“เซ็กเซอร์ไซส์” ได้ผลจริงหรือ?

“เซ็กเซอร์ไซส์” ได้ผลจริงหรือ?

“เซ็กเซอร์ไซส์” ได้ผลจริงหรือ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพศสัมพันธ์ ถือเป็นการออกกำลังกายหรือไม่?

งานวิจัยในยุค 1960 ตอบว่า “ใช่” เพราะมีการตรวจเช็คการทำงานของร่างกายว่า การมีเซ็กส์มีผลให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น จังหวะการหายใจถี่ขึ้น รวมทั้งความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้น ผลการวิจัยดังกล่าวทำให้สื่อพากันผลิตบทความ เพื่อชี้ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของการมีเซ็กส์ โดยการนำเสนอจำนวนแคลอรีที่ถูกเผาผลาญจากการมีเซ็กส์ ในแต่ละท่วงท่า ในทำนองว่า มีเซ็กส์ช่วยลดความอ้วนได้ด้วย

ผ่านไปเกินครึ่งศตวรรษ คำถามเดียวกันถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง โดยนักวิจัยรุ่นใหม่ตอบโจทย์ เรื่องว่าการมีเซ็กส์เท่ากับเป็นการออกกำลังกายจริงหรือไม่ ว่าเป็นได้ทั้ง “ใช่” และ “ไม่ใช่” ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนิยามคำว่า “การออกกำลังกาย” เป็นสำคัญ

เพราะถ้าคิดแค่ว่า การทำกิจกรรมทางกายใดๆ ที่ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจถี่หอบ หน้าแดงเหงื่อตก ถือเป็นการออกกำลังกาย การมีเซ็กส์ก็อยู่ในหมวดการออกกำลังกาย

แต่ถ้าการออกกำลังกาย ถูกใช้ในความหมายของการเสริมสร้างสมรรถนะของร่างกายในระยะยาว การมีเซ็กส์นับว่าห่างไกลจากนิยามนี้อยู่พอสมควร เพราะถ้าเปรียบเทียบการใช้ร่างกายในการมีเซ็กส์ กับออกกำลังกายประเภทต่างๆ การมีเซ็กส์ในช่วงเวลาสั้นๆ ใช้กล้ามเนื้อแค่บางส่วน และขาดความสม่ำเสมอ ย่อมไม่เพียงพอที่จะเสริมสร้างการทำงานให้กับระบบต่างๆ ในร่างกาย ทั้งระบบหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต โดยเฉพาะความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ ซึ่งถือเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญของการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่ต้องพูดถึง “การช่วยตัวเอง” ที่ถ้าเทียบแล้วเท่ากับกิจกรรมทางกายเบาๆ อย่างเดินช้าๆ แค่นั้น

งานวิจัยยังไม่ได้สำรวจและวิเคราะห์ถึงความแตกต่างของคนแต่ละคู่ในการใช้ร่างกายขณะมีเซ็กส์ เพราะแต่ละคู่เมื่อมีเซ็กส์ มักมีการใช้ร่างกายไม่เท่ากัน การที่คนหนึ่งแอ็กทีฟ ขณะที่อีกคนเคลื่อนไหวร่างกายไม่มาก ระดับการเผาผลาญพลังงานยิ่งแตกต่างกันเข้าไปใหญ่

นักวิจัยชี้ให้เห็นว่า แทนที่จะหวังให้การมีเซ็กส์สร้างคุณประโยชน์ต่อร่างกาย มองในทางกลับกัน การออกกำลังกาย ช่วยเสริมการมีเซ็กส์ได้มากกว่าหลายเท่า เช่น ผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องน้อย ในช่วงก่อนมีประจำเดือน การออกกำลังกายที่มีการบริหารกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน จะช่วยให้อาการปวดในแต่ละเดือนลดลงได้ และยังช่วยให้สามารถควบคุมกล้ามเนื้อ บริเวณดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มความรู้สึกในการมีเซ็กส์ได้ดีขึ้นด้วย ส่วนคุณผู้ชาย การออกกำลังกายที่ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณฝีเย็บแข็งแรง จะช่วยลดปัญหาการหลั่งเร็วได้อย่างเห็นผล

มีคำถามต่อไปอีกว่า แล้วเซ็กส์มีผลต่อการออกกำลังกายหรือไม่ อย่างไร เพราะนักกีฬามักจะถูกห้ามไม่ให้มีเซ็กส์ในช่วงการฝึกซ้อมก่อนลงแข่งขัน นักวิจัยศึกษาข้อมูลเรื่องนี้ และพบว่า เอาเข้าจริงแล้ว การมีเซ็กส์ไม่กระทบต่อสมรรถนะในการเล่นกีฬา แต่ถ้ามีเซ็กส์ก่อนลงแข่ง 1-2 ชั่วโมง ร่างกายอาจฟื้นตัวไม่ทัน เลยไม่เต็มร้อยสำหรับการแข่งขัน

กลับไปประเด็นที่ว่า การมีเซ็กส์ถือเป็นการออกกำลังกายหรือไม่ สรุปว่าน่าจะเป็นแค่กิจกรรมทางกายที่เผาผลาญพลังงานได้ดีกว่านอนนิ่งๆ แต่ไม่สามารถทดแทนการออกกำลังกายที่จะช่วยเสริมสร้างร่างกายให้ความแข็งแรงและต้านทานโรคภัยได้อย่างแน่นอน

ที่มาข้อมูล: มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง(สคส.) เรื่องโดย รัชดา ธราภาค

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook