“เวชศาสตร์ชะลอวัย” เทคนิคง่ายๆ สำหรับคนไม่อยากแก่

“เวชศาสตร์ชะลอวัย” เทคนิคง่ายๆ สำหรับคนไม่อยากแก่

“เวชศาสตร์ชะลอวัย” เทคนิคง่ายๆ สำหรับคนไม่อยากแก่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากจะพูดถึงคำว่า Anti-Aging คนส่วนใหญ่มักนึกถึงเรื่อง “ความงาม” เป็นอันดับแรก แต่ พญ.วรรณวิพุธ สรรพสิทธิ์วงศ์ เผยว่า ความจริงแล้ว เรื่อง “เวชศาสตร์ชะลอวัย” หรือ Anti-Aging เป็นเรื่องที่ค่อนข้างกว้าง และลงลึกไปกว่านั้น เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไปก่อน ว่าทำไมถึงต้องมีเวชศาสตร์ชะลอวัยเกิดขึ้น เพราะในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีเติบโตก้าวหน้ามากขึ้น ประชากรส่วนใหญ่ก็มีอายุยืนยาวขึ้น

โดยปัจจัยที่เราสามารถดูแลตัวเอง และแนะนำเพื่อนข้างๆ ให้ชะลอตัวเอง อันดับแรกคือต้องถามตัวเองก่อน ว่ามีคุณมีลักษณะ “ความแก่” มาเยือนแล้วหรือยัง โดยคุณลักษณะดังกล่าวมีทั้งหมด 5 ข้อ น้อย 4 อย่าง และมาก 1 อย่าง ดังนี้

1. กลุ่มคนที่ชอบบ่นว่าชีวิตฉันเหลือน้อยแล้ว เวลาไม่ค่อยจะมี
2. กลุ่มคนที่เรี่ยวแรง หรือเรี่ยวแรงเหลือน้อย
3. กลุ่มคนที่ผมเริ่มบาง หรือผมเริ่มเหลือน้อย
4. กลุ่มคนที่ขี้ใจน้อย
5. กลุ่มคนที่พูดมากขึ้น ขี้บ่น

ทั้งนี้ เทคนิคการ “ชะลอวัย” มีด้วยกันแค่ 4 ข้อเท่านั้น สำหรับใครที่รักสุขภาพ ชอบดูแลตัวเองสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันง่ายๆ ดังนี้

1.เรื่องอาหาร

ต้องทานอาหารให้มีความหลากหลาย ไม่ควรทานให้อิ่มมากจนเกินไป ซึ่งการรับประทานอาหารอาจทานตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน บางคนหิวบ่อย อาจทานน้อย แต่ทานถี่ บางคนทานแต่มื้อหลักๆ เช้า กลางวัน เย็น ก็ควรทานสัก 80% ของความอิ่ม ส่วนเรื่องความหลากหลาย ตามงานวิจัยของจีนพบว่า เราต้องทานอาหารให้แตกต่างกันอย่างน้อย 10 อย่างในหนึ่งวันถึงจะได้รับความหลากหลายของวิตามิน แร่ธาตุ ที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

2.ออกกำลังกาย

อาทิตย์นึงเราควรออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายให้ได้อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ ซึ่งความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องเข้ายิม หรือฟิตเนส แต่อย่างน้อยให้มีการกระฉับกระเฉง การเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นการป้องกันความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ และโรคมะเร็ง และในบางตำราเผยว่า ถ้าเราจับเวลาไม่ได้ก็ให้นับเป็นจำนวนก้าวเอา โดยใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ว่าวันนึงเราเดินกี่ก้าว ซึ่งในหนึ่งวันควรเดินให้ได้ 5,000 ก้าว ถ้าจะให้ดีคือ 10,000 ก้าว หรือประมาณ 5 กม.

3.นอน

การนอนเพื่อให้ชะลอวัย ควรนอนอย่างน้อย 7 ชม. และนอนก่อน 22.00 น. จะดีที่สุด เพราะสมองเรามีการผลิตฮอร์โมนที่ขับออกมาตามพระอาทิตย์ที่ขึ้นลงของร่างกาย เพราะฉะนั้น คนที่นอนก่อนเที่ยงคืน กับคนที่นอนหลังเที่ยงคืน ถึงจะนอน 7 ชม. เท่ากัน แต่ประโยชน์ที่ได้ต่างกัน เพราะสารเคมีที่หลั่งออกมาเพื่อช่วยชะลอวัยมันหลั่งออกมาไม่เท่ากัน เหมือนกับนาฬิกาชีวิต อวัยวะบางส่วนพักผ่อนไม่ตรงกัน

4.อารมณ์-ความเครียด

คนที่มีความเครียดร่างกายจะหลั่งสาร อดีนาลีน กับฮอร์โมนที่เรียกว่า คอร์ติซอล ที่เป็นฮอร์โมนความเครียด ซึ่งจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว มีการผลักน้ำตาลออกมาใช้ และเป็นสารกระตุ้นแก่ แทนที่จะอยู่กับความเครียดเราต้องอินเลิฟ โดยการอินเลิฟอันดับแรกคือต้องรักตัวเองก่อน อยากจะให้ตัวเองมีสุขภาพที่ดี นอกจากนี้ เวลามองอะไรก็มองด้วยความรัก หากเราอารมณ์ดีร่างกายก็จะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งเป็นตัวช่วยในการต้านสารอนุมูลอิสระ ทำให้ช่วยชะลอวัยได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องเวชศาสตร์ชะลอวัยเป็นเรื่องความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ช่วยปรับปรุง หรือช่วยเสริมคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ให้แข็งแรง และอยู่อย่างมีความสุข ซึ่งหลักสำคัญคือการดูแลตัวเอง เรื่องการกิน ออกกำลังกาย เรื่องนอน และเรื่องของอารมณ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook