4 โรคยอดนิยมของเหล่ามนุษย์ออฟฟิศ รู้ทันก่อนสายเกินแก้ !!

4 โรคยอดนิยมของเหล่ามนุษย์ออฟฟิศ รู้ทันก่อนสายเกินแก้ !!

4 โรคยอดนิยมของเหล่ามนุษย์ออฟฟิศ รู้ทันก่อนสายเกินแก้ !!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เผย 4 โรคยอดฮิตมนุษย์เงินเดือน แนะสำรวจความผิดปกติของร่างกาย ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ไข

ปกติมนุษย์เราทำงานวันละ 8 -10 ชั่วโมง หรือใช้เวลาไปกับการทำงานประมาณ 2,000 ชั่วโมง ใน 1 ปี นั่นหมายความว่าคนเราใช้เวลาในชีวิตส่วนใหญ่หมดไปกับการทำงาน พฤติกรรมในการทำงานจึงเป็นหนึ่งในปัจจัย ที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยสภาพการทำงานที่ต้องรีบเร่ง ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคนเราเปลี่ยนไป อีกทั้งการใช้คอมพิวเตอร์วันละหลายชั่วโมง การรับประทานอาหาร และการนอนไม่เป็นเวลา ยิ่งกระตุ้นให้มนุษย์เงินเดือนทุกคนต้องแบกรับความเครียด สุดท้ายจึงส่งผลร้ายต่อร่างกายโดยที่ไม่รู้ตัว

ปัจจุบันพนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่มักจะต้องทำงานผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ ซึ่งต้องใช้ตาเพ่งมองสิ่งเหล่านี้เป็นเวลานาน พฤติกรรมเหล่านี้มักทำให้เกิดปัญหาด้านสายตาตามมานั่นก็คือ

โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม(Computer Vision Syndrome - CVS)

กลุ่มที่ต้องระวัง: คนที่ต้องทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันนานเกิน 2 ชั่วโมง โดยไม่พักสายตา

· จุดสังเกต: ดวงตาล้า ดวงตาแห้ง รู้สึกแสบตา และดวงตาไม่สามารถสู้แสงหรือโฟกัสได้ ทั้งนี้อาจมีอาการปวดหัว คอ และบ่าร่วมด้วย

· สาเหตุ: การใช้คอมพิวเตอร์ที่มีหน้าจอสว่างมากเกินไป การมองหน้าจอคอมพิวเตอร์ใกล้และเป็นระยะเวลานานโดยไม่มีการพักสายตา รวมถึงการมองหน้าจอคอมพิวเตอร์ในระดับที่ไม่เหมาะสมกับระดับสายตา

· การป้องกันและการรักษา: ควรจะพักสายตาบ่อยๆ และหมั่นกระพริบตา อีกทั้งปรับความสว่างของแสงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม ศูนย์กลางหน้าจอควรต่ำกว่าระดับสายตา 4-5 นิ้ว หรือประมาณ 15 – 20 องศา และควรวางห่างจากสายตาประมาณ 20-28 นิ้ว ทั้งนี้หากยังมีอาการรุนแรงควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา

นอกจากสายตาแล้ว มือก็เป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่พนักงานออฟฟิศต้องใช้งานแทบทั้งวัน จึงทำให้เกิดโรคที่เกิดจากการใช้งานมือเป็นเวลานานเช่นกันคือ

โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome – CTS)

กลุ่มที่ต้องระวัง: คนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ทำงาน หรือคนที่ใช้ข้อมือหนัก

· จุดสังเกต: มักจะมีอาการชา หรือปวดที่บริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ ลามไปถึงหัวไหล่ โดยอาการมักจะเกิดตอนที่ใช้ข้อมือหนักๆ จนทำให้กล้ามเนื้อมืออ่อนแรง ไม่สามารถกำมือได้แน่น

· สาเหตุ: การใช้ข้อมือในท่าทางเดิมเป็นประจำ มีการใช้ข้อมือหนักๆ เช่น เวลาพิมพ์คีย์บอร์ด หรือตอนควบคุมเมาส์โดยข้อมือเสียดสีกับพื้นโต๊ะตลอดเวลา

· การป้องกันและการรักษา: หากอาการยังไม่รุนแรง เบื้องต้นให้ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้มือ หาอุปกรณ์มารองรับ ทำการประคบร้อน กดนวดบริเวณผังผืดที่กดทับเส้นประสาท หรือยืดเส้นประสาท แต่หากเริ่มมีอาการหนักขึ้นอาจต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

รวมไปถึงการนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน ของพนักงานออฟฟิศก็ทำให้เกิด

โรคที่เกี่ยวกับคอและหลังได้ และโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม (Cervical Spondylosis)

กลุ่มที่ต้องระวัง: คนที่ต้องนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน หรือคนที่มีพฤติกรรมชอบบิดคอ หมุนคอ

· จุดสังเกต: ปวดบริเวณคอ ไหล่ และบ่า บางครั้งอาจมีอาการปวดร่วมกันจนทำให้อาการหนักขึ้น คือลามไปกดทับเส้นประสาท ทำให้อาการปวดลามไปถึงแขน เริ่มมีอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง และหากไปกดทับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองจะทำให้รู้สึกปวดหัว ปวดกระบอกตา และรู้สึกบ้านหมุน

· สาเหตุ: มีพฤติกรรมการใช้คอและกล้ามเนื้อแผ่นหลังที่ผิดลักษณะ เช่น การบิดคอ การนั่งก้มหน้าทำงานเป็นระยะเวลานานโดยไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ

· การป้องกันและการรักษา: หากต้องนั่งทำงานเป็นระยะเวลานานให้ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหมั่นยืดกล้ามเนื้อบ่อยๆ ไม่ควรโน้มศีรษะอ่านหนังสือเป็นเวลานานเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอทำงานหนักกว่าปกติ แต่ควรยกหนังสือให้ตั้งขึ้นในระดับสายตาแทน ในกลุ่มคนที่อาการยังไม่รุนแรงสามารถรักษาด้วยการทานยา ทำกายภาพบำบัด หรือรักษาโดยใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง (Nucleoplasty)

นอกจากความเจ็บป่วยทางร่างกายแล้ว ความเครียดและภาวะกดดันจากการทำงาน ยังอาจทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะจิตใจและสมอง โดยที่คนทำงานมักไม่รู้ตัวได้เช่นกัน เช่น

โรคสมาธิสั้นจากการทำงาน (Attention Deficit Trait – ADT)

กลุ่มที่ต้องระวัง: ทุกคน

· จุดสังเกต: ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรบางอย่างได้นาน ความอดทนต่ำ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ การแบ่งเวลา และจัดลำดับความสำคัญต่อสิ่งต่างๆ ลดลง รวมถึงมีอาการเครียด กังวล และคิดถึงปัญหาอยู่ตลอดเวลาโดยไม่แสดงออก

· สาเหตุ: สภาพแวดล้อมในการทำงานที่บีบคั้นและวุ่นวาย ต้องรับผิดชอบและทำงานหลายอย่างพร้อมกับในเวลาเดียว

· การป้องกันและการรักษา: พักผ่อน หรือเปลี่ยนอิริยาบถหากรู้สึกว่าทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และควรมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมถึงพยายามจัดลำดับความสำคัญ แบ่งเวลาให้กับการทำงานอย่างเหมาะสม ทั้งนี้หากรู้สึกไม่ดีขึ้นควรไปปรึกษาจิตแพทย์

รู้แบบนี้แล้วก็อย่ามัวทำงานจนละเลยต่ออาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เพราะสิ่งที่อาจตามมาก็คือการถูกคุกคามด้วยโรคต่างๆ ลองให้เวลากับตัวเองสักนิด หันกลับมาสำรวจความผิดปกติของร่างกาย ว่าร่างกายของเราเริ่มส่งสัญญาณเตือนให้มาใส่ใจดูแลตัวเองบ้างหรือยัง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ไข

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook