ในเกมที่นานกว่า 90 นาทีของ แมตต์ สมิธ กัปตันทีมบางกอกกล๊าส
Thailand Web Stat

ในเกมที่นานกว่า 90 นาทีของ แมตต์ สมิธ กัปตันทีมบางกอกกล๊าส

ในเกมที่นานกว่า 90 นาทีของ แมตต์ สมิธ กัปตันทีมบางกอกกล๊าส
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ถ้ามีใครสักคนมาบอกผมตอนที่เป็นวัยรุ่นว่า คอยดูสิ อีก 20 ปี ผมจะได้มาเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่เมืองไทย ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ตัวผมในตอนนั้นคงนึกภาพไม่ออกว่ามันจะเกิดขึ้นได้ยังไง” แมตต์ สมิธ เริ่มต้นบทสนทนาก่อนที่เครื่องอัดเสียงจะทำหน้าที่

ถึงแม้ว่าประเทศไทยอาจจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของความฝันวัยเด็กของเขา แต่สำหรับกองหลังชาวอังกฤษวัย 34 ปี เจ้าของตำแหน่งกัปตันทีมของสโมสรฟุตบอลบางกอกกล๊าส เอฟซี สิ่งเดียวที่เป็นความฝันของเขาและไม่เคยจางหายไปไหนก็คือ การเป็นนักฟุตบอล

“คนเราชอบในสิ่งต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน บางคนรักการถ่ายรูป บางคนรักการเขียน สำหรับผม สิ่งนั้นคือฟุตบอล มันคือความฝันช่วงวัยเด็ก คือความหวังในช่วงวัยรุ่น คือความทะเยอะทะยานและแรงผลักดันที่ทำให้ผมมาถึงจุดนี้ได้” แมตต์ถ่ายทอดความรู้สึกเข้มข้นที่เขามีต่อกีฬาชนิดนี้

และเมื่อได้ฟังเรื่องราวทั้งหมดจากปากคำ ภาพสะท้อนที่เรามองเห็นก็คือเกมฟุตบอลเกมหนึ่งที่มีทั้งเกมช้า เกมเร็ว

แต่ที่พิเศษกว่าเกมทั่วไปก็คือ มันเป็นเกมที่ไม่ได้จบในเวลา 90 นาที

 

Pre-game

“ที่อังกฤษ ฟุตบอลคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ผมจำไม่ได้ว่าตัวเองชอบฟุตบอลตั้งแต่เมื่อไร แต่ก็จำได้ว่าชอบกีฬานี้มาตั้งแต่รู้ว่าฟุตบอลคืออะไร” แมตต์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของความผูกพันระหว่างตัวเขาและลูกหนัง

พ่อของแมตต์เองก็เล่นกีฬานี้เช่นกัน ถึงจะไม่ใช่ระดับมืออาชีพ แต่ก็สม่ำเสมอมากพอที่จะพาลูกชายคนโตไปที่สนามด้วยทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ความทรงจำในวัยเยาว์ของแมตต์ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับฟุตบอลจึงเป็นส่วนผสมระหว่างการเล่นกับเพื่อนแถวบ้าน เล่นกับญาติๆ เล่นกับพ่อในสนามที่บ้าน และเล่นรอพ่อระหว่างที่พ่อนัดเตะฟุตบอลกับเพื่อนๆ

เช่นเดียวกับเด็กผู้ชายอังกฤษวัยเดียวกัน แมตต์ฝันอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ และดูเหมือนว่าเขาได้เข้าใกล้ความฝันกว่าเด็กอีกหลายๆ คน เมื่อผู้อำนวยการอะคาเดมี่ของ Portsmouth F.C. ซึ่งเป็นสโมสรท้องถิ่นในละแวกบ้านมาหาเขาและพ่อแม่ถึงบ้าน พร้อมกับข้อเสนอให้เซ็นสัญญา ตอนที่แมตต์อายุเพียง 10 ขวบเท่านั้น

โมเมนต์นั้นคือช่วงเวลาที่ภาคภูมิใจที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้กับเด็กคนหนึ่งที่หายใจเข้าหายใจออกเป็นฟุตบอล

 

 The First Half

เมื่อย้อนกลับไปมองตัวเองตลอด 7 ปีที่อยู่กับสโมสร Portsmouth F.C. เขามองว่าสไตล์การเล่นของตัวเองในช่วงวัยรุ่นเป็นแบบ ‘play safe’

การเล่นแบบระมัดระวังมากกว่ากล้าเสี่ยง กล้าลุยของเขาในตอนนั้นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาไม่ได้เซ็นสัญญาต่อ เมื่อถึงจุดที่สโมสรต้องเลือกว่าใครจะได้เซ็นสัญญาแบบฟูลไทม์เพื่อก้าวเข้าสู่โลกฟุตบอลอาชีพ

จากความยินดีที่เดินทางมาถึงบ้านเมื่อตอน 10 ขวบ กลายเป็นความผิดหวังที่มาทางโทรศัพท์ตอนอายุ 17 คนแรกที่รู้ข่าวนั้นไม่ใช่ตัวแมตต์ แต่เป็นพ่อของเขาที่เป็นคนรับสาย ก่อนจะถือโทรศัพท์แยกไปคุยอีกห้อง

10 นาทีหลังจากนั้น พ่อของเขาวางสายและเดินกลับมาบอกลูกชายว่า “เสียใจด้วยนะ แต่ลูกไม่ได้เซ็นสัญญาฟูลไทม์กับสโมสร”

 “การยอมรับว่าตัวเองไม่ดีพอที่จะถูกเลือก มันไม่ใช่เรื่องที่จะทำใจได้ง่ายๆ โดยเฉพาะตอนเป็นวัยรุ่น และเป็นวัยรุ่นที่ทุ่มเทให้กับกีฬาฟุตบอลมาทั้งชีวิต” แมตต์เล่าถึงความรู้สึกในตอนนั้น เขาเลือกที่จะใช้คำว่า ‘hurts’ แทนคำว่า ‘hurt’ ที่เป็นรูปอดีต

ตัว s ที่เพิ่มเข้ามาท้ายเสียงทำให้รู้ว่า ถึงแม้ว่าโมเมนต์นั้นจะผ่านมาแล้วกว่า 10 ปี ความเจ็บปวดก็ยังเป็นความเจ็บปวดอยู่ดี

 

Half-time

ช่วงเวลาพักครึ่งในเกมฟุตบอลจริงๆ นั้นยาวแค่ 15 นาที แต่สำหรับเกมของแมตต์ ช่วงพักกินเวลาร่วม 10 ปี นับตั้งแต่เขาถูกปล่อยตัวจากสังกัดท้องถิ่น

เป็น 10 ปีที่เวลาของเขาหมดไปกับเรียนมหาวิทยาลัย เรียนปริญญาโท ย้ายไปออสเตรเลียตอนอายุ 25 หางาน มีงานประจำเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด มีครอบครัว 

และยังคงมีการเล่นฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเหมือนเดิม

 “ถึงจะไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ แต่ไม่ได้หมายความว่าผมจะเลิกเล่นฟุตบอล ผมยังเล่นฟุตบอลมหาวิทยาลัย ยังเล่นฟุตบอลกึ่งอาชีพ และไม่เคยล้มเลิกความคิดที่จะเล่นในระดับมืออาชีพ ผมตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเล่นฟุตบอลในระดับ A-League ซึ่งเป็นลีกสูงสุดของออสเตรเลียให้ได้” เขาเล่าถึงช่วงเวลาที่เอื้อต่อการถอดใจ แต่ก็ไม่เคยถอดใจ

แมตต์เล่าต่อว่า ไม่ว่าจะกังวลกับเรื่องนี้แค่ไหน แต่สุดท้ายพออยู่ในสนาม เขาก็จะลืมความกังวลไปจนหมดสิ้น ความคิดทั้งหมดของเขาอยู่ที่ในสนามเท่านั้น

หลายครั้งที่ช่วงพักครึ่งของเขาเหมือนจะสิ้นสุดลงและเกมครึ่งหลังน่าจะได้เริ่มต้นขึ้น แต่สุดท้ายก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ไม่เป็นอย่างที่คิด ซึ่งนั่นรวมถึงช่วงเวลาที่ผู้จัดการทีม North Queensland Fury เรียกเขาไปคุย ชวนทำสัญญา ก่อนจะอกหักในอีกอึดใจถัดมา เมื่อรู้ว่าตัวเองติดปัญหาเรื่องที่ยังไม่ได้สัญชาติออสเตรเลีย

Advertisement

“บอกตามตรงว่ามันก็มีจุดที่ผมคิดเหมือนกันว่า ถ้ายังคงไม่ได้โอกาสก้าวเข้าสู่ระดับมืออาชีพแบบนี้ หรือผมควรจะโฟกัสกับงานประจำและโตไปทางสายงานนี้ดี แต่เมื่อคุยเรื่องนี้กับไอช่า ภรรยาของผม เธอบอกผมว่า ‘ถ้าคุณดีพอ สักวันจะต้องได้รับโอกาสแน่นอน ขอแค่อย่าล้มเลิกความตั้งใจก่อนเท่านั้นพอ’” คำพูดของคนข้างกายที่แสดงถึงความเข้าใจและแสดงออกถึงการสนับสนุน ทำให้เขายังคงทำตามเป้าหมายของตัวเองต่อไป

จนกระทั่งสิ้นสุดช่วงพักครึ่งเวลาในเกมฟุตบอลของเขา

Bangkok Glass FC          

The Second Half

ปลายปี 2009 แมตต์ได้สัญชาติออสเตรเลีย และหลังจากนั้น เกมชีวิตของเขาก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว จนเหมือนเป็นคนละเกมกันกับช่วงครึ่งแรก ทั้งที่เป็นผู้เล่นคนเดียวกัน

หลังหมดปัญหาเรื่องสัญชาติ เขาได้เซ็นสัญญากับ North Queensland Fury เป็นเวลา 6 สัปดาห์ แต่พอผ่านเกมแรกไป ผู้จัดการทีมเสนอสัญญา 2 ปีให้เขา เขาจึงได้เป็นฟุตบอลอาชีพตามที่ฝันไว้ในวัย 27 ปี ซึ่งถือว่าอายุไม่น้อยในการเริ่มต้นสำหรับวงการฟุตบอลอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นในอังกฤษ ..หรือในออสเตรเลีย

แต่เมื่อผ่านไปเพียง 10 เกม มีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นอีกครั้ง นั่นคือสโมสรล้มละลาย แน่นอนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแมตต์ก็คือเขาโดนลอยแพ และยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะไม่มีทั้งสังกัดและไม่มีทั้งงานประจำ

โชคยังคงเข้าข้างคนพยายามอย่างเขา เมื่อหลังจากนั้นอีกไม่กี่สัปดาห์ มีโทรศัพท์ทางไกลจากเยอรมนี ต้นสายคือโค้ชของทีม Brisbane Roar ทีมแนวหน้าทีมหนึ่งใน A-League ของออสเตรเลีย ที่โทรมาเสนอสัญญา 2 ปีให้กับแมตต์ แน่นอนว่าเขาตอบตกลงทันที โดยไม่ลังเล

แมตต์สวมเสื้อสีส้มของ Brisbane Roar อยู่ถึง 5 ฤดูกาล ตั้งแต่ปี 2010 จนถึงตอนปิดฤดูกาลในปี 2015 และเป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งที่ทำให้ทีมคว้าแชมป์ได้ในปี 2011, 2012 และ 2014

หลังจากนั้น เขาตัดสินใจมองหาความท้าทายใหม่ด้วยการรับข้อเสนอของสโมสรบางกอกกล๊าส เอฟซี มาสวมเสื้อสีเขียวและรับตำแหน่งกัปตันทีมนี้ที่เมืองไทย ซึ่งผ่านมา 2 ฤดูกาลแล้วและกำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลที่ 3 พร้อมกับสถิติที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ของทีม

“ผมใช้เวลานานมากกว่าจะก้าวเข้ามาเป็นนักฟุตบอลอาชีพ แต่พอผ่านจุดเริ่มต้นมาแล้ว ทุกอย่างเกิดขึ้นไวมาก” และถึงแม้ว่าในสายตาคนจำนวนไม่น้อยจะมองว่าเขาเริ่มต้น ‘ช้า’ เกินไปหรือเปล่าสำหรับการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ และอายุอาจเป็นจุดเสียเปรียบของเขาในฐานะผู้เล่น แมตต์กลับไม่รู้สึกว่า การเริ่มต้นตอนใกล้ 30 จะช้าเกินไป และไม่เคยมองว่าวัยเป็นอุปสรรคสำหรับเขา

“ปีนี้ผมอายุ 34 แล้วก็จริง แต่ผมคือหนึ่งในผู้เล่นที่สภาพร่างกายฟิตที่สุดในทีม ฤดูกาลที่ผ่านมา ผมเป็นคนเดียวในทีมที่ลงเล่นครบ 90 นาทีในทุกเกม เรื่องอายุดูเหมือนจะเป็นปัญหาในมุมมองของคนอื่น แต่สำหรับผม นั่นไม่ใช่อุปสรรคเลย ถ้าเรารู้จักดูแลตัวเอง มีวินัยกับตัวเอง ผมอาจจะไม่ได้ไปแฮงเอาต์กับเพื่อนๆ ตอนดึกบ่อยเท่าไหร่ เพราะต้องพยายามนอนให้เต็มที่ หรือถ้าไปก็จะดื่มน้ำแทนดื่มเหล้า ผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องแลก เพื่อจะได้ทำสิ่งที่เรารัก” 

“แต่เรื่องที่ยากกว่าน่าจะเป็นการพยายามอธิบายว่าทำไมเรื่องอายุถึงไม่ใช่ปัญหา” แมตต์หัวเราะเบาๆ เมื่อพูดถึงเรื่องที่เขาต้องคอยตอบคำถามของคนอื่นเกี่ยวกับอายุ

Bangkok Glass FC

Post-game

ถึงจะมองว่าอายุไม่ใช่ปัญหา แต่แมตต์ก็รู้ตัวว่าเขาคงไม่สามารถลงเล่นในฐานะนักฟุตบอลอาชีพต่อไปอีก 10 ปีได้ การวางแผนอนาคตหลังถอดสตั๊ดจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่เขาคิดอยู่เสมอ และพยายามเพิ่มเติมความรู้ให้กับตัวเองตลอดเวลา เขาเพิ่งผ่านการอบรมและได้ใบอนุญาตในการเป็นโค้ชเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งนั่นอาจจะกลายเป็นอีกบทบาทหนึ่งของเขาในอนาคต

หลังจากบรรลุเป้าหมายในเรื่องการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ซึ่งเป็นอาชีพที่เขาบอกว่าจะมีอะไรเจ๋งไปกว่าการได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักเป็นงานแล้ว การวางแผนชีวิตของเขาตอนนี้ ถึงจะยังมีฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่เขาก็ต้องให้น้ำหนักกับครอบครัวมากขึ้น...ครอบครัวที่มีเขา ไอช่าและลูกๆ อีก 4 คน คือ เอวา วัย 7 ขวบ, โอเวน วัย 5 ขวบ รวมถึงไลลากับรูบี้ วัย 2 ขวบ ที่ทั้งสองอายุห่างกันเพียงแค่ 6 เดือน

“ผมกับภรรยาคุยกันเรื่องรับอุปการะเด็กกำพร้ามาตลอดตั้งแต่เราเริ่มคบกัน มันเหมือนเป็นหัวข้อหนึ่งที่เราจะยกมาพูดถึงกันเรื่อยๆ แต่เราเริ่มคุยกันจริงจังมากขึ้นเมื่อย้ายมาอยู่เมืองไทย จนเมื่อเราพร้อม เราก็ยื่นเอกสารและรอเวลา จนกระทั่งได้รูบี้มาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเราเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว”

เอวาและโอเวนต้อนรับน้องเล็กของบ้านเป็นอย่างดี ส่วนไลลาที่วัยไล่เลี่ยกันก็เหมือนได้เพื่อนเล่นที่ช่วยทำให้พัฒนาการของเด็กหญิงเชื้อสายไทยอย่างรูบี้ดีขึ้นทุกด้านและทุกวัน การเฝ้าดูพัฒนาการของลูกๆ ทุกคนจึงเป็นความตื่นเต้นและความสุขนอกสนามของนักฟุตบอลคนนี้

ก่อนบทสนทนาจะจบลง เราสังเกตว่าที่ท้องแขนซ้ายของแมตต์มีรอยสักที่เป็นตัวอักษรภาษาอราบิก เขาเล่าถึงที่มาของรอยสักที่ช่วยย้ำถึงความสุขนอกสนามของเขาว่า “รอยสักพวกนี้เป็นอักษรย่อภาษาอราบิก แทนชื่อลูกๆ ทุกคน ตอนนี้มีของเอวา โอเวน และไลลาแล้ว เร็วๆ นี้ ผมจะไปสักใหม่ เพิ่มชื่อของรูบี้เข้าไปด้วย”

ถึงตอนนี้แมตต์เองจะยังตอบไม่ได้ว่า สกอร์ของเกมนี้จะจบลงอย่างไร แต่สิ่งที่เขารู้แน่ก็คือมันเป็นเกมที่เขาใช้ความทุ่มเททั้งชีวิตในการเล่นและเดินเกมด้วยความรักในกีฬาที่เรียกว่า “ฟุตบอล”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้