4 สารพิษในบ้าน อันตรายใกล้ตัว (สุดๆ)
ไม่เฉพาะอันตรายจากสารพิษ สารเคมี และสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม (นอกบ้าน) เท่านั้น แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ในบ้านอันแสนอบอุ่นของคุณนั่นแหละ ที่มีภัยเงียบจากสารเคมีนานาชนิดตกค้างอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ ในบ้าน ฝุ่นละออง ฯลฯ
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะ เพราะองค์การอนามัยโลก ถึงขนาดได้ออกมาประเมินว่า ในประเทศด้อยพัฒนา มลพิษจากอากาศภายในอาคารและบ้านเรือนริมถนน เป็นต้นเหตุสำคัญของโรคทางเดินหายใจ โรคปอด และโรคมะเร็ง ที่ทำให้คนตายรวมกันไม่น้อยกว่าปีละ 2 ล้านคนเลยทีเดียว (เสียวฝุดๆ)
มีอะไรบ้างล่ะที่เสี่ยง
1) ฟอร์มัลดีไฮด์ นอกจากสารพิษชนิดที่ดมแล้วได้กลิ่น อย่างสารปนเปื้อนคาร์บอนมอนนอกไซด์ที่ระเหยจากการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิง กลิ่นใหม่ๆ จากของใช้ในบ้านแล้ว ยังมี "กลิ่นฉุน" ที่แฝงตัวอยู่อย่างเงียบเชียบ นั่นก็คือเจ้าฟอร์มัลดีไฮด์ สารร้ายในบ้านนั่นเอง
เจ้าสารชนิดนี้ เป็นแก๊สไม่มีสี แต่มีกลิ่นฉุน เป็นสารประกอบของฟอร์มาลินที่ใช้ฉีดและดองศพ ถ้ามีสารนี้ เราจะสังเกตง่ายๆ ก็คือ เราจะรู้สึกแสบตา มึนหัว หายใจอึดอัด ภายในบ้านเราจะพบได้ในเฟอร์นิเจอร์ที่มีส่วนประกอบของไม้อัด สารต้านเชื้อราในกาวลาเท็กซ์ที่ใช้ประกอบเครื่องเรือน แล็กเกอร์เคลือบไม้ พรมปูพื้น สีทาบ้าน วอลล์เปเปอร์ ผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน ผ้าหุ้มเบาะโซฝา และเสื้อผ้าประเภทยับยาก ฟอร์มัลดีไฮด์ ทังหมดนี้ ล้วนเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งคนในบ้านเสี่ยงเมื่อสัมผัส
2) น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาทำความสะอาดเครื่องครัวบางชนิดมีโซดาไฟ เป็นส่วนประกอบซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อ เป็นพิษต่อร่างกาย ต่อมาคือสารเคมีที่ใช้ในการขจัดสิ่งอุดตันในท่อน้ำทิ้งมักเป็นสารอันตรายที่มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง รวมทั้งยังต้องหลีกเลี่ยงการสูดกลิ่นเหล่านี้ เพราะมีอันตรายรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีน้ำยาทำความสะอาดพื้นบ้าน ที่ปัจจุบันนี้ บ้านไหนก็ต้องมี ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นคือสารกลุ่มอัลคิล ฟีนอล อีธอกไซเลต ที่มีรายงานความเป็นพิษแบบเฉียบพลันของสาร NPE หากทาน สูดดม หรือสัมผัสในปริมาณความเข้มข้นสูงจะทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ตา และผิวหนังอย่างรุนแรง
3) มันมากับความหอม ใครๆ ก็ชอบใช่มั้ยล่ะความหอม ด้วยเหตุนี้ ในบ้านจึงมีผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำให้สิ่งต่างๆ หอมดั่งเนรมิต แต่เจ้าความหอมที่ว่า มักมีอันตรายแฝงมาเสมอ เริ่มจากสบู่เหลวกลิ่นต่างๆ ใครจะรู้ว่าภายใต้ความหอมละมุนในช่วงอาบน้ำนั้นจะเต็มไปด้วยสารเคมีสังเคราะห์ที่ใช้ผสมลงไปจนกลายเป็น "สบู่เหลวเทียม" ซึ่งสามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวแพ้ง่าย จนถึงขั้นเสี่ยงต่อมะเร็งในระยะยาว ในบางประเทศเขาห้ามหรือประกาศเตือนกันแล้วล่ะ แต่ไม่รู้ในบ้านเรายังมีการใช้สาร SLS (Sodium Lauryl Sulfate) และPEG (polyethylene Glycol) กันหรือเปล่า
ต่อไปคือผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นในห้องน้ำ ที่เมื่อสูดกลิ่นเข้าไปแล้วอันตรายอย่างแน่นอน แต่ที่มากกว่านั้นก็คือหากสัมผัสสารเหล่านี้บ่อยครั้งจะทำให้เกิดอาการคันและระคายเคืองต่อผิวหนัง คลื่นไส้ อาเจียน รวมทั้งยังเป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากน้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาซักแห้ง อโรมาเธอราปี ซึ่งบางคนอาจแพ้ ต้องรู้จักสังเกตและเลี่ยงใช้ผลิตภัณฑ์ที่แพ้ก่อนที่จะเกิดการสะสมพิษในระยะยาว
เพราะจริงๆ แล้วสารเคมีที่ให้กลิ่นหอมเหล่านั้น เคยมีการทดลองในสหรัฐฯ แล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ปล่อยสารระเหยอินทรีย์ออกมามากกว่า 20 ชนิด และ 7 ชนิด จาก 20 ชนิดตามกฎหมายถือเป็นสารอันตรายหรือเป็นพิษ ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง กลิ่นระเหยของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ไม่ได้ทำให้อากาศในบ้านหอมขึ้น แต่จะไปกลบกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นอับอื่นๆ ที่เราไม่ชอบ การหลีกเลี่ยงด้วยการเปิดห้องให้อากาศถ่ายเทน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า
4) อันตรายจากเทคโนโลยี โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ไมโครเวฟ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ นับเป็นเทคโนโลยีที่มีสารอันตรายปะปนอยู่ด้วยเสมอ ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ฯลฯ สารพิษนานาชนิดเหล่านี้ จะถูกปล่อยออกมาปะปนในอากษส โดยที่วัสดุสังเคราะห์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจะปล่อยสารเคมีหรือไอระเหยที่เป็นพิษนับร้อยชนิดสู่อากาศ ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ตามมา เช่น โรคภูมิแพ้ หอบหืด ระคายเคือง ไซนัส อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดต้นคอ ปวดศีรษะ เป็นต้น
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จำแนกสารอันตรายที่อยู่ในผลิตภัณฑ์อิล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เอาไว้ เช่น ตะกั่ว เป็นส่วนระกอบในการบัดกรีแผ่นวงจรพิมพ์ หลอดภาพรังสีแคโทด (CRT) เป็นต้น ผลกระทบจะทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ระบบโลหิต โดยเฉพาะเด็กจะมีผลกระทบต่อพัฒนาการสมองเนื่องจากเด็กสามารถดูดซึมตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่ 5 เท่า
แคดเมียม มักพบในแผ่นวงจรพิมพ์ ตัวต้านทาน แบตเตอรี่แบบชาร์จได้ ซึ่งสารเหล่านี้จะสะสมในร่างกาย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อไตและกระดูก ทำลายระบบประสาท ส่งผลต่อพัฒนาการและการมีบุตร ส่วน ปรอท มักพบในตัวตัดความร้อน สวิตซ์ และอุปกรณ์ให้แสงสว่างในจอภาพแบบแบน หากปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำจะสะสมต่อไปในห่วงโซ่อาหาร ส่งผลต่อสมอง ไต และอวัยวะต่างๆ และเป็นพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง
นอกจากนี้ ยังมีอันตรายจากสารพิษอื่นๆ ที่แฝงอยู่ในบ้าน จำเป็นที่เราต้องระมัดระวัง โดยหันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติให้มากขึ้น เพราะภัยอันตรายจากสารพิษเหล่านี้ ไม่ได้เกิดเพียงชั่วข้ามคืน ที่สำคัญยังมองไม่เห็น การป้องกันก่อนเกิดจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ที่มา : บ้านปลอดพิษ ชีวิตปลอดภัย โดย ผศ.ดร.พูลสุข ปรัชญานุสรณ์ สำนักพิมพ์มติชน (หน้าพิเศษ Hospital Healthcare)