เสิร์ชชีวิต “เบน คิง” หัวเรือใหญ่ Google Thailand

เสิร์ชชีวิต “เบน คิง” หัวเรือใหญ่ Google Thailand

เสิร์ชชีวิต “เบน คิง” หัวเรือใหญ่ Google Thailand
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชื่อของ “เบน คิง” (Ben King) เริ่มปรากฏให้เห็นในสื่อต่างๆ ตั้งแต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา หลังจากที่หนุ่มออสเตรเลียคนนี้เข้ามารับตำแหน่ง Country Head ของ Google Thailand ตำแหน่งใหญ่ที่คนในแวดวงออนไลน์และธุรกิจรอลุ้นกันมาหลายเดือนว่าใครจะเป็นคนรับหน้าที่สำคัญนี้

ด้วยวัยเพียง 33 ปีของเบน ทำให้หนุ่มร่างสูงคนนี้ขึ้นแท่นเป็นหัวหน้าระดับประเทศที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่งของ Google ซึ่งมีออฟฟิศอยู่ในหลายสิบประเทศทั่วโลก Sanook! จึงเชื่อว่าภายใต้บุคลิกที่ดูดี เป็นกันเอง ของผู้ชายคนนี้ต้องมีอะไรที่น่าสนใจและรอให้เราทำความรู้จักมากกว่าข้อมูลที่ได้จากการพิมพ์ชื่อของเขาลงไปในกล่องค้นหาของ Google



ถึงแม้เบนจะเพิ่งเริ่มงานที่ออฟฟิศบนชั้น 14 ของตึกปาร์ค เวนเชอร์ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2558 แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเบนกับเมืองไทยไม่ใช่คนแปลกหน้าที่เพิ่งรู้จักกัน เพราะเบนเล่าให้ฟังว่า ตลอดช่วง 12 ปีที่ผ่านมา เขาและภรรยาเดินทางมาเมืองไทยเป็นประจำในฐานะนักท่องเที่ยว ตั้งแต่สมัยยังทำงานอยู่ที่ออสเตรเลียจนกระทั่งย้ายมาประจำที่สิงคโปร์ โดยทั้งคู่ถูกใจเมืองไทยถึงขนาดที่เลือกเกาะพีพีเป็นสถานที่จัดพิธีหมั้นเล็กๆ ของเขาและภรรยาเมื่อ 7 ปีที่แล้ว
ความสัมพันธ์ระหว่างเบนและเมืองไทยยิ่งใกล้ชิดมากขึ้น เมื่อเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม Google Thailand เมื่อปี 2556 ในฐานะ Head of Sales และประจำอยู่ที่นี่ 1 ปี จากนั้นเขาย้ายไปที่สิงคโปร์อีก 1 ปี โดยครั้งนี้เขารับหน้าที่คุมงานด้านเซลส์ของ Google ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนจะมารับตำแหน่งปัจจุบันและเรียกประเทศไทยว่าเป็น “บ้าน” อีกหลังของเขาอย่างทุกวันนี้

“การทำงานที่ออฟฟิศ Google ประจำประเทศไทยครั้งนี้มีทั้งเรื่องที่แตกต่างไปจากเดิมและเหมือนเดิม ผมมองว่าความแตกต่างส่วนใหญ่น่าจะเป็นเรื่องของวงจรการทำธุรกิจมากกว่า ครั้งแรกที่ผมมาทำงานที่นี่ การทำงานของเรายังมีความเป็นสตาร์ทอัพอยู่พอสมควร เพราะ Google เพิ่งตั้งออฟฟิศในเมืองไทยได้ไม่นาน แต่มาคราวนี้ ลักษณะธุรกิจและการทำงานของเรามีรายละเอียดมากขึ้น มีวิสัยทัศน์ในการทำงานที่ชัดเจน เพราะเราพยายามทำความเข้าใจบริบทของเมืองไทยและนำข้อมูลที่เรียนรู้ นำความเข้าใจนั้นมาใช้ในการวางแผนการทำงาน” เบนพูดถึงข้อแตกต่างที่เขาสังเกตได้



ส่วนสิ่งที่เหมือนเดิมนั้น เขาบอกว่าเป็นเรื่องของจิตวิญญาณของทีมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และความพยายามที่จะพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งโดยมีข้อมูลและความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นฐานในการคิดและวางแผน

ก่อนจะมาร่วมงานกับที่นี่ เบนเคยอยู่ในสายงานโฆษณาและเคยทำงานให้กับ Microsoft มาก่อน ปีนี้เป็นที่ 5 ของการเป็นพนักงาน Google เราจึงอยากรู้ว่า 5 ปีที่ผ่านมานั้น มีอะไรที่เขาได้เรียนรู้จากการเป็นเฟืองสำคัญตัวหนึ่งในองค์กรนี้บ้าง

“การทำงานกับ Google สอนผมว่า ทุกสิ่งเป็นไปได้ แต่ในขณะเดียวกันผมก็ได้เรียนรู้ว่าเราไม่สามารถจะทำทุกอย่างพร้อมกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราตั้งเป้าหมายที่ดูไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเชื่อมั่นว่ามันจะเกิดขึ้นได้ และพยายามโฟกัสกับสิ่งนั้น ตั้งใจทำมันให้ดี ทุกอย่างก็เป็นไปได้ทั้งนั้น” เบนเล่าถึงสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการทำงาน



แต่ละวันของเบนมักจะเริ่มต้นประมาณ 7 โมงเช้า หลังจากออกกำลังกายประมาณครึ่งชั่วโมงอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์แล้ว เขามักจะใช้เวลาช่วงหลังจากนั้นติดต่อเรื่องงานทางโทรศัพท์ก่อนจะเข้าออฟฟิศช่วงสาย บ่อยครั้งที่เขาจะทำงานที่บ้านต่อจนถึงดึก

“ผมยอมรับว่าช่วงนี้ผมทำงานค่อนข้างหนัก แต่ผมมองว่านั่นคือภาพสะท้อนให้เห็นว่าผมรักในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ทุกวันนี้ เพราะผมมีความสุขในการทำงาน มันคือการที่ผมเลือกจะใช้เวลาแบบนี้และมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองเลือก” เบนเล่าถึงการใช้เวลาของเขา นอกจากนี้ เบนยังแบ่งเวลาสัปดาห์ละครั้งสำหรับคลาสภาษาไทยของเขา โดยให้สัญญากับทีมงานของเขาไว้ว่า ในงานเลี้ยงสิ้นปีของบริษัท ทุกคนจะได้ฟังเขาร้องคาราโอเกะเป็นเพลงไทย 1 เพลง

การมี passion ในการทำงานเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เบนสนุกกับการทำงาน เขารู้สึกว่าการเป็นส่วนหนึ่งของ Google หมายถึงการที่เขาได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้กับชีวิตคนอีกมาก ทั้งยังเป็นการร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของยุคดิจิทัลผ่านทางบริการต่างๆ ของ Google ทั้งที่มีอยู่และที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย



ความมุ่งมั่นและแรงขับดันในการทำงานของผู้ชายคนนี้ดูเหมือนจะเกินคนที่อยู่ในวัยเดียวกันจำนวนมาก จึงไม่น่าแปลกใจว่าเมื่อเราให้เขาพูดถึงลักษณะนิสัยในการทำงานของตัวเอง คำที่เขาใช้อธิบายตัวเองคือ เป็นคนจดจ่อกับงานที่ทำ มีแรงผลักดันตัวเองสูง มีพลังในการทำงานมาก และซื่อสัตย์ในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว

“ถ้าถามเพื่อนๆ ว่าผมเป็นคนยังไง เพื่อนก็คงบอกว่าผมเป็นคนจริงจัง แต่เอาจริงเราก็ไม่มีทางรู้หรอกว่าคนอื่นมองเราอย่างไร สิ่งที่ผมบอกว่าตัวเองเป็นที่จริงแล้วมันอาจจะหมายถึงสิ่งที่ผมอยากเป็นให้ได้ อยากทำให้ได้ก็ได้” เบนพูดด้วยท่าทีสบายๆ

เช่นเดียวกับคนเก่งอีกมาก เบนเองก็มีคนเก่งในสายตาเขาที่เบนยกให้ป็นไอดอลและเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน แต่สิ่งที่อาจจะแตกต่างไปก็คือไอดอลของคนที่อยู่ในโลกธุรกิจอย่างเต็มตัวแบบเขาล้วนเป็นคนเก่งที่มาจากแวดวงกีฬาทั้งนั้น

“แรงบันดาลใจของผมไม่น้อยมาจากเรื่องกีฬา ผมชอบดูกีฬามาก โดยเฉพาะคริกเก็ต อเมริกันฟุตบอล และบาสเก็ตบอล NBA เรียกว่าติดตามกีฬาพวกนั้นเข้าขั้นเลื่อมใสเลยดีกว่า เพราะฉะนั้นฮีโร่ของผมจึงมาจากกีฬาพวกนี้ เพราะผมชอบในความไม่ยอมแพ้และความพยายามที่จะพัฒนาตัวเองให้ถึงขีดสุดของพวกเขา ฮีโร่คนแรกคือ ทอม เบรดี้ (Tom Brady) เขาเป็นควอเตอร์แบ็กของทีม The Patriots เขาเคยเป็นนักกีฬาที่ไม่ใช่ตัวสำคัญของทีมมาก่อน แต่เขาก็ไม่เคยยอมแพ้จนตอนนี้เขาคือควอเตอร์แบ็กที่ดีที่สุดในโลกคนหนึ่ง” เบนเล่าถึงไอดอลคนแรกของเขา

คนต่อไปคือ ไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) ตำนานของวงการบาสเก็ตบอล ซึ่งเบนบอกว่าก็คงเหมือนกับคนที่โตมาในยุคเดียวกันกับเขาอีกหลายคนที่ชื่นชมความพยายามและความสามารถอันโดดเด่นของนักกีฬาคนนี้ อีกคนคือ สตีฟ โวฮ์ (Steve Waugh) นักกีฬาคริกเก็ตชาวออสเตรเลียที่เบนชื่นชมเขาทั้งในความเป็นนักกีฬาและความเป็นมนุษย์

เมื่อพูดถึงคริกเก็ต เบนบอกกับเราว่ามันเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาคิดถึงออสเตรเลีย เพราะเป็นกีฬาที่เขาเคยเล่นตั้งแต่เด็กจนกระทั่งถึงเมื่อปีก่อนที่เขายังทำงานที่สิงคโปร์ อีกสิ่งก็คือกาแฟ เพราะกาแฟและคาเฟ่คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของคนออสเตรเลีย โดยเฉพาะในซิดนีย์ที่เป็นบ้านเกิดของเขา



“แต่ทุกวันนี้กรุงเทพฯ มีร้านกาแฟดีๆ เยอะมาก โดยเฉพาะแถวทองหล่อ จริงๆ แล้วเรื่องร้านกาแฟนี่เป็นสิ่งที่ผมสังเกตได้ถึงความแตกต่างเมื่อเทียบกับตอนที่มาประจำอยู่กรุงเทพฯ เมื่อครั้งก่อน เพราะมีร้านกาแฟดีๆ เพิ่มขึ้นเยอะมาก” เบนสนุกที่จะพูดถึงเรื่องนี้เพราะหนึ่งในกิจกรรมที่เขามักจะทำในวันหยุดพร้อมกับภรรยาลูกครึ่งออสเตรเลีย-เกาหลีที่เป็นนักข่าวและผู้ประกาศข่าวทางโทรทัศน์ ก็คือการใช้เวลาตามร้านกาแฟดีๆ และร้านอาหารอร่อยๆ ซึ่งเขามองว่ามันคือสีสันอย่างหนึ่งของการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เพราะเป็นเมืองที่มีร้านหรือสถานที่เด็ดๆ ที่รอให้เขาค้นพบอีกมาก

อย่างไรก็ตาม บางอย่างในออสเตรเลียก็ไม่สามารถหาได้ในเมืองไทยหรือประเทศใกล้เคียง นั่นคือ ครอบครัวและเพื่อนของเขาที่ออสเตรเลีย



“ถ้าอยากเล่นคริกเก็ตมากจริงๆ ผมก็คงไปเล่นที่สิงคโปร์ได้ หรือเรื่องกาแฟนี่ก็อย่างที่บอกว่ากรุงเทพฯ มีร้านกาแฟดีๆ หลายร้าน แต่ครอบครัวและเพื่อนเป็นสิ่งที่ผมคิดถึงเสมอ กับกลุ่มเพื่อนที่สนิทมาก ผมจะพยายามจัดเวลาให้ได้เจอกับพวกเขาอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง ไม่ว่าผมจะทำงานอยู่ที่ประเทศไหนก็ตาม และสำหรับครอบครัวของผม ผมเป็นลูกคนเล็กในบรรดาพี่น้องทั้ง 4 คน ผมมีหลานๆ อีก 8 คนที่ผมคิดถึงเช่นกัน อีกคนที่ผมคิดถึงมากก็คือแม่ ผมค่อนข้างสนิทกับแม่มาก เพราะฉะนั้นผมจะคุยกับแม่และพี่ๆ เป็นประจำ” เบนเล่าถึงคนสำคัญในชีวิตของเขา

มาถึงตรงนี้ เราอดถามไม่ได้ว่า เวลาคุยกับคนเหล่านี้ เขาคุยผ่าน Google Hangouts ที่เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทหรือเปล่า

เบนหัวเราะเมื่อได้ยินคำถามนี้ ก่อนจะตอบว่า “ขึ้นอยู่กับคนอื่นเลยว่าเขาอยากคุยผ่านทางไหน ผมคุยได้หมด ถ้าคุยกับแม่ ส่วนใหญ่จะโทรคุยกัน หรืออีเมล์หากันบ้าง แต่ถ้าคุยกับเพื่อน ถ้าพวกเขาอยากจะใช้ Google Hangouts ผมก็ใช้ Google Hangouts แล้วแต่เขาเลย”

ข้อมูลนี้ไม่มีใน Google
3 ผลิตภัณฑ์ของ Google ที่เบน คิงใช้บ่อยที่สุดในชีวิตประจำวัน ได้แก่ Google Search, Google Maps และ YouTube โดย 2 อย่างแรกนั้น เบนบอกว่าช่วยได้เต็มๆ สำหรับคนที่เพิ่งย้ายมาอยู่เมืองไทยได้ไม่นานอย่างเขาและต้องการทำความรู้จักสิ่งต่างๆ ให้มากขึ้น ส่วน YouTube นั้นที่ถูกใจเขาเป็นพิเศษก็คือฟีเจอร์ออฟไลน์ที่ช่วยให้ความบันเทิงได้แม้ในเวลาที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต เหมาะกับคนที่เดินทางบ่อยแบบเขา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook