คุณรู้จักใช้ถุงยางอนามัยดีพอหรือยัง?
ถุงยางอนามัยเป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวชนิดเดียวที่ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเอดส์ โรคหนองใน โรคเริม รวมถึงมะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก
ถุงยางอนามัยผลิตจากน้ำยางธรรมชาติจึงมักไม่มีอาการข้างเคียงสะดวกเพราะหาซื้อได้ที่ร้านขายยาทั่วไปและยังซื้อได้ที่ร้านสะดวกซื้อซึ่งเปิดจำหน่ายตลอด 24 ชั่วโมง ถุงยางอนามัยที่ผลิตมามีอายุได้ประมาณ 5 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับการเก็บรักษา การเก็บควรเก็บในที่แห้งและไม่โดนแสงแดด
ปัจจุบันบริษัทที่ผลิตถุงยางอนามัยได้ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น มีการแต่งกลิ่นเลียนแบบธรรมชาติ เช่น มีกลิ่นสตรอเบอรี่ กลิ่นช็อคโกแลต หรือมีลักษณะพื้นผิวที่แตกต่าง เช่น ผิวเรียบ หรือขรุขระ มีการใส่สารหล่อลื่นที่มากขึ้น มีสารเคลือบบางตัวที่ชะลอการหลั่ง หรือทำลายอสุจิ มีแม้กระทั่งแบบบางเฉียบ 0.35 มม. เพื่อให้เกิดการมีอรรถรสในการมีเพศสัมพันธ์ และให้คนรุ่นใหม่หันมาใช้ถุงยางอนามัยเพิ่มขึ้น ถุงยางอนามัยป้องกันการตั้งครรภ์ โดยป้องกันไม่ให้น้ำอสุจิเข้าไปในช่องคลอด จึงไม่ทำให้เกิดการปฎิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิ
วิธีการใช้ถุงยางอนามัย
1.ก่อนใช้ควรตรวจสอบวันหมดอายุที่กล่องหรือซองบรรจุ สภาพกล่องและซองบรรจุต้องเรียบร้อย ไม่มีรอยฉีกขาด
TIP – ควรเลือกถุงยางอนามัยให้เหมาะสมกับขนาดของอวัยวะเพศชาย
2.ฉีกข้างซองตามรอย
TIP – ไม่ใช้ฟันฉีกซองเพราะอาจทำให้ถุงยางอนามัยฉีกขาดได้
3.ดึงถุงยางอนามัยออกจากซองใช้มือบีบปลายกะเปาะเพื่อไล่อากาศแล้วครอบไปบนอวัยวะเพศชาย ให้ขอบที่ม้วนอยู่ด้านนอก จากนั้นรูดขอบถุงยางอนามัยให้ถึงโคนอวัยวะเพศชาย
TIP- ขณะสวมถุงยางอนามัย ระวังเล็บมือเกี่ยวถุงยางอนามัยขาด
4. สอดอวัยวะเพศชายที่สวมถุงยางอนามัยใส่ในช่องคลอด
TIP- ใส่ถุงยางอนามัยขณะที่อวัยวะเพศชายแข็งตัว
5. เมื่อเสร็จกิจให้ถอนอวัยวะเพศชายออกขณะแข็งตัว โดยใช้กระดาษทิชชู่จับด้านนอกถุงยางอนามัยเพื่อไม่ให้มือสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งแล้วรูดออกช้าๆ
TIP- การทดสอบการรั่วหรือแตกของถุงยางอนามัย สามารถทำได้โดยการใส่น้ำเข้าไปในถุงยางอนามัย ถ้าแตกจะมีน้ำรั่วซึม
TIP – เมื่อเกิดรั่ว แตกของถุงยางอนามัยควร ให้ฝ่ายหญิงกินยาคุมฉุกเฉิน 2 เม็ดทันที (ยาคุมฉุกเฉินสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 70%-85% )
6.ควรห่อให้เรียบร้อยก่อนทิ้งถังขยะ จะเห็นว่าวิธีการใช้ไม่ยุ่งยาก ถ้าทำตามขั้นตอนเราก็จะมี sex อย่างปลอดภัย ไร้กังวลค่ะ
ที่มาข้อมูล: อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร / ดลภางค์ จันทร์ทอง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี