เชค มุสซาฟาร์ ชูกอร์ หล่อ เฟอร์เฟค แบบนี้มีอีกไหม?
ผมว่า ใครที่ได้เห็นหนุ่มหล่อคนนี้ ก็คงจะอึ้งไปตามๆกัน เพราะ คนอะไร นอกจากจะหล่อแล้ว ยังเก่งอีกด้วย หาคนแบบนี้ที่ไหนในโลก คงยากแล้วล่ะครับ
หนุ่มคนนี้ชื่อ ดร.เชค มุสซาฟาร์ ชูกอร์ นักบินอวกาศคนแรกของมาเลเซีย โดยเขาเกิดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2515 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นชาวมาเลย์โดยกำเนิด
ด้านเขาจบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ วิทยาลัยการแพทย์คัสเตอร์บา ประเทศอินเดีย จากนั้นกลับมาเรียนต่อเฉพาะทางด้านออร์โธปิดิค ที่มหาวิทยาลัยเคบังซาน ในมาเลเซีย เมื่อเรียนจบ เขายังมีหน้าที่เป็นทั้ง นายแพทย์ และ อาจารย์แพทย์ อีกด้วย
ในด้านความหล่อ เขาก็ไม่ได้ทิ้งไปเฉยๆ นะครับ เพราะเขายังรับงานเสริม คือการเป็นนายแบบ อีกด้วย
แล้วมาเป็นนักบินอวกาศได้อย่างไร?
ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน มาเลเซียกับรัสเซียมีข้อตกลงความร่วมมือทางด้านอวกาศ จนปี 2530 รัสเซียก็เสนอจะฝึกนักบินอวกาศให้กับมาเลเซีย แต่มาเลเซียยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ
กระทั่งปี 2545 นายกรัฐมนตรี มหาธีร์ มูฮัมหมัด ของมาเลเซีย เดินทางเยือนรัสเซีย หนึ่งในประเด็นที่ทั้ง 2 ประเทศพูดคุยกัน คือ เรื่องการส่งชาวมาเลย์ไปฝึกเป็นนักบิน
อวกาศที่รัสเซีย ความคืบหน้าของความร่วมมือระหว่างกันจึงค่อยก่อตัวเป็นเค้าราง หนึ่งปีให้หลัง วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เดินทางเยือนมาเลเซีย ซึ่งในที่สุดก็มีการลงนามในข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศเรื่องความร่วมมือทางด้านอวกาศ
เนื้อหาคือ รัสเซียจะช่วยฝึกนักบินอวกาศชาวมาเลย์ และจะให้ร่วมเดินทางกับนักบินอวกาศชาวรัสเซีย เพื่อไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นการแลกเปลี่ยนกับที่มาเลเซียจัดซื้อเครื่องบินรบ 18 ลำของรัสเซีย มูลค่าเกือบหนึ่งพันล้านดอลลาร์ แต่มาเลเซียก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการให้คนของประเทศตนขึ้นท่องอวกาศด้วย จำนวน 25 ล้านดอลลาร์
ไม่ได้คิดไกลตัวโดยไม่มีรากฐาน เพราะมาเลเซียได้ตั้งองค์กรด้านอวกาศขึ้นในปี 2545 เรียก มาเลเชียน เนชั่นแนล สเปซ เอเจนซี่ เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องเกี่ยวกับอวกาศของมาเลเซีย
เมื่อ มาเลเชียน เนชั่นแนล สเปซ เอเจนซี่ เปิดรับสมัครประชาชนที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไปและมีสุขภาพแข็งแรง เพื่อเข้ารับการคัดเลือกตัวเป็นนักบินอวกาศ ก็ปรากฏว่ามีชาวมาเลย์ที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายแห่กันมาสมัครอย่างล้นหลามมากกว่า 10,000 คน!!
แน่นอนว่า คนที่ฝันอยากจะเป็นนักบินอวกาศมาตั้งแต่เด็กอย่าง มุสซาฟาร์ ย่อมไม่ปล่อยให้โอกาสดีอย่างนี้หลุดลอย
เพราะเขามีคติประจำใจที่ว่า แค่เชื่อว่าทำได้...ก็ไม่มีขีดจำกัดใดในชีวิต
ผ่านบททดสอบเข้าขั้นหินแล้ว ราวต้นปี 2549 มุสซาฟาร์และชาวมาเลย์อีก 3 คน ก็ได้รับการคัดเลือก เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมเบื้องต้นที่ สตาร์ ซิตี้ ประเทศรัสเซีย
เมื่อเสร็จสิ้น ก็มีเพียงมุสซาฟาร์ และ ฟาอีซ คาลีด เท่านั้นที่ผ่านเข้าสู่การฝึกอบรมแบบเข้มข้นที่ใช้เวลาถึง 18 เดือน
ในที่สุด มุสซาฟาร์ ก็ได้รับเลือกให้เป็นนักบินอวกาศ
วันที่ 10 ตุลาคม 2550 กลายเป็นวันที่ชาวมาเลย์ทั้งประเทศจะไม่มีวันลืม เมื่อยานโซยูซ ทีเอ็มเอ-11 พา มุสซาฟาร์ และนักบินอวกาศอีก 2 คน คือ เพ็กกี้ วิทสัน ชาวอเมริกัน และ ยูริ มาเลนเชนโก ชาวรัสเซียน ทะยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศ จากฐานบินอวกาศไบโคนูร์ ประเทศคาซักสถาน
ความสุขเข้าปกคลุมมาเลเซียทั้งประเทศ ผู้คนทุกเพศทุกวัยต่างเฝ้ารอดูมุสซาฟาร์ขึ้นท่องอวกาศด้วยความตื่นเต้นและชื่นชม
"ผมภูมิใจอย่างมากที่เรามีนักบินอวกาศคนแรกของประเทศ และได้ไปปฏิบัติภารกิจในอวกาศ นับเป็นช่วงเวลาที่น่าปลาบปลื้มและน่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับประเทศชาติ" อับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย บอกไว้ตอนนั้น
ภารกิจของมุสซาฟาร์ระหว่างใช้ชีวิตอยู่ในยานอวกาศ และที่สถานีอวกาศนานาชาติ คือ การทำวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของสภาวะไร้น้ำหนักและคลื่นในอวกาศที่มีต่อเซลล์ต่างๆ และทดสองสารประกอบโปรตีน เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนต้านเชื้อเอชไอวี
มุสซาฟาร์ไม่ใช่ชาวมุสลิมคนแรกที่เป็นนักบินอวกาศ แต่เขาเป็นชาวมุสลิมคนแรกที่ขึ้นสู่อวกาศในช่วงเทศกาล "รอมฎอน" หรือเทศกาลถือศีลอดตามศาสนาอิสลาม
เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกันบ้าง โดยหน่วยงานด้านศาสนาอิสลามแห่งมาเลเซียได้ออกหนังสือคู่มือ 18 หน้า ว่าด้วยการปฏิบัติตนตามศาสนาอิสลาม ระหว่างอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติ เล่มแรกของโลกขึ้น เรียกว่า หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นมาเพื่อมุสซาฟาร์เป็นการเฉพาะก็ว่าได้
ในคู่มือบอกถึงวิธีการละหมาดในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง วิธีการหาทิศของเมกกะเมื่ออยู่ที่สถานีอวกาศนานาชาติ วิธีในการหาเวลาในการละหมาด เพราะสถานีอวกาศนานาชาติโคจรรอบโลกวันละ 16 ครั้ง เป็นต้น
มุสซาฟาร์ใช้เวลาอยู่ที่สถานีอวกาศนานาชาติอยู่หลายวัน กระทั่งเดินทางกลับถึงพื้นโลกอย่างปลอดภัยเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ท่ามกลางความดีใจของเพื่อนร่วมชาติ
"นี่เป็นก้าวเล็กๆ ของผม แต่เป็นก้าวย่างที่ยิ่งใหญ่ของชาวมาเลเซีย" มุสซาฟาร์บอกด้วยความภาคภูมิใจ
คำพูดของเขาอาจฟังดูคล้ายคลึงกับที่ นีล อาร์มสตรอง นักบินอวกาศชาวอเมริกันซึ่งเคยไปเหยียบดวงจันทร์เคยกล่าวไว้เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน
แต่ไม่ว่าจะฟังเมื่อไหร่ก็เป็นการเติมพลังและความหวังให้มนุษย์ตัวเล็กบนโลกได้เสมอ
เหตุการณ์ที่มาเลเซียต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ผ่านพ้นไปได้ 2 เดือนแล้ว แต่กระแสความนิยมในตัวมุสซาฟาร์ในฐานะฮีโร่คนหนึ่งของประเทศยังไม่จางหาย
ทุกวันนี้เขาต้องเดินทางไปสถานที่หลายแห่งในมาเลเซีย เพื่อแจกลายเซ็น บรรยาย และพูดคุยถึงประสบการณ์ล้ำค่าที่ได้รับจากการขึ้นไปยังอวกาศที่หลายคนใฝ่ฝันอยากจะไปสักครั้งในชีวิต
มุสซาฟาร์กระตือรือร้นและจริงจังกับการบรรยายแต่ละครั้ง เพราะเขาเชื่อว่า สิ่งที่ทำจะเป็นการจุดประกายให้ชาวมาเลเซียสนใจเรื่องราวของวิทยาศาสตร์และอวกาศมากขึ้น
ทั้งเก่ง ทั้งหล่อ อย่างนี้ เสียใจกับสาวๆ ด้วยนะครับ เขามีภรรยาเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณ บทความบางส่วนจาก
มติชน ออนไลน์
ขอบคุณภาพจาก
FB Dr Sheikh Muszaphar FanClub
อัลบั้มภาพ 22 ภาพ