8 คำถาม กับ ณัฐ ศักดาทร ชายผู้มีความเข้าใจความหลากหลายของโลกมนุษย์
1. รำลึกความหลังให้เราฟังหน่อยว่า ตอนที่คุณไปเรียนที่ฮาร์วาร์ด สังคมที่นั่นเป็นอย่างไร
ณัฐ : ต่างจากที่คนไทยหลายคนคิดโดยสิ้นเชิง เพราะระบบมหาวิทยาลัยไทย วัดกันที่คะแนนสูงๆ ถึงจะสอบติด แต่ระบบของที่โน่น คะแนนไม่ใช่ตัววัดทั้งหมด บางคนได้คะแนน SAT เต็ม ฮาร์วาร์ดไม่เอาก็มี เพราะเขาดูองค์ประกอบหลายๆ อย่าง เช่น ช่วงที่อยู่ไฮสกูลได้ทำกิจกรรมไหม เลือกเรียนวิชาอะไร หรือมีประสบการณ์อะไรที่น่าสนใจ ถ้าเอาแต่เรียนอย่างเดียวแล้วได้คะแนนเต็ม เขาจะไม่สนใจ ฉลาดอย่างเดียวดูจืดไป ซึ่งตอนผมเรียนไฮสกูลที่อเมริกา ผมเล่นละครเพลง เป็นนักร้องประสานเสียงของโรงเรียน ทำหนังสือรุ่น เป็นบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ เป็นเด็กกิจกรรมตัวยง พอเข้าไปอยู่ที่ฮาร์วาร์ดจริงๆ สิ่งที่ได้เจอคือ คนหลากหลายประเภท ไม่ใช่แค่หัวดีอย่างเดียว แต่ละคนจะมีแบ็คกราวนด์น่าสนใจ ทำให้เห็นความหลากหลายของมนุษย์ สิ่งสำคัญที่ผมได้จากฮาร์วาร์ดคือ ได้เรียนรู้ที่จะยอมรับ และชื่นชมในความแตกต่างของคนที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน มันมีสีสันที่ทำให้ผมเปิดหูเปิดตา และมองเห็นโลกกว้างขึ้น
2. แล้วกับบทบาทของนักแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Fathers ล่ะ ทำไมคุณถึงตกปากรับคำเล่นเรื่องนี้
ณัฐ : การเล่นหนัง เกือบจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ผมยังไม่เคยทำในวงการบันเทิง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากทำมานานแล้ว พอเขาติดต่อมาแล้วส่งบทตัวอย่างมาให้ ผมอ่านแล้วก็รู้สึกน่าสนใจ เป็นบทนำ และเป็นบทที่ดี แล้วนักแสดงที่เล่นด้วยกันก็เก่งๆ ทั้งนั้น มันเป็นโอกาสที่ดีของการเริ่มต้นในการแสดงหนัง ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือ ผมได้คุยกับผู้กำกับ มุมมองที่เขาอยากนำเสนอ คืออยากให้เห็นว่าหนังเพศที่สามไม่จำเป็นต้องมีเซ็กซ์มาเกี่ยวข้องก็ได้ อาจจะเป็นเรื่องราวปกติ เหมือนคนทั่วไป ซึ่งผมมองว่ามันเป็นสารที่ดี น่าจะชวนให้สังคมฉุกคิดในบางประเด็นได้
3. การเป็นนักเรียนนอก จบการศึกษาจากฮาร์วาร์ด มีโอกาสได้ใช้ชีวิตที่ต่างประเทศมาก่อน คุณอาจจะคุ้นเคยกับความหลากหลายทางเพศ ทำให้คุณมองเห็นช่องว่างในเรื่องสิทธิทางเพศระหว่างไทยกับต่างประเทศยังไงบ้าง
ณัฐ : ที่โน่นเขาให้ความสำคัญมากกับการให้เกียรติซึ่งกันและกัน อย่างที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สมมุติถ้ารู้ว่าใครเป็นเกย์ แล้วเราไปล้อเลียนเขา หรือใช้คำเหยียดที่บ่งบอกถึงรสนิยมทางเพศ ก็ํจะโดนมหาวิทยาลัยภาคทัณฑ์ได้ เพราะเขาถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของคนอื่น ขณะที่ในเมืองไทยเรายังเห็นคนพูดจาเหยียดเพศกันเป็นเรื่องปกติ โดยไม่มีใครทำอะไร ในมุมหนึ่งเมืองไทยดูเหมือนจะเปิดกว้าง เพราะเราก็เห็นคนที่อยู่ในเพศทางเลือกทำงานในวงการบันเทิงกันเพียบ แต่ที่ผมสังเกตเห็นคือ ส่วนใหญ่คนที่อยู่ได้จะอยู่ในเชิงเป็นคอเมเดี้ยน ต้องมีความตลก ให้คนรู้สึกบันเทิง แต่ในต่างประเทศในแต่ละวงการจะมีหลายคนที่เขาเปิดเผยสถานะหรือรสนิยมทางเพศ แล้วเขาก็ยังคงทำงานได้อยู่ โดยที่ไม่ต้องฝืนหรือพยายามทำอะไร โด่งดังโดยที่ไม่จำเป็นต้องทำตัวตลก เช่น ทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิ้ล เป็นต้น
4. Fathers น่าจะเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับเพศที่สามของไทยเรื่องแรก ที่มีการนำเสนอในมุมมองที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับครอบครัว โดยมีเด็กเข้ามาเกี่ยวข้องและมีบทบาทสำคัญ
ณัฐ : หลายๆ คนที่ทำหนังเกี่ยวกับเพศที่สามที่ผ่านมาจะเน้นไปทางเซ็กซ์ อาจจะไม่ใช่ทุกเรื่อง แต่ส่วนใหญ่เน้นไปทางนั้นจริงๆ ก็ต้องยอมรับ จนทำให้ภาพรวมของหนังเพศที่สามออกไปในเชิงนั้น เพิ่งมีช่วงหลังๆ ที่มีประเด็นอื่นๆ เข้ามา แล้วทำให้เห็นว่าเริ่มมีการนำเสนอหนังเพศทางเลือกเปลี่ยนไป ส่วนเรื่อง Fathers ด้วยการที่มีตัวละครเด็กอย่างที่ว่า ทำให้เป็นได้ทั้งหนังเพศที่สาม และหนังครอบครัว มันคือหนังรักที่สะท้อนอีกมุมหนึ่งของสังคม ถ้าเราไม่ไปโฟกัสว่าตัวละครนำเป็นเพศเดียวกัน มันก็คือหนังดราม่าอีกเรื่องหนึ่ง สุดท้ายดูแล้วสิ่งที่จะได้คิดคือ ครอบครัวของเพศทางเลือก ชีวิตประจำวันของพวกเขาก็เหมือนครอบครัวอื่น สมมุติใครที่กำลังคิดจะรับเด็กมาเลี้ยง ก็มีประเด็นต่างๆ ที่หนังเรื่องนี้บอกให้คุณคำนึงถึง เพราะจะมีการเปรียบเทียบว่าพอลูกโตขึ้น ลูกจะไปเจอเด็กคนอื่นๆ ที่เขาเติบโตมาจากครอบครัวที่มีพ่อกับแม่ ไม่ใช่พ่อกับพ่อ ก็จะเกิดความสงสัย เกิดคำถามมากมาย มันสะท้อนโลกของความเป็นจริงนะ
5. พอได้มาแสดงบทบาทแบบนี้ ทำให้เข้าใจคนที่เป็น LGBT มากขึ้นไหม
ณัฐ : ผมก็เข้าใจบริบทนี้อยู่ในระดับหนึ่ง เพราะเติบโตมากับสังคมที่ค่อนข้างหลากหลาย แต่พอมาเล่นเรื่องนี้ ก็ทำให้เข้าใจความสัมพันธ์แบบนี้กับการมีลูกเพิ่มขึ้น เมื่อก่อนอาจจะไม่ได้คิดถึงในมุมนี้ว่าเป็นยังไง โดยส่วนตัวที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็มีความเท่าเทียมกัน เป็นคนเหมือนกัน มีสิทธิ์ทุกอย่างเท่ากัน ไม่ได้มีเพศไหนที่เหมาะกับการล้อเลียน หรือการถูกเหยียดหยาม คนที่เหยียดหยามนั่นแหละคือคนที่น่าขำ
6. คุณอยากให้พลังของหนังเรื่องนี้ส่งแรงกระเพื่อมอะไรให้กับสังคม
ณัฐ : ถ้าเป็นในแง่ของวงการภาพยนตร์ ก็จะเห็นว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะหยิบจับเนื้อหาสะท้อนสังคมในแง่นี้ที่คนทั่วไปเสพได้มานำเสนอบ้าง ส่วนในแง่ของผู้บริโภคจะได้เห็นว่าครอบครัวมีหลายรูปแบบ ความรักมีหลายรูปแบบ มันไม่ได้ผิดที่จะเป็นแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็มีปัญหาที่ต้องเผชิญเหมือนกัน
7. ถ้าคุณมีลูก จะปลูกฝังเขาในเรื่องการเคารพสิทธิทางเพศของคนอื่นอย่างไรบ้าง
ณัฐ : ผมอยากให้เขามีเพื่อนหลายๆ แบบ เพื่อเขาจะได้เห็นว่าคนที่ต่างจากตัวเอง ไม่ได้แปลว่าผิดแปลก ความแตกต่างไม่ได้แปลว่าผิดหรือไม่ดี เขาควรจะได้เห็นความแตกต่างเยอะๆ จนเขามองว่าความแตกต่างคือธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลกนี้ แล้วให้เขาเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างเคารพซึ่งกันและกัน ผมอยากให้เขาเปิดกว้าง ไม่มองอะไรมุมเดียว ที่สำคัญอยากให้ลูกของผมเป็นคนที่เอาใจเขามาใส่ใจเราเสมอ เพราะผมรู้สึกว่าปัญหาหนึ่งของยุคนี้เกิดจากการไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา คนไม่พอใจอะไรก็รุมแฉ แล้วเคยคิดถึงชีวิตของคนที่ถูกแฉบ้างไหม ว่าเขาจะเป็นยังไง เขาจะทรมานแค่ไหน ทำไมต้องไปยุ่งกับชีวิตคนอื่นขนาดนั้น โลกนี้มีใครสมบูรณ์แบบเหรอ ชีวิตทุกคนมีเรื่องให้แฉอยู่แล้วก็จริง แต่เราไม่จำเป็นต้องแฉ ถ้าเราโดนแบบนั้นบ้างเราจะรู้สึกยังไง ผมว่าสังคมสมัยนี้ลืมในมุมนี้ไปแล้ว ถ้ามีลูกผมจะสอนให้เขาตระหนักในเรื่องนี้มากๆ
8. ตัวจริงของ ณัฐ ศักดาทร เป็นอย่างไร หากไม่มีกล้องจับ ไม่มีไฟส่อง ไม่ต้องถือไมค์
ณัฐ : เวลาคนเห็นผมในทีวีจะรู้สึกว่าเป๊ะจัง เพอร์เฟกชันนิสต์ แต่ในชีวิตจริงไม่ใช่แบบนั้น ผมสบายๆ ประมาณหนึ่ง ผมไม่ชอบใช้ชีวิตในรูปแบบที่ใครหลายคนอาจคิดว่าชีวิตไฮโซจะต้องเป็นแบบนั้น ไม่ต้องกินร้านหรู ไม่ต้องใช้ของแพง แล้วผมจะไม่ชอบคนที่เป็นแบบนั้นด้วย ชีวิตผมมีหลายอย่างให้ค้นหา ซึ่งผมก็ชอบที่จะลองอะไรหลายๆ แบบ เป็นคนเปิดกว้าง ชอบให้ชีวิตไปข้างหน้า และไม่ชอบใช้ชีวิตไปวันๆ
(ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ใน 247 Magazine ฉบับที่ 289)
Text - สิริญา ใจบุญ
Photo - กฤตธี อ้วนอร่ามวิไล