FUNKY HUGO ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์
ครั้งแรกกับการแสดงละครเวทีของร็อกสตาร์ชื่อดัง ความรู้สึกต่อใบเบิกทางที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และความรักของผู้ชายไม่โรแมนติก
THAI FOCUS เราจะเคยเห็นฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์ ผ่านงานแสดงมาบ้าง แต่แง่มุมที่ชัดเจนของผู้ชายคนนี้คือการเป็นร็อกสตาร์และนักแต่งเพลงระดับอินเตอร์nดังนั้นในวันที่เราได้ข่าวว่าเขาตอบรับแสดงละครเวทีเรื่อง Dracula: Blood Is Life ซึ่งกำลังจะแสดงในวันที่ 12 กุมภาพันธ์-6 มีนาคม 2559 ณ โรงละครสยามพิฆเนศ จึงทำให้เราอดแปลกใจไม่ได้ว่าเพราะอะไรเขาถึงเลือกที่จะทำงานในโปรเจ็กต์นี้ OK!มีนัดคุยกับฮิวโก้หรือเล็ก ด้วยประเด็นคำถาม ยาวเหยียด แน่นอนว่านอกจากโปรเจ็กต์ล่าสุดที่เขารับแสดงแล้ว น้อยครั้งนักที่ผู้ชายคนนี้จะออกมาให้สัมภาษณ์กันแบบเต็มๆอีกทั้งฮิวโก้เองก็มีหลายมุมที่เราสนใจ ในขณะที่เจ้าตัวบอกกับเราว่า “จริงๆ ชีวิตผมเป็นชีวิตที่น่าเบื่อนะ” แต่เรากลับไม่คิดแบบนั้น
เพราะอะไรคุณถึงตอบตกลงที่จะแสดงละครเวทีเรื่องนี้
มันเกิดจากการเจอคุณพอล ยูวิ่ง (ผู้อำนวยการผลิต นักแสดง และผู้ก่อตั้งยูวิ่ง เอ็นเตอร์เทนเมนต์) เขาทำงานหลายอย่างครับ ผมเจอเขาในฐานะนักร้องที่ห้องอัด ตอนที่กำลังบันทึกเสียงอัลบั้มล่าสุดของผม Deep in the Long Grass ซึ่งยังมีจำหน่ายอยู่นะครับ (หัวเราะ) แล้วเราก็แลกเบอร์ แลกอีเมล์กัน นานๆ ทีเขาก็จะติดต่อมา ตอนแรกก็จะทำคอนเสิร์ตร่วมกัน จะเอานักดนตรีจากอังกฤษมาแสดง เพราะผมก็รู้จักนักดนตรีที่เขาเคยร่วมงานด้วย แต่ไม่รู้ว่าจริงๆ ว่าเขามีแบ็กกราวด์เป็น
นักแสดงด้วย พอคุยไปคุยมาเขาก็ชวนและส่งบทแดร็กคูล่ามาให้แล้วถามว่าอยากเล่นไหม ตอนแรกผมก็ตอบไปว่าผมไม่ได้เป็นนักแสดงที่ดีที่สุดในประเทศนี้ มีคนเก่งกว่าผมหลายคนมาก แต่เขาคิดว่ามันก็ท้าทาย คุณน่าจะลองทำอะไรที่แตกต่าง แปลกใหม่ดูบ้าง ซึ่งถ้าเราเป็นคนที่ทำงานด้านสร้างสรรค์ ทำงานในวงการศิลปะก็ควรทำอะไรให้หลากหลาย เผื่อจะเติมเต็มด้านอื่นของชีวิต แต่เอาเป็นว่าผมชอบกึ๋นผู้ชายคนนี้ แล้วก็คุยรู้เรื่องด้วย และโดยส่วนตัวผมอ่านนิยายเล่มนี้มาตั้งแต่เด็กก็เลยค่อนข้างคุ้นเคย และคิดออกว่าแดร็กคูล่าเป็นใคร ถ้าผมจะเป็นเขา ผมจะต้องเอื้อมไกลแค่ไหนที่จะถึงเขา ก็เลยรับโดยที่ไม่รู้ว่าพอลจะทำได้อลังการขนาดนี้
เท่าที่ทราบคือคุณเป็นคนไม่ค่อยชอบอ่านนิยายเท่าไร แต่จะสนใจหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์มากกว่า
ไม่ใช่ไม่ชอบครับ แค่เรื่องจริงมันแปลกกว่าเรื่องสร้าง แล้วชีวิตจริงที่เรามีอยู่กับเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ ในโลก ให้แต่งก็แต่งไม่ได้ ทั้งในความน่ารัก ในความประหลาด ในความน่ากลัว ในความทุเรศ ในหลายๆ เรื่อง ชีวิตจริงมันก็แปลกพอแล้ว แต่แน่นอน แบรม สโตกเกอร์ เจ้าของบทประพันธ์เรื่องนี้ก็ไม่ใช่นักเขียนนิยายทั่วไป เขาเป็นหนึ่งในแนวหน้าของอังกฤษถ้าเปรียบเทียบกับเวลาของบ้านเราก็ในช่วงรัชกาลที่ 5 รัชกาล ที่ 6 ซึ่งตอนนั้นอังกฤษ โดยเฉพาะลอนดอนก็เป็นเมืองหลวงของโลก ถ้าจะเอาแบรม สโตกเกอร์ไปรวมกับนิยายอื่นๆ ที่มีอยู่ในตอนนี้ มันก็คงไม่ใช่ มันสำคัญกว่านั้น เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความบันเทิง แต่เป็นการสะท้อนยุคสมัย เป็นนิยายที่ถือว่าโมเดิร์น ทั้งๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้ว
คุณคิดว่าตัวเองเหมือนแดร็กคูล่าตรงไหน
หลายอย่างทีเดียว ที่ผมกล้ารับเพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวเท่าไร แดร็กคูล่าเป็นคนที่อยู่ผิดยุค ผิดเวลา ผมก็คงเป็นคนอย่างนั้น เป็นคนที่ยังปล่อยวางวัฒนธรรมเก่าๆ ไม่ได้ และคงยังไม่เข้าใจวัฒนธรรมร่วมสมัยสักเท่าไร เป็นคนที่มีตระกูลเก่าแก่ ลากเส้นกลับไปในประวัติศาสตร์ได้ไกลพอสมควรเป็นคนที่มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์โดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือถึงแม้ว่าผมอยากจะเป็นนักร้องลูกทุ่งเพื่อชีวิตอย่างไร แต่ผมก็ต้องยอมรับที่มาที่ไปของสายเลือดผมในที่สุด
แล้วเขาก็เป็นคนกลางคืน ผมเองก็เป็นนักดนตรี และเมื่อก่อนก็เคยเป็นคนกลางคืน แล้วในความขี้เหงาของเขามันคงเป็นความขี้เหงาที่แก้ไขไม่ได้ เพราะเขาแปลกประหลาดไปจากคนอื่นโดยธรรมชาติ ซึ่งในฐานะลูกครึ่งในประเทศไทยก็พอจะเข้าใจกับการเป็นคนนอกมากๆ และเป็นทั้งคนในมากๆ ในเวลาเดียวกัน มันเลยมีหลายอย่างที่ผมเห็นใจตัวละคร ซึ่งถ้าจะให้เล่นบทที่ไม่เห็นใจเลยเนี่ย ผมยังไม่ใช่นักแสดงที่อิสระพอที่จะทำนั้น ผมเชื่อว่านักแสดงที่เก่งๆ อย่างพี่จอนนี่ แอนโฟเน่, พี่นก-ฉัตรชัย เปล่งพานิช หรือว่าอนันดา เอเวอริ่งแฮม สามารถหาจุดที่เข้าถึงตัวละครที่หลากหลาย แต่ผมทำไม่ได้ ผมยังถือตัว ยังมีจริตส่วนตัวที่ปล่อยวางไม่ได้ เพราะฉะนั้นละครเรื่องนี้ ไม่ใช่มาจากผมอยากจะแสดงละครเวที แต่เป็นบทที่เชื่อว่าผมทำได้และไม่กลัวที่จะทำ
ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างคะ สำหรับการแสดงละครเวทีเรื่องนี้
การเตรียมตัวส่วนมากเกิดขึ้นในห้องซ้อม ซึ่งก็อยู่ที่ 6 วันต่ออาทิตย์ ตลอดเกือบ 6 อาทิตย์ครับ แล้วก็ติวบทของตัวเอง ผมพยายามจะจำบทให้ได้ แต่ในการเตรียมตัวมันได้เกิดขึ้น ในขั้นตอนที่เขาวางไว้แล้ว
แล้วในการเตรียมเสียงล่ะ
พอดีผมเป็นนักร้อง ในเรื่องของการใช้เสียงเลยเป็นเรื่องที่พอจะมีประสบการณ์ และเคยมีการฝึกฝนมาตลอดชีวิตอยู่แล้ว ซึ่งยังไม่เห็นว่าการใช้เสียงของละครเวทีกับงานร้องเพลงจะแตกต่างกัน แต่ผมอาจจะเห็นและรับรู้ว่ามันแตกต่างกันในวันที่เข้าโรงละครก็ได้ สำหรับการใช้เสียงที่ถูกต้องก็คือการใช้เสียงที่ถูกต้อง ไม่ว่าเราจะนำเสียงนั้นไปทำอะไรก็ตาม ไม่เกี่ยวกับคอ แต่เกี่ยวกับท้อง หลัง รวมทั้งการหายใจที่ถูกต้องและลึกพอ เรื่องจำบทน่าจะเครียดกว่า ซึ่งไม่ใช่การจำบทอย่างเดียวที่เครียด เพราะนี่เป็นละครที่มีการเคลื่อนไหวเยอะ คงเท่าๆ กับบทที่ผมต้องท่องเลย
ช่วงนี้ในเรื่องของเพลงเลยต้องเบาลงไหม
ก็ยังมีที่ค้างไว้ก่อนที่จะทำงานชิ้นนี้นะ ซึ่งนั่นก็เลยทำให้มี แดร็กคูล่า 2 คน มีนักแสดงอังกฤษที่มากประสบการณ์ เขารุ่นเดียวกับผมและนิสัยดีมาก จะมาเล่นในวันที่ผมไม่ว่าง ซึ่งก็ทำให้ผมได้เปรียบเพราะได้สังเกตการณ์เขาจากการที่เราซ้อมด้วยกัน ผมได้เรียนรู้อะไรจากเขาเยอะเหมือนกัน เสน่ห์ของละครเวทีในมุมมองของคุณคืออะไร น่าจะเป็นความใส่ใจ และการมีคนหลายๆ คนที่ทำงานให้คุณดูแบบสดๆ ทำไมคนถึงต้องไปดูคอนเสิร์ต ทำไมไม่นั่งดูทีวี หรือฟังเพลงที่บ้าน ก็เป็นเพราะว่าคนเราต้องการทำอะไรด้วยกันซึ่งการดูอะไรในโรงละครมันมีเสน่ห์ของมัน เวทีนี้เป็นพื้นที่…
อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมได้ที่นิตยสาร OK! vol.7 no.268 January 2016