ชำแหละ ‘ยีนส์’ รู้จักทุกฟังก์ชันของไอเท็มสุดคลาสสิก
เรื่อง K.bott
เมื่อจะต้องซื้อกางเกงยีนส์สักตัว สิ่งที่คุณจะนึกถึงคงเป็นรูปทรงของกางเกง ยี่ห้อ สี หรือเนื้อผ้าของยีนส์ แต่ยังมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณมองข้ามไป เราจะมาชำแหละกางเกงยีนส์ไอเท็มสุดคลาสสิกเพื่อให้คุณรู้จักฟังก์ชันต่างๆ ดียิ่งขึ้น และยิ่งคุณรู้จักกางเกงยีนส์ของคุณมากขึ้นเท่าไหร่ คุณก็จะรักมันมากขึ้นเท่านั้น
The Watch Pocket (กระเป๋าใส่นาฬิกา)
เคยสงสัยไหมว่าทำไมกระเป๋ากางเกงด้านหน้าจะต้องมีกระเป๋าเล็กๆ ซ่อนอยู่ด้านในด้วย หากย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 18 เหล่าคาวบอยมักนิยมพกนาฬิกาโซ่ กระเป๋าเล็กนี้จึงถูกออกแบบเพื่อเก็บและป้องกันนาฬิกาโซ่ในยามที่ต้องออกไปทำกิจกรรมต่างๆ เราจึงเรียกมันว่า ‘The Watch Pocket’ หรือกระเป๋าใส่นาฬิกานั่นเอง แต่ปัจจุบันนี้น้อยคนนักที่จะใช้นาฬิกาแบบนั้น เจ้าวอทช์พ็อกเก็ตนี้จึงถูกเปลี่ยนคุณสมบัติเอาไว้ใช้ใส่ของเล็กๆ ตั้งแต่เศษเหรียญไปจนถึงถุงยาง มันจึงมีชื่อเรียกขำๆ อีกชื่อหนึ่งว่า ‘Condom Pocket’
Rivets (หมุดโลหะ)
การทำกางเกงยีนส์มีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากการทำกางเกงทั่วไป คือจะมีหมุดโลหะหรือ Rivets ตอกอยู่ที่กางเกงด้วย การตอกหมุดโลหะถูกคิดค้นและจดสิทธิบัตรในปี 1873 โดย Jacob Davis และ Levi Strauss ผู้ก่อตั้งกางเกงยีนส์ยี่ห้อลีวายส์ มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับน้ำหนักในจุดรวมตะเข็บ โดยเฉพาะบริเวณกระเป๋าหลังและเป้า ซึ่งมักจะขาดบ่อยจากการใช้งานในยุคนั้น และเพราะมีหมุดโลหะนี้เองที่ทำให้กางเกงยีนส์เป็นกางเกงที่ทนทานต่อการใช้งานอย่างมาก
Selvedge (ยีนส์ริม)
ถ้าคุณเป็นคนบ้ายีนส์ รับรองว่าคุณจะต้องรู้จัก Selvedge หรือที่คนไทยเรียกว่า ‘ยีนส์ริม’ อย่างแน่นอน สาเหตุที่ยีนส์ต้องมีขอบ เพราะในสมัยก่อนเครื่องทอผ้ามีขนาดหน้าผ้ายาวและแคบ ทำให้เมื่อผลิตกางเกงยีนส์จึงมีขอบติดมาด้วย แต่ปัจจุบันเครื่องทอผ้ามีหน้าผ้ากว้างขึ้นจึงมักไม่ค่อยมีขอบติดออกมา ยีนส์ริมจึงเริ่มมีราคาแพงและเป็นที่ต้องการของนักสะสมมากขึ้น เพราะผลิตได้น้อยและยาก เช่น ลีวายส์ริมแดง
Twill (การทอตัดสลับกัน)
จะเห็นว่าด้านในของกางเกงยีนส์จะเป็นสีขาว ส่วนด้านนอกจะเป็นสีของเดนิม ที่เป็นเช่นนี้เพราะเป็นผลมาจากเทคนิคในการถักทอที่เรียกว่า Twill หรือการทอผ้าแบบตัดสลับกันนั่นเอง การทอผืนผ้ายีนส์นั้นแบ่งได้เป็น 3 แบบคือ Right Hand Twill (เฉียงขวา), Left Hand Twill (เฉียงซ้าย) และ Broken Twill (สลับไปสลับมา) การทอด้วยเทคนิคตัดสลับกันนี้ทำให้ยีนส์มีความคงทน ไม่เกิดรอยย่น ทั้งยังป้องกันความชื้น ความหนาว และความสกปรกได้ดีอีกด้วย
Stitches (การตัดเย็บ)
การตัดเย็บของของยีนส์แบ่งเป็น 2 ประเภทคือแบบ Chain Stitch การเย็บแบบนี้จะทำให้สามารถบิดไปมาได้หลังการซัก ในขณะที่ Lock stitch จะแข็งและทนทานกว่า นอกจากนี้ยังมีการเย็บตะเข็บที่เรียกว่า Bartack ด้วย เป็นรอยเย็บที่มักสังเกตไม่เห็น มีลักษณะเหมือนตะเข็บเล็กๆ ขดตัวเรียงกันแบบซิกแซ็ก ใช้เพื่อสร้างความแข็งแรง มักจะอยู่ตรงบริเวณช่วงเป้ากางเกงและกระเป๋า
Crotch Seam (ตะเข็บเป้ากางกาง)
ในการตัดเย็บยีนส์ สิ่งที่ยากและท้าทายที่สุดคือการเย็บตะเข็บหว่างขา ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าตะเข็บส่วนนี้จะต้องได้รับการออกแบบและตัดเย็บอย่างดีเพื่อให้มีความแข็งแรงคงทนเป็นพิเศษ การเย็บตะเข็บบริเวณนี้จะประกอบด้วยตะเข็บด้านกว้างและด้านลึก ความแตกต่างของความยาวด้านกว้างกับด้านลึกนี่เองที่ทำให้ทรงกางเกงของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป