หนุ่มๆ ต้องรู้ “ผมร่วง” สัญญาณเตือนอะไรบางอย่างในร่างกาย
อธิบดีกรมการแพทย์ เตือน หากผมร่วงต่อเนื่องเกินวันละ 30-50 เส้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนที่เกิดจากโรค หรือความผิดปกติของร่างกาย
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เผย ปกติคนเรามีผมประมาณ 80,000-1,200,000 เส้น งอกยาวขึ้นประมาณวันละ 0.35 มม. และมีอายุนาน 2-6 ปี ซึ่งปกติจะมีผมร่วงเป็นประจำทุกวัน แต่ไม่เกินวันละ 30-50 เส้น
โดยการที่ผมร่วงนั้น อาจเกิดจากสาเหตุ ดังนี้
1.ผมร่วงจากกรรมพันธุ์ พบได้ทั้งหญิงและชาย แต่ส่วนใหญ่เกิดกับเพศชาย โดยจะเป็นบริเวณกลางศีรษะและหน้าผาก ส่วนผู้หญิงจะแสดงอาการหลังวัยหมดประจำเดือน
2.ผมร่วงเนื่องจากผมหยุดเจริญชั่วคราว ในแต่ละวันจะมีเส้นผมประมาณ 10-15% ที่หยุดเจริญและหลุดร่วงไป แต่ในบางภาวะ เส้นผมที่กำลังเจริญอาจหยุดการเจริญในทันที ทำให้ผมหลุดร่วงเพิ่มมากกว่าปกติ เช่น ผู้หญิงหลังคลอด, ได้รับการผ่าตัดใหญ่, การใช้ยาบางชนิด หรือมีภาวะเครียดทางจิตใจ
3.ผมร่วงเป็นหย่อม เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ จะมีอาการผมร่วงเฉพาะที่ในรูปแบบกลม หรือรี แบบมีขอบเขตชัดเจน ตรงกลางไม่มีเส้นผม ไม่เจ็บ ไม่คัน ไม่แดง บางคนอาจพบเส้นผมสีขาวขึ้นในบริเวณนั้น และบางคนเมื่อรักษาหายแล้วอาจกำเริบได้ใหม่ เป็นๆ หายๆ บ่อยครั้ง
4.ผมร่วงจากการถอนผม พบได้บ่อยในเด็กที่มีปัญหากดดันทางจิตใจด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ปัญหาครอบครัว เด็กบางคนอาจถอนผมเล่นจนเป็นนิสัย ผู้ป่วยจะถอรผมตัวเองจนผมแหว่ง หนังศีรษะเวณผมที่ร่วงจะไม่มีผื่นคันหรือเป็นขุย
5.ผมร่วงจากเชื้อรา อาจพบบ่อยในเด็ก โดยผมจะร่วงเป็นหย่อมๆ เป็นผื่นแดง คัน และเป็นขุยสะเก็ด
6.ผมร่วงจากการทำผม การทำผมด้วยการม้วนผม ย้อมสีผม ดัดผม เป่าผม หรือวิธีอื่นๆ อาจทำให้ผมร่วงได้ จากการที่มีหนังศีรษะอักเสบ หรือเส้นผมเปราะหัก
7.ผมร่วงจากยา และการฉายรังสี ยาที่อาจทำให้เกิดผมร่วงมีอยู่หลายชนิด เช่น ยารักษามะเร็ง การฉายรังสีในการรักษามะเร็ง ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ยารักษาคอพอกเป็นพิษ ยาคุมกำเนิด ยาใช้ป้องกันโรคเกาต์
8.ผมร่วงจากโรคอื่นๆ เช่น โรค เอสแอลอี หรือโรคเรื้อรังบางอย่าง เช่น ไทรอยด์ ซิฟิลิส โรคตับ โรคไตทั้งนี้ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้แนะนำข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีปัญหาผมร่วง ว่า ควรทำความสะอาดเส้นผม และผิวหนังของศีรษะอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรเกา หรือขยี้หนังศีรษะแรงจนเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกับหนังศีรษะ เช่น การย้อม ทำสี ดัด หลีกเลี่ยงการดึงหรือถอผมเล่น หลีกเลี่ยงความเครียด เพราะจะทำให้กระตุ้นอาการผมร่วงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม อาการผมร่วงในผู้ป่วยบางรายอาจหายเองได้ แต่หากว่าอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสาเหตุของโรค และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการแพทย์