ปัญหาสุขภาพเพศชายแก้ไขได้ถ้ารู้ทัน
ไลฟ์สไตล์ของผู้ชายไทยในปัจจุบันนั้นเมื่อเริ่มย่างเข้าสู่วัยทำงาน บทบาทความรับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่การงานก็มักจะมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในสังคมที่เร่งรีบและมีการแข่งขันสูงนั้น มักทำให้เกิดความเครียดสะสม พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนดึก รับประทานอาหารแบบไม่ถูกสุขอนามัย ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพแบบสะสม จนเมื่อย่างเข้าสู่วัยสี่สิบปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของระบบฮอร์โมนในร่างกายที่อาจเริ่มลด ระดับลงไป เรียกว่า แอนโดรพอส คล้ายกับเพศหญิงในวัยที่จะหมดประจำเดือน
โดย น.พ.ดำรงพันธ์ วัฒนะโชติ ผู้อำนวยการศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้บอกว่า จากปัจจัยข้างต้นแม้ว่าจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจส่งผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสมรรถภาพทางเพศซึ่งมักจะเป็นความรู้สึกที่บกพร่องในคุณภาพชีวิตไปหากไม่ มีทัศนคติ อื่นใด หรือพลังชีวิตใดที่ดีกว่าเข้ามาทดแทนได้ทัน แนวโน้มของความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้ามนั้นมีได้ตั้งแต่ที่พบบ่อยขึ้น คือ เรื่องมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นโรคฮิตติดอันดับหนึ่งของชาวอเมริกันและกลุ่มชาวยุโรป สแกนดิเนเวีย แต่ผู้ชายในแถบเอเชีย และในประเทศไทย ยังมีตัวเลขที่เป็นต่ำกว่าในต่างประเทศ
ทั้งนี้ ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย โดยโรคที่มักพบในต่อมลูกหมากที่สำคัญมี 3 โรค ได้แก่
1.โรค ต่อมลูกหมากโต ซึ่งพบได้ในเพศชายอายุตั้งแต่ 40 ปี โดยเฉพาะเข้าอายุ 50-60 ปี ต่อมลูกหมากที่โตขึ้นนี้ จะกดเบียดท่อปัสสาวะให้แคบลง ทำให้มีอาการปัสสาวะผิดปกติ เช่นปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืนหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะขัด ใช้เวลาปัสสาวะนาน ไม่พุ่ง หรือออกเป็นหยดๆ
2.มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นโรคซึ่งพบในเพศชายอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ในระยะแรกๆ มักไม่แสดงอาการหรืออาจจะมีอาการคล้ายโรคต่อมลูกหมากโต รวมทั้งปัสสาวะหรือน้ำอสุจิมีเลือดปน มะเร็งในระยะต้นสามารถตรวจพบได้เมื่อแพทย์ตรวจร่างกาย โดยสวมถุงมือคลำต่อมลูกหมากผ่านทางช่องทวารหนัก เมื่อมีการตรวจเช็กสุขภาพประจำปีและหรือตรวจเลือดร่วมด้วย เพื่อหาระดับของค่าพีเอสเอ (: PSA เอนไซม์ต่อมลูกหมาก)
และ 3.ต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นภาวะที่มีการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียของเนื้อต่อมลูกหมากรวมทั้งจาก เชื้อหนองในเทียม การอักเสบมักจะผ่านเข้าไปทางท่อปัสสาวะ ส่วนน้อย ผ่านทางกระแสเลือด บ่อยครั้งที่ตรวจไม่พบเชื้อใดๆ พบในกลุ่มอายุระหว่าง 30-40 ปีเป็นส่วนใหญ่
ด้าน ศ.นพ.สมบุญ เหลืองวัฒนากิจ ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ คลินิกสุขภาพเพศชาย กล่าวเสริมว่า อีกหนึ่งอาการที่คุณผู้ชายทั้งหลายควรระวังนั่นคืออาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือที่เรานิยมเรียกสั้นๆ ว่า โรคอีดี หมายถึง การที่อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัว หรือแข็งตัวได้ไม่นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้สำเร็จจนเป็นที่พึงพอใจอยู่ เป็นประจำหรืออย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุหลักๆ มาจากเส้นเลือดตีบ เส้นประสาทเสื่อม ซึ่งเกิดจากเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ยาบางชนิด ภาวะฮอร์โมนเพศชายบกพร่อง อายุที่มากขึ้นหรือหลายๆ สาเหตุร่วมกัน และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีกมากมาย ปัจจุบันนี้เข้าใจว่าอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศและอาการต่อมลูกหมากโต อาจจะมีสาเหตุร่วมกัน เนื่องจากพบร่วมกันได้มาก และจากการศึกษายังพบอีกว่า คนที่มีอาการต่อมลูกหมากโตยิ่งรุนแรงก็จะยิ่งพบภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ มากยิ่งขึ้นด้วย เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีอาการในช่วงอายุเดียวกันซึ่งอาจจะเกิดจากภาวะการทำ งานมากเกินไปของระบบประสาทซิมพาเธติก ทำให้มีการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมาก รวมทั้งเส้นเลือดในองคชาติ บางคนเชื่อว่าเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงอวัยวะในอุ้งเชิงกรานได้น้อยลง มีผลทำให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ การโตของต่อมลูกหมาก การบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะลดลง การยืดขยายของกระเพาะปัสสาวะได้น้อยลงและเกิดความเสื่อมของเส้นประสาทในองค ชาติที่กระตุ้นให้องคชาติแข็งตัวได้
"การรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทาง เพศ จะรักษาเป็นขั้นตอน คือ ตรวจร่างกายในห้องปฏิบัติการ เช่น เบาหวาน ไขมัน การทำงานของตับ ไต ในรายที่ความต้องการทางเพศลดลงหรือตรวจร่างกายพบลูกอัณฑะขนาดเล็ก จำเป็นต้องได้รับการตรวจฮอร์โมนเพศชายร่วมด้วย การรักษาจะเริ่มจากวิธีง่ายๆ เช่น ยารับประทาน การใช้ปั๊มสุญญากาศ ถ้าไม่ได้ผลหรือไม่พึงพอใจ จะใช้ยาฉีดหรือการผ่าตัดใส่แกนองคชาติเทียม หรือใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน ตามแพทย์จะวินิจฉัย"
ปิดท้ายที่ น.พ.จรัสพงศ์ ดิศรานันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบปัสสาวะ บอกเพิ่มเติมว่า ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ก็ถือเป็นโรคที่ชายสูงวัยต้องระวัง ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ป่วยต้องรีบไปห้องน้ำทันทีที่ปวดปัสสาวะ ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะหรือรอนานได้ อาจมีอาการปัสสาวะบ่อย หรือบางรายอาจมีปัสสาวะเล็ดราดก่อนถึงห้องน้ำ ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของภาวะนี้แน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากกล้ามเนื้อที่ผนังกระเพาะบีบตัวบ่อยกว่าปกติ โดยที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือระบบประสาทที่ควบ คุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ ซึ่งการตรวจวินิจฉัยภาวะนี้ไม่ได้มีความยุ่งยาก และสามารถรักษาในการควบคุมการปัสสาวะเป็นปกติได้ และต้องทำควบคู่กันไปทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และการใช้ยาเพื่อให้ได้ผลในการรักษาสูงสุด
.....................................................................................................................
พร้อมด้วยหลากหลายบทความเกี่ยวกับ สุขภาพ สาวสวย และที่เที่ยวกลางคืนได้ที่นี่