พักเที่ยงแบบได้งาน ได้สุขภาพดีด้วย

พักเที่ยงแบบได้งาน ได้สุขภาพดีด้วย

พักเที่ยงแบบได้งาน ได้สุขภาพดีด้วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนทำงานที่เป็นที่ต้องการของทุกองค์กร ย่อมต้องเป็นคนที่ขยันขันแข็ง ทุ่มเทให้กับองค์กร หนักเอาเบาสู้ รับผิดชอบเต็มที่ มีความตั้งใจสูงที่จะทำงานให้เสร็จตามเส้นตายที่กำหนด และหลายคนเลือกที่จะรับประทานอาหารกลางวันแบบ "มือเดียว" คือ มือหนึ่งถืออาหารไว้ อาจเป็นแฮมเบอร์เกอร์ ขนมปัง อีกมือหนึ่งทำงานไปด้วย หรือซื้ออาหารกล่องมาทานไปทำงานไป ไม่ต้องลุกไปไหน ตลอดทั้งวันจนกระทั่งงานเสร็จ

แน่นอนว่าความขยันแบบนี้ หากเป็นแบบนาน ๆ ครั้งคงไม่เป็นไร แต่หากเป็นประจำทุกวัน หรือแทบไม่เคยไปรับประทานอาหารกลางวันข้างนอกเลย เรียกได้ว่า มากกว่า 80% ของเวลาทำงานจะ "นั่ง" เป็นส่วนใหญ่ ถ้าทำงานแบบนี้จนเป็นนิสัย เราอาจได้งานในปัจจุบัน แต่สิ่งที่เราต้องแลก ไม่เพียงเสียสุขภาพในอนาคต แต่ประสิทธิภาพการทำงานจะถูกบั่นทอนลงในระยะยาวด้วย

เมื่อปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ได้รายงานผลการสำรวจของคอมเรส (ComRes) สำนักวิจัยและสำรวจชื่อดังของอังกฤษ ซึ่งได้สำรวจกลุ่มคนทำงานอายุระหว่าง 21-30 ปี พบว่าร้อยละ73 ยอมรับว่า ตนเองรับประทานอาหารกลางวันที่โต๊ะทำงาน และแทบไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถเลยเป็นเวลานาน ซึ่งมีรายงานการแพทย์ระบุว่า การไม่เปลี่ยนอิริยาบถนานเกิน 90 นาทีจะมีผลทำให้อัตราการไหลเวียนของเลือดบริเวณใต้หัวเข่าลงไปลดลงถึงร้อยละ 50

สอดคล้องกับการสำรวจของสถาบันวิจัยทางการแพทย์ของนิวซีแลนด์ ซึ่งได้ทำการสำรวจในประเด็นใกล้เคียงกัน จากกลุ่มคนทำงาน 400 คน ที่มีพฤติกรรมรับประทานอาหารที่โต๊ะทำงาน ผลสำรวจพบว่า ในกลุ่มคนเหล่านี้มีความเสี่ยงที่เลือดจะจับตัวเป็นลิ่มสูงกว่าคนทั่วไปถึง 2.2 เท่า
ในยามที่สุขภาพของเรายังดีอยู่ ยังไม่เป็นอะไร เรายังหนุ่มสาว การดูแลสุขภาพมักถูกมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อถึงวันที่เรารู้ตัวว่าเป็นโรคจากพฤติกรรมการทำงาน ความตั้งใจปรับเปลี่ยนนิสัยการทำงานอาจ "สาย" ไปเสียแล้ว

ดังนั้น เพื่อให้ห่างไกลจากโรคร้าย เราจึงไม่เพียงตั้งเป้าทำงานเต็มที่ให้งานออกมาดี แต่เมื่องานดีแล้ว สุขภาพของเราต้องดีด้วย การทำงาน และ การรักษาสุขภาพ จึงต้องดำเนินควบคู่ไปด้วยกันอย่างสมดุล

เห็นคุณค่าของเวลาพัก เริ่มต้นเราควรเห็นประโยชน์ของการที่องค์กรมีช่วงเวลาให้พนักงานได้พัก ไม่ว่าจะเป็นพักเบรกสั้น ๆ หรือพักรับประทานอาหารกลางวัน เพราะเป็นเวลาที่เราจะได้เปลี่ยนอิริยาบถ ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ช่วยลดความเครียดจากการใช้สายตาและกล้ามเนื้อแขนขาที่อยู่ท่าเดียวกันเป็นเวลานาน และเป็นเวลาที่เราได้พูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องต่าง ๆ กับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะช่วยให้เรามีความสุขและผ่อนคลายมากขึ้น ดังนั้น ถ้างานของเราไม่เร่งด่วนจริง ๆ เราควรใช้เวลาพักอย่างเหมาะสม เพื่อกลับมาทำงานอย่างเต็มที่เมื่อถึงเวลา

งานเร่ง พักไม่ได้
แต่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ จำไว้ว่าการทำงานท่าเดียวนาน ๆ จะทำให้การไหลเวียนของเลือดเรามีปัญหา ดังนั้น แม้งานเร่งมาก จนไม่สามารถเสียเวลาไปรับประทานอาหารกลางวันได้ แต่เราต้องพยายามให้เท้าและขาได้เคลื่อนไหวไปด้วย เท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น การออกกำลังขาเป็นระยะ ๆ โดยการยกขึ้นค้างไว้ นับหนึ่งถึงสิบแล้วค่อยเอาลง ทำอย่างนี้สัก 3-5 ครั้งในแต่ละชั่วโมง หรืออาจจะหาเครื่องปั่นจักรยานสำหรับออกกำลังกายขณะนั่ง ซึ่งออกแบบสำหรับคนนั่งทำงานมาวางไว้ใต้โต๊ะ เพื่อให้ขาได้ทำงานไปด้วยขณะที่แขนได้ทำงาน ซึ่งไม่ได้รบกวนสมาธิการทำงานแต่อย่างใด และในช่วงเลิกงาน เราอาจใช้บันไดแทนลิฟต์เพื่อออกกำลังกาย เป็นต้น

สร้างนิสัยบริโภคแต่น้อย-ลดแป้ง น้ำตาล ไขมัน เพิ่มผัก ผลไม้ เนื่องจากการทำงานที่ส่วนใหญ่จะนั่งอยู่ที่โต๊ะ ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว จึงไม่ต้องใช้พลังงานมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากขึ้น ร่างกายเผาผลาญน้อยลง ทำให้มีโอกาสอ้วนง่าย จำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องอาหารการกินให้มากขึ้น

ดังนั้น ให้เลือกรับประทานอาหารเบา ๆ เช่น สลัด นมไขมันต่ำ ผลไม้ แทนอาหารที่เน้นแป้ง ไขมัน และน้ำตาล เพราะลักษณะงานไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานมาก ที่สำคัญ ต้องไม่รับประทานจุบจิบ ระหว่างการทำงาน การดื่มกาแฟแก้ง่วง ควรลดการใส่นมหรือน้ำตาลและควรเน้นการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ประเภทผัก ผลไม้ และวิตามินเสริม เพื่อให้ร่างกายได้รับอาหารครบถ้วน

การรักษาสุขภาพเป็นการลงทุนระยะยาว เราอาจไม่เห็นผลในวันนี้ และอาจต้องเสียสละความสุขเฉพาะเฉพาะหน้าหลาย ๆ อย่าง แต่สิ่งที่เราจะได้กลับมาคือ การที่ไม่ต้องเสียใจภายหลัง ซึ่งจะทำให้เราเศร้ามากขึ้น เพราะไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้อีกแล้ว

 

ผู้เขียน : ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook