปตามหวังก็ผิดหวังรุนแรง แฟนสนุกเกอร์ที่บ่นด่าเรา เขาคงไม่รู้หรอกว่ากว่านักกีฬาคนหนึ่งจะทำผลงานดีๆ สร้างความสุขให้กับเขา มันไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อเขาผิดหวัง เขาก็ด่ากันไป แต่สำหรับตัวเราเอง เราเป็นจริงตามคำด่าของเขาหรือเปล่า ตัวเราเองนั่นแหละที่รู้ ถามว่าเสียใจไหม ผมเสียใจกับคำติชมทั้งที่ทุ่มเทสุดกำลังแต่ผ่านมาจนกลายเป็นความเข้าใจผิดไปแล้วละ เหมือนตัวเองเวลาเชียร์นักกีฬาไทยคนอื่นแล้วไม่ชนะ ผมเองก็หงุดหงิด จนมานั่งคิดอีกที เออนะ คนเราพลาดกันได้ เราก็คอยให้กำลังใจกันต่อไปดีกว่า


ปลดพันธนาการเสียที
ก่อนจะสิ้นลม อยากไหว้วอนรัฐบาลไทยปลดสนุกเกอร์ออกจากพระราชบัญญัติการพนันเสียที อย่างน้อยกีฬานี้ก็สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ทุกวันนี้เด็กไทยที่สนใจจะเล่นสนุกเกอร์จริงจัง ต้องรอหลังอายุ 18 ปี ซึ่งมันช้าเกินไป ผมเองใช้เวลาตั้ง 9 ปี กว่าจะเป็นแชมป์ ดูแชมป์โลกสมัครเล่นชาวจีน ตอนนี้อายุเพียง 14 ปี อย่ากังวลว่าสนุกเกอร์เป็นอบายมุข เป็นแหล่งมั่วสุม เพราะจริงๆ แล้ว สนามกีฬาอื่นๆ สนามมวย สนามฟุตบอล สนามกอล์ฟ หรือแม้กระทั่งห้างสรรพสินค้านั่นใช่หมด ถ้าเยาวชนต้องการจะมั่วสุม ถ้าเราเอากีฬานี้ออกจาก พ.ร.บ. การพนันได้ ผู้ปกครองก็สบายใจที่จะสนับสนุนลูกหลาน เรามีนักกีฬามากขึ้น โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น และการเกิดขึ้นของต๋องคนที่ 2 ก็อาจจะเป็นไปได้

บทความนี้ตีพิมพ์ใน นิตยสาร GM ฉบับ 443 มิถุนายน 2015

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook