เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด วัดนายโรง
จากคราวที่แล้วได้นำเสนอเรื่องราวของ "ไม้ครู" หลวงปู่ภูวัดอินทร์ หนึ่งใน 9 เครื่องรางสะท้านแผ่นดินไปแล้ว วันนี้ก็มาถึงอีกหนึ่งเครื่องรางสะท้านแผ่นดินอย่าง เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง ซึ่งจัดว่าเป็นเบี้ยแก้เบี้ยกันสารพันวิเศษมงคล ที่ได้รับความนิยมในระดับสูงจนกลายเป็นตำนานไปแล้ว
ถามว่าเบี้ยแก้มีสำนักไหนที่ครองใจนักสะสม และเหล่าผู้นิยมเครื่องรางของขลังในประเทศ ก็ตอบได้เลยว่ามี 3 สำนัก คือ 1 เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง 2 เบี้ยแก้หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว 3 เบี้ยแก้วัดโบสถ์สายจังหวัดอ่างทอง แต่ที่ขึ้นชื่อลือชาจนขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในเครื่องรางสะท้านแผ่นดินก็ต้องยกให้ "เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด วัดนายโรง"
"เบี้ยแก้" เป็นเครื่องรางที่ใช้ติดตัวเมื่อเดินทางไปในป่าดงพงไพรเพื่อป้องกันไข้ป่า ภูตผีต่างๆ ทั้งยังป้องกันคุณไสย มนต์ดำ ป้องกันยาพิษยาสั่ง สัตว์เขี้ยวงาทุกชนิดและแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ผลชะงัดนัก และยังเป็นเครื่องรางเมตตามหานิยมอีกด้วย
ประวัติความเป็นมา
"เบี้ยแก้สารพัดดี หลวงปู่รอด วัดนายโรง"
หลวงปู่รอดท่านเป็นชาวบ้านบางพรม อำเภอตลิ่งชัน อุปสมบทที่วัดเงิน (วัดรัชฎาธิษฐาน) อยู่ในคลองบางพรม ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียงเลื่องลือมากในสมัยนั้น ต่อมาท่านได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดนายโรง จนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 3 ของวัดนายโรง ท่านเป็นพระที่มีความรู้ความชำนาญและเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนาธุระ อีกทั้งด้านพุทธาคมและเวทวิทยาคม ท่านจึงเป็นพระเถราจารย์ที่มีผู้เคารพศรัทธาเลื่อมใสมากองค์หนึ่งของย่านคลองบางกอกน้อย หลวงปู่รอดท่านได้สร้างเบี้ยแก้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและนับว่าเป็นเลิศตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน
การสร้างเบี้ยแก้ของหลวงปู่รอดนี้ บ้างก็ว่าท่านเรียนวิชาการทำเบี้ยมาจาก "หลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ" บางท่านก็ว่าเรียนมาจาก "พระภาวนาโกศล (รอด) วัดโคนอน" (พระอาจารย์ของหลวงปู่เอี่ยม วัดหนังวรวิหาร) บ้างก็ว่าท่านได้วิชานี้มาจากชาวกะเหรี่ยง จนปัจจุบันก็ไม่มีใครสามารถสรุปหรือหาหลักฐานที่ชัดเจนได้ว่าหลวงปู่ท่านเรียนวิชาทำเบี้ยมาจากไหน รู้แต่เพียงว่า "เบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด วัดนายโรงนั้นสารพัดดีอย่างแน่นอน"
การสร้างเบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด วัดนายโรง
ท่านจะคัดตัวเบี้ยที่มีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป วัดขนาดใต้ท้องเบี้ยยาวประมาณ 3.5 ซม. กว้าง 2.5 ซม. หรือยาวประมาณ 3.4 ซม. กว้าง 2.4 ซม. ให้มีฟันครบ 32 ซี่ บรรจุปรอทแล้วจึงอุดด้วยชันโรงใต้ดิน แล้วจึงหุ้มด้วยแผ่นตะกั่ว บางตัวก็หุ้มหมดทั้งตัว บางตัวหุ้มเปิดที่ด้านหลังเบี้ยไว้ บางตัวก็ไม่มีตะกั่วหุ้มก็มี บางตัวอาจจะใช้ผ้ายันต์หุ้มแทนตะกั่วก็มี ตะกั่วที่หุ้มเบี้ยหลวงปู่จะลงอักขระพระเจ้า 16 พระองค์ และยันต์ตรีนิสิงเห แล้วจึงปลุกเสกอีกครั้งหนึ่งจึงมอบให้แก่ศิษย์ ถ้านำเบี้ยมาเขย่าใกล้ๆ หูจะได้ยินเสียงปรอทสั่นคลอนเบาๆ เบี้ยบางตัวมักถักเชือกกันเอาไว้ โดยฝีมือการถักของหลวงลุงชม ซึ่งมีมือละเอียดประณีตดีนักแล หูด้ายที่ถักบางทีก็มีหูเดียว บางทีก็มีสองหรือสาม คือถ้าเป็นเบี้ยสำหรับผู้หญิงมักมีหูถักอันเดียวไว้ร้อยกับเชือกสวมคอ แต่ถ้าเป็นของผู้ชายมักจะมีสองหรือสามหู เพราะผู้ชายจะใช้ร้อยเชือกคาดเอว จากนั้นจึงลงรัก หรือลงยางมะพลับไว้อีกทีหนึ่ง เพื่อความคงทนของเชือกที่ถัก เบี้ยบางตัวอาจจะมีการลงรักปิดทองไว้ด้วย หรือบางตัวก็มีการบรรจุตะกรุด ซึ่งหาดูได้ยากมาก
เบี้ยแก้ ของหลวงปู่รอด จัดว่าเป็นของ "สารพัดดี" มีพลานุภาพเข้มขลัง ใครมีไว้ติดตัวถือว่าดีนักแล และจะดียิ่งขึ้นหากท่านหมั่นภาวนาระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ รวมถึงทำความดีอยู่เนืองนิตย์
-สาธุ-
ค้นหา เช่า บูชา เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง
ที่ ENNXO แหล่งรวมพระเครื่องเด่นดังทุกทิศทั่วไทย
ภาพประกอบ : board.palungjit.org