เปิดตำรา รู้ทันโรค “โรคมะเร็งอัณฑะ” ตอนที่ 1

เปิดตำรา รู้ทันโรค “โรคมะเร็งอัณฑะ” ตอนที่ 1

เปิดตำรา รู้ทันโรค “โรคมะเร็งอัณฑะ” ตอนที่ 1
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยัน “มะเร็งอัณฑะ” เกิดยาก และหากรู้เร็วจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตาม สาเหตุส่วนใหญ่นั้นเกิดจากความผิดปกติของลูกอัณฑะที่ยังค้างอยู่ในอุ้งเชิงกราน ไม่เคลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะ พร้อมแนะนำควรเข้ารับการตรวจลูกอัณฑะอย่างสม่ำเสมอ

หลังจากที่เน็ตไอดอลสาวประเภทสองอย่าง “เซ็กซี่ แพนเค้ก” ฉายาเซ็กซี่บ้านนา หรือ นายนิวัฒน์ แสงหม้อ อายุ 27 ปี เสียชีวิตลงท่ามกลางความโศกเศร้าของครอบครัว เพื่อนพ้องและเหล่าแฟนคลับ ด้วยโรค “มะเร็งอัณฑะ”

ทำให้หลายคนแสดงความเป็นห่วง และเกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่า มะเร็งอัณฑะเกิดขึ้นจากสาเหตุใด อะไรคือปัจจัยเสี่ยง และสามารถรับรู้ถึงความเสี่ยงต่อโรคนี้ได้อย่างไร

วันนี้ (16 พ.ค. 59) ทีมนิวมีเดีย PPTV HD 36 เชิญทุกท่านมา “เปิดตำรา รู้ทันโรค” ว่าด้วยเรื่องของ “มะเร็งอัณฑะ” ไปพร้อมกัน!

ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกกับทีมนิวมีเดีย PPTV ถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของ “โรคมะเร็งอัณฑะ” ว่า ส่วนใหญ่แล้วสาเหตุหลักเกิดจากลูกอัณฑะยังค้างอยู่ในอุ้งเชิงกราน ไม่เคลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะ หรือที่เรียกว่า ไข่ทองแดง ซึ่งพบการเกิดโรคมะเร็งอัณฑะได้สูงกว่าผู้ชายปกติ 10-40 เท่า นอกจากนี้ยังรวมไปถึงโรคผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้มีอัณฑะฝ่อ และติดเชื้อไวรัส เอชไอวี หรือโรคเอดส์ และปัจจัยทางพันธุกรรม แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัด เพราะโรคดังกล่าวเกิดขึ้นน้อยมาก

จากผลสำรวจพบว่า ในประเทศไทย ช่วงปี พ.ศ. 2544-2546 พบผู้ป่วยโรคมะเร็งอัณฑะ 0.6 รายต่อชาย ไทย 100,000 คนต่อปี นั่นหมายความว่า จะมีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 1 ต่อ 166,666 คน และมักพบในช่วงอายุ 15-35 ปี แต่ก็สามารถตรวจพบได้ทุกช่วงอายุ โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับอัณฑะเพียงข้างเดียว แต่มีส่วนน้อยเพียงร้อยละ 5 ที่จะเกิดขึ้นกับอัณฑะ ทั้ง 2 ข้าง

ศ.นพ.บรรณกิจ ยังระบุถึงอาการของโรคมะเร็งอัณฑะที่พบบ่อย คือ จับเจอก้อนเนื้อในอัณฑะ หรืออัณฑะโต แต่ไม่มีอาการเจ็บ , รู้สึกปวดหน่วงอัณฑะ , อัณฑะบวม หรือคล้ายมีน้ำอยู่ในถุงอัณฑะ และอาจรู้สึกเจ็บอัณฑะหรือถุงอัณฑะด้านที่ผิดปกติ

สำหรับสัญญาณเตือนในระยะแรกของโรคมะเร็งอัณฑะ จะเจ็บปวดที่ลูกอัณฑะอย่างเฉียบพลัน , มีบุตรยาก , รู้สึกหนักที่ลูกอัณฑะ , ลูกอัณฑะบวมโต , ปวดท้องอย่างเฉียบพลัน , ลูกอัณฑะแข็ง , เต้านมโตขึ้นคล้ายผู้หญิง

โรคมะเร็งอัณฑะเป็นโรคมีความรุนแรงต่ำหากเทียบกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ เพราะแม้มีโรคแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด แต่ก็ยังมี “โอกาส” รักษาให้หายได้โรคมะเร็งอัณฑะ จึงจัดแบ่งเป็นเพียง 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 โรคลุกลามอยู่เฉพาะในอัณฑะ ยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง

ระยะที่ 2 โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง

ระยะที่ 3 โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องร่วมกับมีสารมะเร็งในเลือดปริมาณสูง และ หรือโรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต ซึ่งเมื่อแพร่กระจายแล้วมักเข้าสู่ปอด และสมอง และ หรือมีโรคแพร่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองนอกช่องท้อง เช่น ต่อมน้ำเหลืองในช่องอก หรือเหนือกระดูกไหปลาร้า

ส่วนแนวทางการรักษาโรคมะเร็งอัณฑะ คือ การผ่าตัดอัณฑะเฉพาะด้านที่เกิดโรคทิ้ง ต่อจากนั้นแพทย์จะประเมินจาก ชนิดเซลล์มะเร็ง ระยะโรค และสุขภาพของผู้ป่วย เพื่อให้การรักษาต่อเนื่องต่อไป ซึ่งอาจเป็นการเฝ้าติดตามสังเกตอาการเป็นระยะๆ การฉายรังสีรักษาหรือการให้ยาเคมีบำบัด อย่างไรก็ตามสำหรับผลข้างเคียงจากการรักษา นอกจากการสูญเสียอัณฑะจากการผ่าตัดแล้ว ผลข้างเคียงอื่นๆไม่แตกต่างจากโรคมะเร็งชนิดอื่น

ทั้งนี้ การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งอัณฑะ ให้ได้ผล 100% นั้นเป็นไปไม่ได้ เมื่อดูจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆแต่มีการศึกษาระบุว่า การผ่าตัดแก้ไขภาวะอัณฑะไม่ลงมาอยู่ในถุงอัณฑะตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยรุ่นสามารถลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งอัณฑะลงได้

สุดท้าย ศ.นพ.บรรณกิจ แนะนำว่า ควรเข้ารับการตรวจลูกอัณฑะอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากเจอความผิดปกติของลูกอัณฑะ จะได้วินิจฉัยโรคและให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที รวมถึงผู้ปกครอง ควรสังเกตอัณฑะของบุตรหลานตั้งแต่เด็ก หากพบมีภาวะอัณฑะไม่เคลื่อนลงถุงอัณฑะ หรือคลำไม่พบอัณฑะในถุงอัณฑะ ควรนำเด็กพบศัลยแพทย์ เพื่อได้รับคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook