นานาสาระ โรคอันตรายที่มากับฤดูหนาว

นานาสาระ โรคอันตรายที่มากับฤดูหนาว

นานาสาระ โรคอันตรายที่มากับฤดูหนาว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว... นอกจากลมหนาวที่รอคอยแล้ว ยังมีสิ่งที่เราไม่ได้รอคอยแฝงมาด้วย สิ่งนั้นคือ "โรคอันตราย"ที่ต้องพึงระวัง ในช่วงที่อากาศเย็นเป็นเวลาที่เอื้อต่อการอยู่รอดและแพร่กระจายของไวรัส ทราบไหมว่าโรคอันตรายที่ว่า มีโรคอะไรกันบ้าง?

1. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน เชื้อต้นเหตุเป็นไวรัสที่ เรียกว่า อินฟลูเอ็นซาไวรัส (influenza virus) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิดคือ influenza A และ B ส่วนไวรัส influenza อีกชนิดหนึ่งคือ influenza C มีความรุนแรงน้อยและไม่มีความสำคัญในการแพร่ระบาด จึงอาจไม่นับอยู่ในกลุ่มของโรคไข้หวัดใหญ่

ความสำคัญของไข้หวัดใหญ่อยู่ที่การที่ไวรัสนี้มีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางได้บ่อย บางครั้งเป็นการแพร่ระบาดทั่วโลก (pandemic) การแพร่ระบาดมักเกิดในช่วงฤดูหนาว โดยทั่วไปทุกฤดูหนาวจะมีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นกว่าฤดูอื่นๆ ในแต่ละปีมีการประมาณว่า มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกสูงถึง 10-15% ของประชากรทั้งหมด

การที่ไวรัสมีการแพร่ระบาดได้อย่างกว้างขวางนี้เนื่องจากลักษณะที่สำคัญของไวรัสชนิดนี้ที่มีการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมที่กระจายอยู่ในอาร์เอ็นเอระหว่างไวรัสด้วยกันที่เอื้อให้เกิดไวรัสลูกผสมที่มีความสามารถแตกต่างจากเดิม และเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะของโปรตีนสำคัญที่เป็นเป้าหมายในการโจมตีของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ง่าย เมื่อลักษณะของโปรตีนดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปก็ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ที่เคยติดเชื้อไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ ทำให้สามารถติดเชื้อซ้ำได้อีก ดังนั้นเมื่อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงไปครั้งหนึ่งจึงมักมีการระบาดตามมาเพราะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่

ปัจจุบัน มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยผู้ที่ควรรับวัคซีน ได้แก่ เด็กเล็ก คนชรา แพทย์ และพยาบาลโดยต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนทุกปี เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมทำให้มีไวรัสลูกผสมสายพันธุ์ใหม่และร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่

2. ไข้หวัด (Common cold)
ไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการคล้ายๆ ไข้หวัดใหญ่ได้ แต่ข้อแตกต่างก็คือไข้หวัดธรรมดามักมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม คันคอ เป็นอาการเด่น ไม่ค่อยมีอาการไข้ และปวดกล้ามเนื้อ
ความสำคัญที่ต้องแยกไข้หวัดใหญ่ออกจากไข้หวัดธรรมดานั้น ไข้หวัดใหญ่มีภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยกว่า และโดยทั่วไปอาการรุนแรงและยาวนานกว่าไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดธรรมดามีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้น้อยมาก แต่ไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงชีวิตได้เช่นปอดบวม ดังนั้นหากแพทย์วินิจฉัยแแยกอาการไข้หวัดใหญ่ออกจากไข้หวัดธรรมดาได้ก็จะช่วยให้ดูแลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้ดีขึ้น

เชื้อหวัดเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ แบ่งเป็นกลุ่มไวรัสหลักๆ ประมาณ 9 ชนิด แต่ละชนิดยังแยกไปอีกนับสิบสายพันธุ์ รวมกันแล้วจึงมีเกิน 100 ชนิด เชื้อเหล่านี้ทำให้เกิดอาการของโรคต่างกันไป ขึ้นกับสายพันธ์และภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อ เช่น ไรโนไวรัส ( Rhinovirus) อาจทำให้เกิดหวัดธรรมดา คันจมูกน้ำมูกไหล ไอ จามในผู้ใหญ่ แต่เชื้อเดียวกันนี้อาจทำให้เป็นปอดอักเสบติดเชื้อ คือมีไข้ ไอหอบเหนื่อย และอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ในเด็กเล็กๆ เป็นต้น ไวรัสบางตัวก็ทำให้เป็นหวัดคัดจมูกธรรมดา อาจมีเจ็บคอ คออักเสบ หรืออาจมีหลอดลมอักเสบ ซึ่งจะมีอาการไอมากตลอดเวลา ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบด้วย ไวรัสบางชนิดเช่นเชื้อไข้หวัดใหญ่ อินฟลูเอนซ่าไวรัสบี (Influenza virus) อาจทำให้มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เพลียลุกไม่ไหว หรืออาจมีแค่เจ็บคอมีน้ำมูกเฉยๆ ก็ได้ แม้ว่าจะเป็นโรคที่หายเองใน 1 สัปดาห์ แต่เป็นโรคที่นำผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นไข้หวัด 6-12 ครั้งต่อปี ผู้ใหญ่จะเป็น 2-4 ครั้ง ผู้หญิงเป็นบ่อยกว่าผู้ชายเนื่องจากใกล้ชิดกับเด็ก สำหรับผู้สูงอายุอาจจะเป็นปีละครั้ง

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคหวัด เนื่องจากมีเชื้อไวรัสสาเหตุมีมากชนิด มีรายงานบางชิ้นระบุว่าวิตามินซีอาจช่วยป้องกันโรคหวัดได้ ในขณะที่ รายงานอีกหลายชิ้นระบุว่าวิตามินซีไม่สามารถป้องกันโรคหวัดได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สามารถทำได้คือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีคุณค่า เท่านี้ก็เพียงพอต่อการป้องกันไข้หวัด.

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
chiangmainews.co.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook