เรื่องของ 'จูบ' ที่ยิ่งรู้ยิ่งจูบอร่อย

เรื่องของ 'จูบ' ที่ยิ่งรู้ยิ่งจูบอร่อย

เรื่องของ 'จูบ' ที่ยิ่งรู้ยิ่งจูบอร่อย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

• Kiss หรือ จูบ มีรากศัพท์มาจากภาษาอังกฤษโบราณว่า Cyssan

• มีมากมายหลายความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ในการจูบ ทั้งเป็นการแสดงความรัก ความหลงใหลคลั่งไคล้ ความต้องการทางเพศ ความเคารพ การทักทาย ความสัมพันธ์ และสันติภาพ

• ข้อถกเถียงเกี่ยวกับประวัติของการจูบยังคงมีอยู่ตราบปัจจุบัน หนึ่งในข้อมูลที่ปรากฏ คือ การจูบเกิดขึ้นจากสายใยรักของแม่และทารกน้อยตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ

• แม้แต่ในอารยธรรมอินเดียที่เป็นอารยธรรมที่ยืนยาวที่สุดบนโลก ก็ปรากฏการจูบ โดยในอินเดียยุคนั้นการจูบจะมีการสัมผัสที่ปลายจมูกไปด้วย ซึ่งพบหลักฐานที่ว่านี้ในมหากาพย์มหาภารตะ

• ส่วนในกรีกโบราณก็มีการจูบเพื่อสันติในหมู่ทหาร

• พอเข้ามาสู่ยุคโรมัน การจูบเริ่มมีความหลากหลายขึ้น โดยการจุมพิตในสมัยโรมันโบราณมี 3 รูปแบบ คือ Basium เป็นการจุมพิตระหว่างคนรู้จักคุ้นเคย Osculum ระหว่างเพื่อนสนิท และ Suavium ระหว่างคู่รัก

• การศึกษาเรื่องจูบเกิดขึ้นอย่างจริงจังในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 เรียกศาสตร์นั้นว่า Philematology มีบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์หลายท่านที่เคยศึกษาศาสตร์นี้ ได้แก่ Cesare Lombroso ศาสตราจารย์ด้านอาชญวิทยาชาวอิตาเลียน, Charles Darwin นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ, Edward Burnett Tylor นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับการจูบล้วนถูกเรียกว่า Osculologist

• ระหว่างที่จูบ มีประสาทสัมผัส 3 อย่างที่ถูกใช้งาน อย่างแรกที่เห็นเด่นชัดคือ การสัมผัส ถัดมาคือ การลิ้มรส และสุดท้ายเป็นเรื่องของกลิ่น

• การจูบในรูปแบบของความรู้สึกรักระหว่างหนุ่มสาวเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในวรรณกรรมกรีก และได้กลายมาเป็นรูปแบบภาษาสัมผัสสื่อสารสากลในยุคกลาง แต่จะเป็นการทักทายที่เป็นทางการเฉพาะทางฝั่งตะวันตกเท่านั้น วัฒนธรรมตะวันออกยังไม่ยอมรับการจูบเป็นการทักทายทั่วไป

• บางวัฒนธรรมในสังคมตะวันตกมีการจูบตามเทศกาล เช่น จูบในวันปีใหม่ โดยจะจูบกันข้ามคืนตั้งแต่คืนก่อนปีใหม่ข้ามมาจนถึงศักราชใหม่

• เห็นการจูบได้บ่อยครั้งในพิธีกรรมแต่งงานของฟากฝั่งตะวันตก ซึ่งการจูบในพิธีแต่งงานของคู่บ่าวสาวนั้น นอกเหนือจากประเด็นเรื่องความรักแล้ว ยังมีความเชื่อเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเชื่อว่าการจุมพิตในวันแต่งงานเป็นการถ่ายทอดวิญญาณให้แก่กันและกัน เพื่อรวมสองชีวิตให้เป็นหนึ่งใจ

• พลังของการจูบถูกสำแดงฤทธิ์มากมายในวรรณกรรมคลาสสิกต่างๆ เช่น นิทานเรื่องโฉมงามกับเจ้าชายอสูร นักประพันธ์กำหนดให้การจูบเป็นสื่อของพลังรักที่เปลี่ยนให้อสูรกลายร่างเป็นเจ้าชายได้ พูดง่ายๆ คือ การจูบเปรียบดั่งพลังของฝ่ายดีที่ใช้ปราบอธรรมได้

• การจูบถูกพ่วงติดกับศาสนา โดยเฉพาะกับศาสนาคริสต์และอิสลามนั้น การจูบเป็นการแสดงความเคารพพระผู้เป็นเจ้าทางจิตวิญญาณ จนเป็นที่มาของคำว่า Holy Kiss ก่อนที่จะพัฒนาเป็นการจูบเพื่อสันติในยุคกลางของยุโรป โดยเป็นการจูบของกองพลในกองทัพ ปัจจุบันการจูบ Holy Kiss ยังคงมีอยู่ในพิธีกรรมทางศาสนา ในขณะที่การจูบเพื่อสันติกลับไม่ปรากฏแล้ว

• สำหรับผู้ที่เป็นคริสเตียนและออร์โธดอกซ์แล้ว การจูบถือเป็นพิธีกรรมที่สำคัญ

• ในตะวันออกกลางซึ่งเป็นดินแดนมุสลิม จะไม่นิยมการจูบ การจูบจะได้รับการยกเว้นเฉพาะในเรื่องศาสนาเท่านั้น และในบางประเทศ อย่าง อิหร่าน หากผู้ชายจูบผู้หญิงที่ไม่ใช่ภรรยาของตนจะมีบทลงโทษทางกฎหมาย

• การจูบถูกพ่วงกับความเชื่อ โดยที่ประเทศไอร์แลนด์ ทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวกว่า 4 แสนคนพากันไปจูบหินบลาร์นีย์ เนื่องจากมีความเชื่อว่า หากงอตัวลงไปจูบบนหินได้ จะมีโชคทางด้านวาทศิลป์ นั่นเป็นผลพวงให้สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ขึ้นชื่อว่า เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ถูกสุขอนามัยที่สุดในโลก

• การจูบมือ เป็นการสื่อสัมผัสด้วยภาษากายที่สุภาพเรียบร้อยที่สุด เป็นการให้เกียรติที่บุรุษพึงกระทำต่อสุภาพสตรี คาดว่าแหล่งกำเนิดของการสื่อสารในรูปแบบนี้อยู่ในประเทศโปแลนด์ และสเปน ก่อนที่จะเผยแพร่สู่ยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออกอย่างไรก็ดี วัฒนธรรมการจูบมือนั้นเริ่มเลือนลางไปจากสังคมยุคใหม่แล้ว จะยังหลงเหลืออยู่บ้างในคริสต์ศาสนา เป็นการแสดงความเคารพต่อองค์สันตปาปา พระคาร์ดินัล และบาทหลวงทั้งหลาย นอกจากนี้ยังพบเห็นในประเทศตุรกี มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ แต่จะพบการแสดงออกเช่นนี้ในกลุ่มคนสูงวัย ซึ่งในบางครั้งหลังจากการจุมพิตที่หลังมือ ยังพบว่าฝ่ายชายมีการยกมือของฝ่ายหญิงขึ้นจรดหน้าผาก สื่อถึงการให้เกียรติยิ่งขึ้นไปอีก

• นอกจากจะเป็นการทักทายแล้ว การจุ๊บแก้มยังเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่น เป็นการแสดงออกถึงความโรแมนติก และในบางบริบทอาจหมายถึงความเคารพอีกด้วย คนยุโรปจะนิยมจูบแก้มกันมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะยุโรปตอนใต้ ตอนกลาง และตะวันออก ในดินแดนแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนก็นิยม รวมถึงในละตินอเมริกาด้วย แต่พอข้ามมาฝั่งแคนาดา อเมริกาบางส่วน และยุโรปเหนือจะไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไหร่ คาดกันว่าการจูบแก้มนั้นมีจุดกำเนิดจากความรักในครอบครัว ก่อนที่จะกระจายไปสู่การกระชับความสัมพันธ์ในหมู่เพื่อนและคนรัก

• การจูบหลังความตาย เป็นการจูบเพื่อแสดงความเคารพรักผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย โดยผู้จูบจะบรรจงจูบที่หน้าผาก หรือไม่ก็ที่เท้า หรืออวัยวะส่วนอื่นที่แสดงถึงความรัก

• การจูบแบบแลกลิ้น หรือ French Kiss สามารถส่งผ่านอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างดี เนื่องจากที่ลิ้นของคนเรามีเส้นประสาทอยู่มากมาย ทำให้การจูบมักถูกใช้เป็นเครื่องกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ โดยผู้ที่ศึกษาในเรื่องจูบมีความเห็นว่าการจูบในลักษณะนี้น่าจะเลียนแบบมาจากการดูดนมแม่ของบุตร และที่เรียกว่า French Kiss ก็เพราะปรากฏรูปแบบการจูบเช่นนี้ในช่วงเริ่มต้นของคริสตศตวรรษที่ 20 ในประเทศฝรั่งเศส โดยพบว่าที่ประเทศฝรั่งเศสมีศัพท์บัญญัติเกี่ยวกับการจูบในลักษณะนี้ก่อนใครเพื่อน

• สัญลักษณ์ XOXO แปลว่าจูบ ซึ่งสัญลักษณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยุโรปยุคกลางแล้ว

• มีกุศโลบายห้ามจูบเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 6 แห่งอังกฤษ หรือเมื่อปี ค.ศ.1439 เนื่องจากในช่วงนั้นเกิดโรคระบาดอย่างหนักในเมืองผู้ดี พระเจ้าเฮนรี่จึงสั่งห้ามไม่ให้มีการจูบเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคร้ายนั่นเอง

• ทุกครั้งที่เกิดการจากลาบริเวณชานชาลารถไฟมักลงเอยด้วยการจูบ ทว่าประเทศที่เป็นต้นแบบเรื่องการจูบอย่างฝรั่งเศสก็เคยห้ามไม่ให้จูบบริเวณลานรถไฟมาแล้ว เพราะทำให้เกิดความขัดข้องในขณะปฏิบัติงาน เนื่องจากผู้คนจูบกันจนทำให้รถไฟออกไม่ตรงเวลาเลยน่ะสิ

• ในอดีตเคยมีกฎของทางกลุ่มผู้ตรวจพิจารณาภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ด ห้ามมิให้มีการจูบในภาพยนตร์เกิน 3 วินาที แต่กฎดังกล่าวถูกยกเลิกไปในยุค 60′s ไม่อย่างนั้นเราคงไม่ได้เห็นฉากจูบอันเผ็ดร้อนในเซ็กซ์ซีนหลายๆ เรื่องแน่ๆ

• ถึงแม้ว่าชาติที่นิยมจูบกันจนเป็นเรื่องปกติจะเป็นชาติตะวันตก แต่ยืดอกบอกเลยว่า คู่รักที่สร้างสถิติโลกเรื่องการจูบยาวนานที่สุดในโลกเป็นคนไทยจ้า โดยใช้เวลาในการจูบนานถึง 58 ชั่วโมง 35 นาที 58 วินาที ซึ่งสถิตินี้ได้รับการบันทึกในกินเนสส์เวิลด์เรคคอร์ดเมื่อวาเลนไทน์ในปี 2013

• มากกว่า 85% ของวัยรุ่นชาวอเมริกัน ล้วนผ่านประสบการณ์การจูบมาแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook