ทำไม?! ดื่มทั้ง′ชา-กาแฟ′พร้อมกัน บางทีก็คึก บางทียังซึมเหมือนเดิม!
ในสหรัฐอเมริกา มีการเก็บข้อมูลการบริโภคคาเฟอีนของคนทั่วไปเอาไว้ โดยศูนย์เพื่อการป้องกันและควบคุมโรค (ซีดีซี) พบว่า ผู้ใหญ่อเมริกันมากถึง 89 เปอร์เซ็นต์บริโภคกาเฟอีนเป็นประจำ โดยราว 67 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคดังกล่าวได้กาเฟอีนจาก กาแฟ ราว 16 เปอร์เซ็นต์ได้จากชา และที่เหลือได้กาเฟอีนจากเครื่องดื่มประเภท ซอฟต์ดริงก์ต่างๆ
นางคริสตอล ฮัสเกล-แรมเซย์ นักจิตวิทยาโภชนาการ จากมหาวิทยาลัยนอร์ธัมเบรีย ในประเทศอังกฤษ ระบุว่าคนทั่วไปมักเข้าใจเอาว่าการกระตุ้นที่ได้รับทั้งหมดมาจากกาเฟอีน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ชา และโกโก้ (ร้อน) ยังมีส่วนผสมของสารกระตุ้นประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากกาเฟอีนรวมอยู่ด้วย
(เครดิตภาพ-American Heart Association)
อย่างไรก็ตาม ในบรรดาสารกระตุ้นเพื่อการตื่นตัวของคนเรา ต้องถือว่ากาเฟอีนมีฤทธิ์สูงสุดเหนือสารกระตุ้นอื่นๆ เหล่านั้น แต่ในการดื่มเครื่องดื่มแก้วหนึ่งๆ สารประกอบอื่นๆ ก็มีส่วนอยู่ด้วยเช่นกัน
ฮัสเกล-แรมเซย์ ระบุว่า ตัวอย่างสารกระตุ้นอื่นที่ปรากฏอยู่ในชา เช่น กรดอะมิโนชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า "ธีอะนีน" ออกฤทธิ์ในทำนองเดียวกันกับกาเฟอีนแต่น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ในการวิจัยของฮัสเกล-แรมเซย์ เองซึ่งมีขึ้นเมื่อปี 2008 พบว่า หากบริโภคกาเฟอีนร่วมกับธีอะนีนในปริมาณสูงร่วมกัน ผู้ทดลองจะรู้สึกตื่นตัวมากกว่าดื่มอย่างใดอย่างหนึ่งแยกจากกัน นอกจากจะตื่นมากกว่า แล้วยังมีช่วงเวลาในการแสดงปฏิกิริยาตอบสนองได้ดียาวนานกว่า และมีความทรงจำดีกว่าอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ถ้าดื่มเครื่องดื่มที่มีธีอะนีน ต่อจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนแต่ในปริมาณน้อย (เช่น ในปริมาณเทียบเท่ากับที่มีในชา 1 ถ้วย) ธีอะนีนกลับออกฤทธิ์ในทางตรงกันข้ามคือ จะไประงับอาการตื่นตัวที่เกิดจากกาเฟอีน ฮัสเกล-แรมเซย์เชื่อว่าเป็นเพราะปริมาณที่บริโภคเข้าไปไม่เพียงพอต่อการเสริมฤทธิ์กันนั่นเอง
ดังนั้น โดยทั่วไปผู้ที่ดื่มกาแฟจึงมีความรู้สึกตื่นตัวเร็วกว่าและมากกว่าดื่มชา