เปิดบ้านคุย กรกฤช จุฬางกูร นักธุรกิจหมื่นล้าน ทายาทชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่
นักธุรกิจหนุ่มไฟแรงวัย 35 ปี "กรกฤช จุฬางกูร" นักบริหารรุ่นใหม่ที่กำลังโดดเด่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ขณะนี้ ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด หรือ SAB และบริษัท ซัมมิท โอโตซีท จำกัด (SAS) ในเครือกลุ่มซัมมิท กรุ๊ป ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของคนไทยรายใหญ่ที่สุด มูลค่าธุรกิจกว่าแสนล้านบาท
เปิดบ้านจุฬางกูร ย่านถนนพระราม 3 ซึ่งเป็นที่อาศัยของคุณพ่อสรรเสริญ และคุณแม่หทัยรัตน์ จุฬางกูร รวมถึง 6 หนุ่มแห่งตระกูลจุฬางกูร, ทวีฉัตร, ณัฐพล, กรกฤช อภิชาติ, วุฒิภูมิ และอัครพล บ้านหลังใหญ่สีขาวโดดเด่นตัดกับสนามหญ้าสีเขียวขนาด 3 ไร่ครึ่ง มีรั้วรอบขอบชิด เป็นบ้านหลังเดิมที่ปลูกสร้างมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ภายในตกแต่งอย่างเรียบง่าย ด้วยเฟอร์นิเจอร์สไตล์จีน มีสวนขนาดย่อมอยู่ที่กลางบ้านตรงบันไดวน ภายในบ้านเงียบเชียบเพราะเป็นวันธรรมดา ถ้าเป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์จะเป็นอีกบรรยากาศหนึ่ง เพราะจะเป็นวันครอบครัวที่บรรดา 5 หนุ่มจะกลับมารับประทานอาหารร่วมกันในบ้านคุณกรกฤชเป็นลูกชายคนเดียวที่อาศัยอยู่เป็นเพื่อนพ่อกับแม่ในบ้านหลังนี้?
"การอยู่กับพ่อแม่ก็สบายใจนะครับ เพราะต่างคนก็ต่างดูแลกัน ถ้าออกไปอยู่ข้างนอกคนเดียวพ่อแม่ก็ไม่ได้ดูแลเราเต็มที่ และเราก็ไม่ได้ดูแลพ่อแม่เต็มที่เหมือนกัน ผมว่าอยู่ด้วยกันมันเป็นวัฒนธรรมคนไทยที่น่ารักษาไว้ แหม่...พ่อแม่เลี้ยงเรามาตั้งแต่เด็ก ทำไมเราจะไม่อยู่ดูแลท่านตอนท่านแก่ พอดีบ้านผมมีลูกผู้ชายทั้งหมดเลย ความเข้าไปใกล้ชิดความกุ๊กกิ๊กก็อาจจะน้อยหน่อย"
จากนั้นกรกฤชเชิญทีมข่าวหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจขึ้นไปพูดคุยที่ห้องรับแขกชั้น 2 และรีบออกตัวทันทีว่า
"ผมไม่เคยคุยเรื่องไลฟ์สไตล์มาก่อน ชีวิตผมไม่มีอะไรที่น่าสนใจ ก็เหมือนคนทั่วไป"
ก่อนจะเปิดฉากเล่าถึงประวัติการศึกษา หลังจากเรียนจบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เขาได้เดินทางไปเรียนต่อปริญญาตรีและโทด้านการบริหารจัดการธุรกิจที่สหรัฐอเมริกา พร้อมแนบเกียรตินิยมกลับมาด้วย
แค่เปิดโปรไฟล์มาก็เปอร์เฟ็กต์แล้ว แต่ชีวิตการเรียนหนังสือที่ผ่านมาของกรกฤชใช่ว่าจะราบรื่น เพราะในช่วงชีวิตวัยรุ่นมีสิ่งเย้ายวนมากมาย ซึ่งเขาก็บอกว่า มีเฉไฉออกไปบ้างในช่วงแรกที่ไปเรียนต่อปริญญาตรีที่ประเทศอังกฤษ จนต้องบินไปเรียนที่อเมริกาแทน ทำให้จบช้ากว่าเพื่อน 1 ปี
การเสียเวลาในคราวนั้นเองที่ทำให้สปีดตัวเอง กระทั่งเรียนจนจบปริญญาโททันเพื่อน ๆ แต่การเกเรในครานั้นคล้ายจะเป็นจุดบอดในชีวิตที่ทำให้เขาต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนัก นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้
กรกฤช ทายาทนักธุรกิจแสนล้านบาท มุ่งมั่นทำงานอย่างตั้งใจและจริงจัง ทำงาน 7 วันในหนึ่งสัปดาห์ หรือใน 1 เดือนแทบไม่หยุดเลย หลังจากที่เขาได้รับมอบภารกิจให้มาดูแลกิจการมูลค่ารวมกว่า 2 หมื่นล้าน
ทั้งชีวิตในตอนนี้จึงทุ่มเทให้กับงาน อันเป็นความสุขและความสนุกที่มีเรื่องให้ท้าทายได้ทุกวัน แม้จะมีคนรู้ใจแล้วก็ตาม แต่เขาก็ขอมุ่งมั่นทำงานก่อน
"ตอนนี้ผมสนุกกับงาน ช่วงเด็ก ๆ ผมอาจจะไม่ได้เป็นเด็กตั้งใจเรียน แต่นี่ก็อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่ผมจะได้พิสูจน์ตัวเอง ถ้าผมยังเหลาะแหละ เท่ากับว่าชีวิตสุดท้ายของผมอาจจะไม่มีค่าที่ทำประโยชน์ให้กับใครได้เลย จริงอยู่ที่ผมอยู่ได้แบบไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้าวันหนึ่งผมมีลูก ลูกถามว่าพ่อทำอะไร แล้วเราจะตอบลูกว่ายังไง กินเงินเก่าคุณปู่คุณย่าอย่างนั้นหรือ ผมว่ามันไม่มีความภาคภูมิใจ"
กรกฤชอธิบายต่ออีกว่า หลายคนอาจมองว่าเป็นธุรกิจของที่บ้าน แต่มันก็คือบทพิสูจน์หนึ่งในความสำเร็จของธุรกิจครอบครัว ถึงวันหนึ่งเราก็ต้องมีบทบาทที่เราเริ่มเองจากศูนย์ ซึ่งยังคงจะมุ่งเน้นธุรกิจออโต้เป็นหลัก
เพราะสิ่งที่พวกเราถนัดก็คือ ธุรกิจภาคการผลิต
"ผมกำลังมองเรื่องธุรกิจรีไซเคิล ผมอยากจะทำแบบครบวงจร แต่จากการศึกษาไม่ใช่ธุรกิจที่ทำง่าย ๆ เพราะจะต้องมีภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในการประมูลกล่องขยะ จึงต้องศึกษากันให้ดีก่อน"
ส่วนความสุขในการทำงานของหนุ่มไฟแรงสูงคนนี้ก็คือ ความสำเร็จแบบค่อยเป็นค่อยไป
"ผมมีความสุขกับการทำงานทุกวันนี้ คือ งานประสบความสำเร็จในแบบของเรา ไม่ใช่แบบที่ใคร ๆ เขามีกัน อาจจะนับจากสื่อที่ได้ลงหรือสร้างโรงงาน ความสำเร็จของผมอาจจะเป็นอะไรที่อยู่ใกล้ตัวก็ได้ วันนี้อาจจะมีโครงการเล็ก ๆ ค่อย ๆ แก้ปัญหาไปทีละเปลาะ ถ้าปัญหาลำดับที่ 1 ยังแก้ไม่ได้ ก็หันมาแก้ปัญหาลำดับที่ 2 ก่อน เป็นสิ่งที่เราแก้ไขได้"
สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นการสะสมความภาคภูมิใจให้กรกฤช โดยใช้หลักที่ว่า
"ไม่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาที่ยากที่สุดก่อน"
อีกหนึ่งผลงานที่เขายกให้เป็นความสำเร็จ คือ การได้เห็นได้ก้าวไปข้างหน้า ได้เป็นที่ยึดมั่นของลูกน้องและผู้บริหาร
ที่เดินเข้ามาหาเขา มองเห็นประโยชน์จากเขา รอให้เขามาตัดสินใจ รอคำปรึกษาจากเขา
นี่คืออีกหนึ่งบทพิสูจน์ความสำเร็จของเขา หลังจากเข้ามาดูแลกิจการกว่า 10 ปี เขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หมุนเวียนไปทำเกือบทุกแผนกในบริษัท กว่าจะได้ขึ้นแท่นเป็นไดเร็กเตอร์ก็ใช้เวลาหลายปี รวมถึงพิสูจน์ฝีมือจนเป็นที่ยอมรับได้ในปัจจุบันโดยอาศัยการสังเกตจากบิดาผู้เป็นไอดอลของเขา โดยเฉพาะการอ่อนน้อมถ่อมตนที่จะพิชิตใจคนได้หลายหมู่เหล่า และความเคารพที่พนักงานมอบให้ ส่วนหนึ่งเพราะได้อานิสงส์มาจากพ่อและแม่ที่ส่งผลมาถึงตัวเขาด้วย
"บางคนเป็นผู้ใหญ่ที่เราต้องให้ความเคารพนับถือเขาด้วยอีกส่วนหนึ่งเราก็เป็นเจ้านายเขา ก็ต้องแบ่งให้ถูกว่าโอกาสไหนจะใช้บทบาทใดเข้ามาดูแลคน พวกนี้ขึ้นอยู่กับศิลปะของแต่ละคน เพราะการบริหารคนไม่ได้มีแบบเดียว"
นักธุรกิจเลือดใหม่คนนี้ยังบอกว่า การบริหารคนก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน ในอดีตอาจจะต้องการคนที่เป็นผู้นำสูง มุทะลุ
มีพระเดชพระคุณอะไรแบบนั้น แต่ปัจจุบันการบริหารไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ผู้บริหารต้องเข้าใจ เป็นเพื่อนลูกน้องมากขึ้น และสามารถให้คำปรึกษาเป็นครูให้เขาได้ ไม่ใช่ใช้แต่อำนาจ
"ผมคิดว่าปัจจุบันคนเปลี่ยนงานมากกว่าในอดีต เพราะคนมีการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ใคร ๆ ก็เรียนจบอย่างน้อยปริญญาตรี คนมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น เราต้องให้เกียรติเขาเหมือนกับคนในครอบครัว มองว่าเขาเป็นผู้มีบุญคุณที่จะทำให้บริษัทเราเจริญเติบโตได้ ฉะนั้นเราต้องมาปรับทัศนคติเพราะการมองคนสักคนต้องเริ่มมองว่าเขาเป็นคนที่มีค่า แล้วค่อยมาปรับระดับกันว่าเราจะมีการดูแลเขาอย่างไรให้เหมาะสม บางคนชอบการดูแลโดยคำชม บางคนชอบเงิน บางคนชอบให้จ้ำจี้จ้ำไช บางคนพูดคำเดียวไม่ต้องไปยุ่งกับเขา"
แม้จะมีงานรัดตัวทั้งวางแผนนโยบายและกำหนดงบประมาณ รวมทั้งเดินทางไปพบปะลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ แต่ทายาทหนุ่มแห่งค่ายซัมมิทยังปลีกเวลาไปทำงานเพื่อสังคมสารพัดจะทำได้ตามแต่เวลาอำนวย หากไม่รวมการอุปการะเด็กปกติและเด็กพิการที่เขาส่งเสียเองจนเรียนจบปริญญา
หนุ่มคนนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นทายาทผู้ตามหาโรงเรียนที่พ่อและแม่รวมถึงพนักงานไปร่วมกันสร้างไว้เมื่อ 30 ปีก่อนจนพบ และเขาก็ได้สานต่อความตั้งใจเดิมของพ่อแม่ พัฒนาโรงเรียนในหลายส่วน
เช่นเดียวกับกรณีที่เขาเปิดตึกที่ว่างให้เป็นศูนย์พักพิงในช่วงวิกฤตมหาอุทกภัยปี 2554 เปิดรับคนเดือดร้อนที่ไม่มีที่ไป ทั้งคนและสัตว์ จัดเลี้ยงอาหาร 3 มื้อ จัดที่นอนติดแอร์พร้อมฟูกอย่างดีให้พัก จนได้รับฉายา "พ่อบุญทุ่ม" ลุยน้ำไปรับผู้เดือดร้อนด้วยตัวเอง ยังไม่รวมเงินที่หมดไปหลายล้านบาท แลกกับความชื่นใจที่ได้มอบน้ำใจให้กับคนอื่น
นับว่าเป็นลูกคนมีอันจะกินที่นึกถึงคนอื่นด้วยใจจริง แม้สังคมที่เขาอยู่จะไม่มีภาพวงเวียนชีวิตที่อนาถเฉียดกรายเข้าใกล้
แต่กรกฤชก็เป็นอีกคนที่ติดตามข่าวสารและดูละครดราม่า เพื่อดูชีวิตคนที่แตกต่าง
แม่จะสอนตลอดว่า ถึงเราจะมีเงินก็ไม่ได้หมายความว่า "เราต้องใช้มันให้หมด"
สิ่งนี้หล่อหลอมให้กรกฤชเป็นคนไม่ฟุ่มเฟือย ของราคาแพงที่สุดที่เขาซื้อเองก็คือ นาฬิกาข้อมือที่ใส่ติดมือ ยี่ห้อโรเล็กซ์ ราคาหนึ่งแสนแปดหมื่นบาท ส่วนรถยนต์มาเซราติที่ขับอยู่ตอนนี้แม่ก็เป็นคนซื้อให้ เพราะลูกชายไม่ยอมเปลี่ยนรถจากัวร์คันเดิมที่ใช้มา 4 ปี
อย่างไรก็ตาม ยังมีของที่เขาควักเงินซื้อเองมากที่สุด ก็คือ ไฟแช็ก ที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงไปเรียนเมืองนอก
นับกันคร่าว ๆ น่าจะมีเกิน 1 พันชิ้น
"มันเป็นของเล็ก ๆ ที่น่ารักดีและไม่ได้แพงอะไรมาก และเป็นของที่คนทั่ว ๆ ไปไม่ได้สนใจ ถ้าใช้เสร็จผมจะเก็บไว้กับตัวตลอดไม่วางทิ้งบนโต๊ะ ใครอยากจะยืมก็จุดให้"
จากนั้นกรกฤชได้ขนลังเก็บไฟแช็กทยอยลำเลียงมาวางบนโต๊ะ ซึ่งมีหลากหลายยี่ห้อที่เดินทางมาจากทั่วโลก
รูปร่างหน้าตาไม่ซ้ำกัน มีทั้งแบบกุ๊กกิ๊กน่ารักเป็นตัวการ์ตูน และแบบไฮโซระดับแชง ดูปองต์ก็มี แต่ส่วนใหญ่จะเป็นของมาจากญี่ปุ่นที่เขาเดินทางไปบ่อย
"ผมสะสมมาหลายสิบปีแล้ว การเก็บไว้ก็มีความสุขดีนะครับ ผมทำตู้โชว์ไว้แล้ว แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เรียงไว้ซักที เพื่อน ๆ ชอบแซวว่าถ้าไฟไหม้บ้าน ไฟแช็กผมจะตกเป็นผู้ต้องหาลำดับที่ 1 ทันที"
นอกเหนือจากสะสมไฟแช็กแล้ว เมื่อมีเวลาเขาจะไปลงเรียนคอร์สต่าง ๆ ล่าสุดได้ลงเรียนคอร์ส "หลักสูตรผู้ประกอบการแห่งอนาคต" (Future Entrepreneurs Forum : FEF) รุ่นที่ 1 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหาเวลาอยู่กับตัวเอง โดยการดูหนัง ฟังเพลง และเล่นเกม เป็นกิจกรรมโปรดที่เขาสามารถดูหนังเรื่องเดิมซ้ำได้นับ 10 รอบ อย่างหนังเรื่องโปรดคือ การ์ตูนมาดากัสการ์ และเรื่องอัพ ภาพยนตร์พวกนี้ช่วยให้เขาคลายเครียดได้ดี
และอีกหนึ่งเคล็ดลับที่ทำให้เขาหลับสบายโดยไม่ต้องแบกเรื่องงานกลับบ้านให้หนักสมองเพราะตัดเรื่องงานออกได้อัตโนมัติ
"ผมไม่พยายามบ่นเรื่องการทำงาน เพราะยิ่งบ่นยิ่งเครียด"
ขอบคุณภาพจาก
IG: korn_jurangkool
อัลบั้มภาพ 21 ภาพ