บริหารคนสไตล์เถ้าแก่

บริหารคนสไตล์เถ้าแก่

บริหารคนสไตล์เถ้าแก่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัญหาใหญ่แต่มองกันเล็กของการทำธุรกิจ คือ เรื่อง "คน" ครับ ลูกน้องเข้า ลูกน้องออก ไปมีเรื่องกับคนอื่น ต้องออกไปเคลียร์ ฯลฯ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องเจอกันเป็นชีวิตประจำวันของเถ้าแก่ แต่ปัญหาหนึ่งซึ่งสำคัญมาก ๆ แม้จะไม่ปัจจุบันทันด่วน และผู้ประกอบการบ่นกันทุกคน คือ หาลูกน้อง เก่ง ๆ ยากเหลือเกิน (แต่บางคนก็ไม่บ่นเพราะฉันทำเองของฉันหมดคนเดียวอยู่แล้ว และไม่อยากปล่อยให้ใครทำก็มีครับ)

การได้ลูกน้องเก่ง ๆ นั้นมีอยู่ 2 องค์ประกอบหลัก ๆ คือ การได้คนเก่ง ๆ และการสอนให้เก่ง ในความเป็นจริงนั้นอันที่ 2 อาจจะสำคัญมากกว่า ด้วยซ้ำ เพราะคนเก่งนั้นก็หายาก หาได้ก็แพง และบางครั้งถึงยอมจ่ายแพงเขาก็ไม่มา เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากทำ และถึงแม้ได้คนเก่งมาแต่ใช้เขาไม่ถูก คนที่เก่งก็อาจจะหมดความเก่งไปได้เหมือนกันครับ

ธุรกิจ SMEs เป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรือเริ่มมาด้วยขนาดเล็ก คนที่ดำเนินงานเกือบทุกเรื่องก็คือเจ้าของ การที่ตัวเองเป็นคนเริ่มและทำเองทุกเรื่อง ก็รู้ทุกเรื่อง และอาจจะเก่งทุกเรื่อง (ความเก่งเป็น Relative Term นะครับ คือความเก่งขึ้นกับเรื่องที่ทำ และยุคสมัยนะครับ) เมื่อรู้และทำเป็นได้ทุกเรื่องก็มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง เมื่อได้ลูกน้องมา ไม่ว่าจะเก่งหรือไม่ การพยายามจะสั่งสอน ควบคุม จนถึงกับบังคับให้ทำในแบบที่ตัวเองเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ไม่เพียงจะให้เป้าหมายที่เขาต้องทำให้เสร็จ ยังคาดหวังให้ทำในวิธีที่ตัวเองคิดอีกด้วย หากได้ตามเป้าหมาย แต่ไม่ได้ทำในวิธีที่ตัวเองคิด ก็ไม่พอใจและยังระแวงว่ามันไม่ถูกต้อง เรียกว่าได้เพียงตัวเลข แต่ยังถูกใจ หากไม่ได้ตามเป้าหมายก็ยิ่งพาลไปกันใหญ่ บางกรณี ลูกน้องทำในวิธีที่ตัวเองอยากให้ทำแล้ว แต่ไม่ได้เป้าหมาย ก็โทษลูกน้องแทน เพราะลืมไปแล้วว่าเคยบอกไปอย่างไร หรืออาจจะบอกว่าทำไมไม่คิดเอง

เจอสถานการณ์แบบนี้ไปนาน ๆ ลูกน้องก็จะไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำอะไร จะทำอะไรก็จะถามก่อนว่าแบบนี้ดีหรือไม่ หรือรอให้นายสั่งดีกว่าก่อนไปเสนอ กลัวผิดไปทั้งหมด พาล ๆ เข้าก็โทษกันเองเข้าไปอีก แถมเอาอาการของหัวหน้าไปลงกับลูกน้องตัวเองอีก (เชื่อผมเถอะครับพฤติกรรมของเจ้านายเป็นโรคติดต่อครับ เจ้านายเป็นอย่างไรลูกน้องมีแนวโน้มจะเป็นอย่างนั้น การแพร่ระบาดของพฤติกรรมเป็นอาการหนึ่งขององค์กรครับ และเป็นส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมองค์กร)

เป็นอย่างนี้ต่อ ๆ ไป คนเก่ง (ถ้ายังทนอยู่) หรือไม่เก่ง ก็จะกลายเป็นคนไม่เก่งเหมือน ๆ กัน คนที่ไม่กล้าคิดไม่กล้าทำอะไร ไม่สามารถใช้ตรรกะเหตุผลของ ตัวเอง ก็คือการทำโดยไม่รู้ ขอเพียงให้ทำแล้วเป็นไปตามที่เถ้าแก่คิดหรือบอกเท่านั้น เมื่อไม่มีโอกาสเรียนรู้ ก็ไม่มีโอกาสเก่ง เพราะไม่เข้าใจว่าอะไรผิดอะไรถูก เพราะทุกอย่างเถ้าแก่คิดเอง วางแผนเอง กำหนดทุกขั้นตอนตั้งแต่การพูด การคิด การทำ ไป ๆ มา ๆ ลูกน้องเหล่านั้นก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของงานที่ได้รับมอบหมาย แค่ทำตามสิ่งที่บอกเท่านั้น

อย่างนี้แล้วเถ้าแก่คงไม่มีโอกาสที่จะมีลูกน้องเก่ง ๆ ได้หรอกครับ เพราะทุกคนต้องให้เราคิดให้หมด ทักษะที่ลูกน้องนั้นจะสร้างขึ้นมา คือ ทักษะในการเดาใจเถ้าแก่ ซึ่งเดาถูกบ้างผิดบ้างเพราะเถ้าแก่บางทีก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ หรือแย่ไปกว่านั้นคนเก่งบางคนก็พัฒนาเป็นคนคอยปั่นหัวเถ้าแก่จนปั่นป่วนกันไปทั้งบริษัทอีก

สิ่งเหล่านี้เป็นวงจรของการบริหารคนสไตล์เก้าแก่ ซึ่งจะสร้างลูกน้องที่ไม่เก่งแทนไปในที่สุด โดยที่เถ้าแก่ไม่รู้ตัวเลย แม้ในวันที่ตัวเองพูดว่า ลูกน้องเก่ง ๆ หายากเหลือเกิน การแก้ไขเรื่องการบริหารคนให้เก่งขององค์กร SMEs นั้น จำเป็นต้องใช้ทั้งหลักวิชา กระบวนการ และความสามารถในการตระหนักรู้ของตัวเองเข้ามาประกอบ ถึงจะตัดวงจรได้ คราวหน้ามาคุยกันต่อเรื่องวิธีแก้ครับ

 

.....................................................................................................................

ติดตามทุกเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ชาย รวบรวมข้อมูลเรื่อง แฟชั่นผู้ชาย ทรงผมผู้ชาย น้ำหอมผู้ชาย
พร้อมด้วยหลากหลายบทความเกี่ยวกับ สุขภาพ สาวสวย และที่เที่ยวกลางคืนได้ที่นี่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook