ข้าวโพด: อาหารสำหรับคนอ้วน
อาหารสมุนไพรที่ใช้รักษาอาหารหรือโรคที่นำมาเสนอนี้ เป็นการศึกษาของประเทศจีน หากท่านผู้อ่านท่านใดได้ใช้ในการรักษาอาการ หรือโรคใดและได้ผล กรุณาแจ้งมายัง "หมอชาวบ้าน" เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลการศึกษา และเผยแพร่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป
ถิ่นเดิมของข้าวโพดอยู่ที่ประเทศเม็กซิโกและประเทศเปรู นักโบราณคดีพบว่าเดิมทีข้าวโพดเป็นพืชที่ขึ้นเองในป่าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 หมื่นปี เมื่อประมาณ 4-5 พันปีมาแล้ว ชาวอินเดียน (แดง) ได้รู้จักการปลูกข้าวโพดแล้ว
"เทพเจ้าข้าวโพด" เป็นเทพธิดาที่ชาวเม็กซิโกเคารพนับถือมาก จนกระทั่งทุกวันนี้ ทางภาคใต้ของเม็กซิโกจะมีงานเฉลิมฉลองเทศกาล "เทพเจ้าข้าวโพด" เป็นประจำทุกปี นอกจากนี้นักโบราณคดีได้พบรูปปั้น "เทพเจ้าข้าวโพด" ทั้งที่ปั้นด้วยดิน หล่อด้วยโลหะ และแกะจากฝักข้าวโพดจำนวนมากมาย และยังมีนิยาย คำบอกเล่าต่างๆ ที่เกี่ยวกับเทพธิดาองค์นี้อีกมาก
สิ่งที่น่าสนใจ คือ วิธีการปลูกข้าวโพดของชาวอินเดียน (แดง) พวกเขาจะนำเอาปลาใส่ลงไปในหลุดที่ปลูกข้าวโพด ในพื้นที่ 1 เอเคอร์ จะใช้ไปลงไปไม่น้อยกว่า 1 พันตัว พวกเขาค้นพบจากการปฏิบัติว่า การใส่ปลาเป็นปุ๋ย จะให้ผลผลิตที่สูงกว่าไม่ใส่ปลาถึง 3 เท่า และมีประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดมา คือ ในเทศกาลปลูกข้าวโพดพวกเขาจะผูกสุนัขไว้ในบ้าน ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้สุนัขไปคุ้ยปลาในหลุมกิน
ภายหลังจากโคลัมปัสค้นพบทวีปอเมริกา เขาได้นำข้าวโพดจากทวีปอเมริกาไปปลูกยังสเปน และเรียกข้าวโพดว่า "เมล็ดพันธุ์อินเดียน (แดง)" หลังจากนั้นข้าวโพดจึงได้แพร่ไปยังเอเซีย อัฟริกา และอาหรับ จนกระทั่งทุกวันนี้มีประเทศต่างๆ ปลูกข้าวโพดประมาณ 60-70 ประเทศ
ในราวศตวรรษที่ 16 ข้าวโพดได้แพร่เข้าไปในจีน โดยนักแสวงบุญชาวอิสลามที่ไปแสวงบุญในเมกกะ โดยผ่านมาเอเซียกลางไปยังซินเกียง แล้วจึงค่อยๆ แพร่ไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศจีน
ข้าวโพดมีชื่อทางวิทยาศาตร์ว่า Zea mays Linn. วงศ์ Graminease
สรรพคุณ
แกนของข้าวโพด มีคุณสมบัติเป็นกลาง รส หวาน สรรพคุณ ขับปัสสาวะ แก้อาการบวมท้องเสีย เหน็บ ชา
หนวดข้าวโพด มีคุณสมบัติเป็นกลาง รสหวาน สรรพคุณ อาการบวมน้ำเนื่องจากไตอักเสบ เหน็บชา ดีซ่านที่เกิดจากตับอักเสบ ความดันโลหิตสูง ถุงน้ำดีอักเสบ เบาหวาน อาเจียนเป็นโลหิต เลือดกำเดาออก
เมล็ดข้าวโพด มีคุณสมบัติเป็นกลาง มีรสหวาน สรรพคุณ ทำให้เจริญอาหาร ขับปัสสาวะ
ตำรับยา
1. บวมน้ำ: ใช้หนวดข้าวโพด 60 กรัม ต้มกินน้ำ และงดกินของเค็ม
2. ไตอักเสบหรือนิ่วในไตระยะแรก: ใช้หนวดข้าวโพดจำนวนพอประมาณ ต้มกินน้ำเป็นประจำ
3. อาเจียนเป็นโลหิต: ใช้หนวดข้าวโพดจำนวนพอประมาณ เคี่ยวเอาน้ำ แล้วตุ๋นกับเนื้อหมูแดง
4. เบาหวาน: ใช้หนวดข้าวโพด 30 กรัมต้มกินน้ำติดต่อกันหลายๆ วันจนอาการดีขึ้น
สารเคมีที่พบ
แกนของฝักข้าวโพด มี Xylose, Arabinose Galactose
หนวดข้าวโพด มี ไขมัน 2.5% น้ำมันหอมระเหย 0.12% สารที่มีลักษณะคล้ายยาง3.8% เรซิน (Resin) 2.7% Saponin 3.18% อัลคาลอยด์ (Alkaloid) 0.05% นอกจากนี้ยังมี Ascorbic acid, Pantothenic acid, Malic acid, Sitosterol, วิตามินเค, Stigmasterol กรดส้ม (Citric acid) Oxalic acid
เมล็ดข้าวโพด มีแป้ง (Starch) 61.2% ไขมัน 4.2-4.75% อัลคาลอยด์ (Alkaloid) 0. 21% วิตามินบีหนึ่ง บีสอง วิตามินซี นิโคตินิก แอซิก เพคติน เป็นต้น
น้ำมันข้าวโพด จะมีสารต่างๆ แตกต่างกันไปตามพันธุ์ข้าวโพด
ผลทางเภสัชวิทยา
1. ฤทธิ์ขับปัสสาวะ: หนวดข้าวโพดมีฤทธิ์ขับปัสสาวะทั้งคนและกระต่ายเลี้ยง จะทำให้ปริมาณของเกลือคลอไรด์ที่ถูกขับออกเพิ่มขึ้น แต่มีฤทธิ์อ่อน
2. ฤทธิ์ต่อระบบไหลเวียนของโลหิต: ยาฉีดซึ่งได้จากการต้มหนวดข้าวโพด โดยฉีดเข้าไปในสุนัขที่ถูกทำให้สลบ ปรากฏว่าความดันลดลงอย่างเห็นได้ชัด
3. ฤทธิ์ในการลดน้ำตาลในเลือด: สารสกัดจากหนวดข้าวโพดที่หมักไว้ (Fermentation) มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของกระต่ายเลี้ยงอย่างเห็นได้ชัด
4. ฤทธิ์ของถุงน้ำดีและห้ามเลือด: น้ำที่ได้จากหนวดข้าวโพด มีฤทธิ์กระตุ้นให้น้ำดีไหลมากขึ้น ทำให้ความเข้มข้นของน้ำดีลดลง และสีจางลง นอกจากนี้ยังสามารถทำให้เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น ทำให้ Prothrombin ในเลือดสูงขึ้น Blood platelet สูงขึ้นด้วย ดังนั้นจึงสามารถใช้เป็นยามีฤทธิ์ห้ามเลือดและขับปัสสาวะร่วมกัน จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ
ในปี พ.ศ. 2433 สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่สกัดน้ำมันจากข้าวโพดมาใช้ ในตอนนั้นข้าวโพดถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมสบู่และสีเท่านั้น ต่อมาจึงนำมาใช้เป็นอาหาร
น้ำมันข้าวโพดมีสีเหลืองและกลิ่นหอม ที่สำคัญคือเป็นอาหารและยาที่มีคุณค่า ในน้ำมันข้าวโพดมี Linoleic acid 60% และยังมี Lecithin วิตามินเอและอี ซึ่งร่างกายสามารถดูดซึมได้โดยง่าย การใช้น้ำมันข้าวโพดปรุงอาหารเป็นประจำ จะช่วยลดโคเลสเตอรอลในเลือด จึงเป็นอาหารที่ดีสำหรับผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแข็งตัว โรคหัวใจ ความดันสูง หรือคนอ้วน
หมายเหตุ
ข้าวโพดที่ถูกความชื้นแล้วเกิดเชื้อรา จะทำให้เกิดอะฟลาทอกซิน ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดมะเร็งได้
ข้อมูลจาก
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 78
คอลัมน์: อาหารสมุนไพร
นักเขียนหมอชาวบ้าน: วิทิต วัณนาวิบูล