“เจ เจตริน” ผู้ชายสายย่อ กับจิตสำนึก “คิดถึงป่า”

“เจ เจตริน” ผู้ชายสายย่อ กับจิตสำนึก “คิดถึงป่า”

“เจ เจตริน” ผู้ชายสายย่อ กับจิตสำนึก “คิดถึงป่า”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ผมมีลูก ผมไม่อยากให้วันข้างหน้าลูกผมเห็น “ป่า”จากภาพถ่าย หรือภาพวาด”

ถ้ายังพอจำได้ วิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 แร๊ปเปอร์ตัวพ่อ  เคยรวมก๊วนเพื่อนๆ ขับเจ็ทสกีอพยพผู้ติดค้างออกจากพื้นที่น้ำท่วมหนัก ทำให้เขาเชื่อว่าต้นตอหนึ่งของปัญหาน้ำท่วมน่าจะเกิดจากต้นไม้ในป่าถูกตัดโค่นลงเรื่อยๆ

วันนี้… วันที่ปัญหาป่าไม้กลับมาเป็นกระแสสังคมอีกครั้ง ด้านหนึ่งคือการเปิดให้เห็นวิกฤตของผืนป่าหลายจุดทั่วประเทศ รวมไปถึง “ป่าภูฝอยลม” ป่าต้นน้ำแห่งเดียวของจังหวัดอุดรธานีที่กลายสภาพจากผืนป่าอันอุดม 2 แสนไร่ในอดีต ปัจจุบันเหลือพื้นที่ป่าไม่ถึง 2 หมื่นไร่ นับแล้วไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์

แม้เจ เจตริน จะเป็นคนนอกพื้นที่ แต่เพราะรู้สึกถึงความรับผิดชอบที่ต้องกระทำร่วมกัน จึงหารือกับเพื่อนสนิทซึ่งเป็นคนในพื้นที่และผู้ประสานงาน “คิดถึงป่า” โครงการคืนผืนป่าภูฝอยลม จากนั้นลงชื่อเป็นอาสาสมัครคนแรกโดยหวังเพียงปลูกต้นไม้ในจิตใจของผู้ที่คิดถึงป่าอย่างแท้จริง

คุณต้าร์ ผู้ประสานงานโครงการ “คิดถึงป่า” เล่าถึงที่มาที่ไปและแนวทางการปลูกป่าอย่างยั่งยืน

สีเขียวที่เห็นไม่ใช่ “ป่า” แต่คือ “เชื้อเพลิง”

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่ากลุ่มต้นไม้สีเขียวครึ้มที่เห็นเวลาไปเที่ยวคือ “ป่า” และความอุดมสมบูรณ์ โดยหารู้ไม่ว่าในบางพื้นที่นั่นไม่ใช่ “ป่า” เพราะเมื่อถึงหน้าแล้งต้นไม้เหล่านั้นจะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นเชื้อเพลิงพร้อมให้ไฟป่าเผามอดในเวลาอันรวดเร็ว สร้างความเสียหายมหาศาล

“ป่าภูฝอยลมตอนนี้ไม่มีไม้ยืนต้นประเภทป่าเบญจพรรณเหลือแล้ว ผลกระทบระยะยาวคือในอนาคตคนจังหวัดอุดรธานีจะไม่มีน้ำใช้ ตอนนี้ยังไม่ค่อยเห็นความเดือดร้อน แต่จริงๆ คือต้นน้ำมันเริ่มไม่มีแล้ว บางคนไปเที่ยวภูฝอยลมเห็นต้นไม้สีเขียวๆ แต่นั่นเป็นจุดท่องเที่ยวที่มีคนดูแล มีลำน้ำล้อม มีจุดกันไฟ แต่คนไม่เคยข้ามจากจุดนั้นไป ถ้าข้ามไปจะเห็นว่ามีตอไม้ดำๆ เต็มไปหมด”

“ปลูกป่า” ง่ายกว่า “รักษาป่า”

โครงการรณรงค์ปลูกป่าในบ้านเราที่ผ่านมามีเป็นพันโครงการ แต่ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ปลูกแล้วปล่อยให้ต้นไม้เติบโตตามธรรมชาติ ซึ่งไม่เป็นผลและไม่ทำให้เกิดป่าแบบยั่งยืน สำหรับโครงการคิดถึงป่ามุ่งหวังให้เป็นต้นแบบของการปลูกป่าอย่างยั่งยืนภายในระยะเวลา 1 ปีบนพื้นที่ 10 ไร่ของป่าภูฝอยลม

“ปลูกป่าใครๆ ก็ทำได้ แต่การดูแลป่าให้รอด ไม่ตาย ยากกว่า อย่างที่เราเห็นป่าส่วนใหญ่เขาไปขุดหลุมปลูก แล้วปล่อยทิ้งมันก็ตาย แต่จริงๆ เรื่องการดูแลสำคัญ ใช้งบประมาณ และมันไม่มีใครคอยติดตามผล แต่ที่เราจะปลูกต้นไม้คราวนี้ เรามีโมเดลปลูกป่าที่ได้จากวัดในพื้นที่ๆ สร้างป่าได้สำเร็จ แล้วเราอยากส่งต่อโมเดลนี้ให้กับทุกพื้นที่ๆ ต้องการสร้างป่าอย่างยั่งยืน”

2 โมเดลปลูกป่าจากแรงศรัทธา

ความล้มเหลวของการปลูกป่าคือการปลูกป่าโดยขาดการติดตามผล โครงการคิดถึงป่าไม่ต้องการซ้ำรอยเดิม คิดนำโมเดลปลูกป่าจากไอเดียพระสงฆ์และชาวบ้านในพื้นที่มาดำเนินการ หากได้ผลยังมองการณ์ไกลหวังให้ผู้สนใจนำไปเป็นโมเดลต้นแบบสร้างป่าทั่วประเทศ

“โมเดลปลูกป่าของโครงการนี้มี 2 แบบ แบบแรกคือเพียอินทร์โมเดล ชื่อโมเดลเอามาจากชื่อวัดถ้ำเพียอินทร์ เป็นการปลูกป่าแซมป่าเดิม แล้วขยายพื้นที่ป่าจากแนวกันไฟไปเรื่อยๆ ป่าเก่าจะบริบาลป่าใหม่ เช่นปลูกป่าใหม่ไป 40 เมตรแล้วทำแนวกันไฟเส้นหนึ่งไปเรื่อยๆ ยิ่งปลูกช่วงหน้าฝนแบบนี้ยิ่งดูแลง่าย แต่ถ้าฝนไม่ตกก็เอารถน้ำไปรด 2 อาทิตย์ครั้ง

อีกโมเดลเป็นของวัดดอยน้ำจั้น ต้องเคลียร์พื้นที่ให้โล่ง แล้วไถกลบ วางระบบน้ำเหมือนทำไร่ วางแผนการปลูกต้นไม้ ใช้ต้นกล้วยหอมเข้ามาดูแลต้นไม้ให้โตแข่งกัน โมเดลนี้ลงทุนเยอะ เหมาะสำหรับป่าที่พื้นที่เดิมเป็นหญ้าคาล้วนๆ”

ปลูกป่าในใจ แม้ไม่ใช่คนในพื้นที่

การปลูกและดูแลรักษาป่าไม่ใช่ภาระสำหรับใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ทุกคนต้องร่วมกันดูแลรักษา ไม่ว่าจะเป็นคนกรุงเทพฯ หรือคนนอกพื้นที่ เจ้าพ่อเพลงแร๊พคนนี้ก็รู้สึกว่าเราควร “เกรงใจ” ที่ต้องให้บางพื้นที่ดูแลผืนป่าเหล่านั้นเพียงลำพัง

“จริงๆ ผมคิดมาตลอดไม่ว่าน้ำท่วม น้ำแล้ง ปัญหาเหล่านี้มาจากป่าทั้งนั้น ตัวผมมีจิตสำนึกพอ เราได้รับการเตือนเรื่องน้ำท่วม น้ำป่า ตอนน้ำท่วมใหญ่ คนทั่วไปพยายามกันไม่ให้น้ำเข้ากรุงเทพฯ เราก็เกรงใจชาวบ้าน คนต่างจังหวัด เขาก็เดือดร้อน ตอนนี้น้ำแล้ง เขาก็เตือนให้ประหยัดน้ำ แต่ผมเห็นเปิดใช้กันเต็มที่ ไม่แคร์กัน ผมแค่รู้สึกว่ามันไม่แฟร์กับพวกเขา”

“แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ผมมั่นใจในพาร์ทเนอร์ของผม เราเป็นแค่จุดเล็กๆ แต่เราคาดหวังความยิ่งใหญ่ของโมเดล ถ้าเราทำสำเร็จภายใน 1 ปี เราจะรีบเอาโมเดลนี้ไปให้ทีมอื่นดู ตอนนี้มีหลายทีมประกาศทำ ใครทำตรงไหนได้ทำเลย มันไม่ใช่เรื่องการแข่งขัน ไม่มีรางวัลการปลูกป่า และเราหวังว่าคนที่ร่วมโครงการคิดถึงป่าจะเรียนรู้โมเดลนี้แล้วไปบอกต่อ”

“ผมฝากทุกคนที่มีจิตสำนึกอยากปลูกป่า ให้มาร่วมด้วยช่วยกันปลูกป่าอย่างจริงจังและเรียนรู้กลับไป เราจะเป็นเหมือนปิรามิด ผมจะเป็นก้อนดินในปิรามิดนั้นด้วย ผมปลูกต้นไม้ไม่เป็น แต่เราจะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ทุกคนที่มาร่วม “โครงการคิดถึงป่า” เราจะเริ่มต้นเท่าๆ กัน เรามาเป็นก้อนดินที่จะต่อเป็นปิรามิดไปพร้อมๆ กัน” ในวันที่ 6-8 กรกฎาคม ที่อุดรฯ

ช่วยกันปลูกต้นไม้คนละต้น ด้วยการสมทบทุนผ่านเว็บไซต์ https://taejai.com/projects/คิดถึงป่า ได้จนถึงวันที่เราจะเดินทางคือ 6 กรกฎาคมนี้

ขอบคุณคุณต้าร์ จากเพจกองบุญกับพี่ต้าร์ผู้ให้ข้อมูลโครงการคิดถึงป่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook