“หนึ่ง ณรงค์วิทย์” ชีวิตจริงก็คล้ายกับเพลงละคร
ต้องยอมรับว่าเพลงประกอบละครยุคนี้กลายเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่เสริมให้ละครเรื่องนั้นได้รับความนิยมมากขึ้น “หนึ่ง ณรงค์วิทย์” คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังเพลงประกอบละครช่อง 3 หลายบทเพลงโด่งดังติดหู จนต้องรวบรวมเป็นผลงานชิ้นพิเศษ
จากเด็กวัยรุ่นผู้หลงใหลในเสียงเพลงตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ตัดสินใจมุ่งไปสู่การเป็นนักแต่งเพลง ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ไม่มีอะไรง่าย Sanook! Men กับเรื่องราวการเดินทางเพื่อความฝันของนักแต่งเพลงมือทองแห่งยุค
ช่วยเล่าจุดเริ่มต้นการเป็นนักแต่งเพลงให้เราฟังหน่อย
ตอนนั้นเรียนอยู่ปี 2 คณะนิเทศ ชอบฟังเพลงมาก ชอบจนถึงจุดที่รู้สึกว่าน่าจะทำได้จึงเป็นจุดเริ่มต้นว่า อยากเดินไปสมัครเป็นนักแต่งเพลง เลยไปสมัครที่บัตเตอร์ฟลาย ที่นั่นเป็นแหล่งรวมโปรดิวเซอร์เก่งๆ ที่ทำเพลงป้อนให้หลายค่ายทั้งคีตา แกรมมี่ฯลฯ พอไปถึงเราก็เจอพี่อ้อง สุรสีห์ อิทธิกุล พี่จิรภา อังศวานนท์ ซึ่งโชคดีที่เขาให้โอกาสเด็กคนนึ่งที่ไม่มีประสบการณ์ มันจึงเป็นจุดเริ่มต้น หลังจากนั้นเราจึงแต่งเพลงมาเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่เก่ง เพราะเราไม่มีพื้นฐานเลย ตอนนั้นยังไม่ได้ทำเป็นอาชีพเพราะยังเรียนอยู่ พอมีรายได้มาจากการแต่งเพลงบ้างเล็กน้อย แต่ไม่เยอะแยะอะไร
อะไรทำให้คุณคิดว่าจะยึดสิ่งนี้เป็นอาชีพ
พูดตรงๆ ตอนนั้น เราก็ไม่รู้หรอกว่าอาชีพนี้เป็นยังไง มันจะหาเงินให้เรามากน้อยแค่ไหน มันจะยั่งยืนมันจะยืนยาวไหม แต่รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่เราชอบ รู้เท่านั้นเอง แล้วเราก็อยากทำในสิ่งที่เรารักเราชอบ ก็ไม่คิดว่ามันเป็นอาชีพที่มีคนมารู้จักเยอะแยะ
พอมาเป็นนักแต่งเพลง ต้องมีวิธีคิดวิธีเขียน คุณได้แรงบันดาลใจมาจากไหน
เราจะเป็นลักษณะ ครูพักลักจำมากกว่า เป็นลักษณะที่ว่า ไม่มีใครสอน แต่เรียนจากเพลงที่เราฟัง พอเราฟังเราก็วิเคราะห์ของเราไปด้วยว่า เขาเขียนอย่างนี้เนาะ แล้วเราก็มาดัดแปลงใช้เขียนของเรา การที่เราฟังเยอะมันก็เหมือนกับการอ่านหนังสือ มันทำให้เรารู้สึกว่า เรียนรู้ พี่เป็นคนฟังเพลงแล้ว ไม่ใช่แบบ บันเทิงเฉยๆ เราฟังแล้วเราวิเคราะห์ เขาเขียนประโยคนี้ดีเนาะ เราคิดอย่างนี้บ้างไหม อะไรอย่างนี้ครับ พยายามถอดรูทเพลงดัง เท่านั้นเอง
การแต่งเพลงทั่วไปกับเพลงละคร มันแตกต่างกันยังไง
จริงๆ มันก็มีทั้งความเหมือนและความต่าง เพราะว่าจริงๆ เพลงละครมันจะมีเรื่องของบทประพันธ์ บทละครมาตีกรอบเราอยู่ว่าพระเอกนางเอกมันรู้สึกอย่างนี้ มันจะไม่กว้างไปกว่านี้ ส่วนเพลงทั่วไป ตามใจศิลปิน ตามใจคนแต่งได้เต็มที่ แต่เพลงละครเราอาจต้องคำนึงว่าเวลามันไปอยู่ในละคร มันเข้ากันกับละครมากน้อยแค่ไหน ในขั้นตอนของการแต่ง การบันทึกเสียง การทำทางเทคนิคต่างๆ ก็เหมือนเดิม เหมือนกันทั้งหมดทุกอย่าง เพียงแต่ว่าต้นกำเนิดของสิ่งที่เราจะคิดต่างกัน
วิธีคัดเลือกเพลงละครที่แต่งกับศิลปินให้เหมาะสมกับเพลง มีวิธีการอย่างไร
เลือกเสียงที่ใช่มากกว่า คือบุคลิกของพระเอกนางเอก แต่ละเรื่องก็ไม่เหมือนกัน นิสัยใจคอในแต่ละเรื่องก็ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเราต้องเลือกเสียงที่เหมาะสมมากกว่าความดังของนักร้อง ถ้าเราเลือกสิ่งที่ใช่ แล้วคนดูรู้สึกคล้อยตาม เพลงมันก็จะมาเอง พี่รู้สึกว่าความดังของนักร้องไม่มีผลอะไรต่อเพลงละคร
มีเพลงไหนที่พี่หนึ่งใช้เรื่องราวของตัวเองเป็นแรงบันดาลใจ
ถ้าเป็นสมัยก่อนที่ยังไม่แต่งเพลงละครก็หลายเพลงเลย อย่างไม่ต้องรู้ว่าเราคบกันแบบไหนเป็นเรื่องจริงในชีวิตของเรา , เพลงรักตัวเองให้เป็น , เพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ ฯลฯ มันก็จะเป็นเรื่องรอบๆตัว เรื่องของคนใกล้ตัวมาแต่งเป็นเพลง ส่วนเพลงที่เป็นเพลงละคร แล้วส่วนตัวๆ ก็เพลง ยื้อ ที่ เบน ชลาทิศ ร้องเราก็แอบเอาชีวิตจริงของเรามาเขียนในละครได้เหมือนกัน เพราะว่าจริงๆ พี่ก็มองว่าชีวิตคนเรามันก็คล้ายละคร ที่มันเกิดในละครได้เพราะชีวิตจริงมันมี ใครบอกว่าละครน้ำเน่า ก็ชีวิตจริงคนเรามันก็น้ำเน่า
หลังจากที่คุณออกจากแกรมมี่แล้วมาเปิดบริษัทของตัวเองที่ช่อง 3 หลายๆ คนสงสัยในการออกมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
คนเราพอเดินทางมาถึงจุดที่เป็นทางแยก แล้วเรารู้สึกว่าเป็นโอกาสของเราเราก็ตื่นเต้นที่เราจะได้ทำสิ่งนี้ ก็ใช้เวลาคิดนานนะครับ อยู่ที่ GMM ก็ 17 -18 ปี อยู่มานานแต่เรารู้สึกว่าอยากจะออกมาผจญภัย ออกมาพิสูจน์ตัวเองว่ามันจะเป็นยังไง ออกมาไม่ได้มีปัญหานะครับ ตอนนี้ก็ยังเป็นพี่น้องกับที่ GMM อยู่ ออกมาแบบดีๆ ไม่ได้มีปัญหาเลย ทุกวันนี้พี่ก็รู้สึกว่าเดินเข้าไปที่ตึกได้ตลอดเวลา เพียงแค่โอกาสคนเรามันไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง มันอาจจะเป็นเรื่องแปลกสำหรับอาชีพนี้ แต่พี่ว่ามันเป็นเรื่องปกติ ถ้าเป็นอาชีพอื่นเขาก็เปลี่ยนงานกัน เป้าหมายชีวิตคนเราก็ไม่เหมือนกัน พอเราออกมาตรงนี้ก็ดี ได้ทำอะไรที่เราอยากทำมากขึ้น ได้ทำอะไรที่มันสุดๆไปเลย
ในฐานะที่คุณผลิตเพลงป้อนให้ช่อง 3 อยากทราบว่าธุรกิจนี้เติบโตแบบไหน ยังไงบ้าง
ตอนนี้ธุรกิจเพลงไม่ว่าจะค่ายไหนก็ตาม พี่ว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องปรับตัว ให้เข้ากับสภาวะ พฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งคนฟังเพลงตอนนี้ส่วนใหญ่จะฟังกันฟรี ซึ่งเราก็ต้องปรับตัว แต่โอเคโชคดีที่ส่วนหนึ่ง จุดยืนของเราในการทำเพลงละคร เรามองว่า เราเป็นคอนเทนท์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของละคร คือเพลงละครเป็นส่วนหนึ่งของตัวละคร ฉะนั้นเราก็เลยลดทอนความเครียดเราไปได้บ้าง เหมือนกับว่า โอเค เรามองเพียงของเรา เป็นส่วนหนึ่งในละคร มันเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีอยู่ในละคร เศษส่วนในตัวที่เป็นเรื่องของธุรกิจ เราก็พยายามปรับตัว ให้เข้ากับยุคสมัย ตามสถานการณ์ผู้บริโภค ถ้าไม่ซื้อกันเลย แล้วเราจะทำยังไง ก็เป็นโจทย์ที่เราต้องพยายามแก้ แก้กันอยู่นะครับ ไม่ใช่ที่นี่ที่เดียว ทุกค่ายก็คงกำลังแก้กันอยู่ แล้วเราก็พยายามดูว่า พฤติกรรมผู้บริโภคในการฟังเพลงจะเป็นยังไงต่อไป
ถ้าเทียบกับธุรกิจเพลงทั่วไป การเติบโตเป็นอย่างไรบ้าง
มันคนละแบบเพลงละครเป็นเพลงที่คนอินง่าย มีความเหมือนและก็ความต่าง คือเพลงละครเป็นอะไรที่ เขาดูจากในละคร ถ้าเขาประทับใจ ชอบมากๆ ก็จะมาซื้อ มาดาวน์โหลด หรือมาตามฟังต่อใน Youtube ก็โชคดีที่มีสื่อเป็นตัวละคร มาบิวท์ให้เรา ซึ่งตัวละครเป็นสื่อที่ค่อนข้างจะแมสทุกคนดูละครฟรี ไม่มีใครเสียตังค์ ดูละครอยู่บ้าน ทุกชนชั้น ตั้งแต่คนรวย ใครก็ได้ ทุกคนก็สามารถดูละครได้โดยไม่ต้องเสียตังค์ ก็ถือว่ามันก็เป็นอะไรที่ช่วยเราในเรื่องของการทำให้เพลงติดตลาดได้ง่ายขึ้น
หลายครั้งที่เพลงละครดังกว่า ละคร คุณคิดว่ามันประสบความสำเร็จไหม
ก็ดีใจ มันก็มีทั้งสองอย่างนะ คือละครดังเพลงแป๊ก ละครแป๊กเพลงดัง จะแบบไหนก็ตาม เราก็รู้สึกดีใจ ในกรณีที่เพลงดังกว่าละคร ก็เออดีใจ ที่เราทำสำเร็จ แต่จะอย่างไหน ผลจะออกมาแบบไหนก็ตาม เรารู้สึกว่าเราก็ทำเต็มที่ ณ เวลานั้น ณ เวลาที่มี ณ สติปัญญา ณ ตอนนั้น ก็ยอมรับว่าเราไม่ใช่คนที่สามารถบังคับให้เพลงมันฮิตได้ทุกเพลง ทุกเวลา ฉะนั้นก็อยู่ที่สภาวะแวดล้อมจิตใจเราเหมือนกันว่าช่วงนั้นเราคิดออกหรือคิดไม่ออก หรือบังเอิญไอเดียนี้ความคิดนี้มันมาโป๊ะเวลานั้นพอดีอะไรอย่างนี้ มันบังคับกันไม่ได้ว่า คุณจะมาคาดคั้นเพลงฮิตจากเราได้ตลอดเวลา
ยุคสมัยนี้คุณคิดว่า การแต่งเพลงให้ดังมันยากไหม
ก็ยากมาตลอด ไม่ว่ายุคสมัยไหน ไม่มีใครรู้หรอกว่า แต่งเพลงนี้แล้วมันจะต้องดังมาก มีแต่รู้ว่าเพลงนี้ เราแต่งแล้วเราชอบมากเท่านั้นเอง แต่มันก็มีบางครั้งที่รู้สึกว่า เออ เพลงนี้มันน่าจะ น่าจะอย่างงี้ แต่ก็ไม่สามารถฟันธงได้ว่า อันนี้แหล่ะดังแน่นอน อะไรอย่างนี้ล่ะครับ แต่ทุกครั้งที่เราเขียนเพลงจะไม่เอาคำว่า เขียนแบบนี้แล้วมันจะดัง มาเป็นโจทย์ เพราะมันกดดันตัวเราเอง ก็ไม่มีใครรู้ด้วย แล้วเวลาทำงาน ขึ้นต้นเพลงใหม่ทุกครั้ง มันเป็นสิ่งที่ยากสำหรับพี่เสมอ
อยากให้คุณพูดถึงหน้าที่ของเพลงละคร มันมีหน้าที่อย่างไร
พี่ว่าเพลงละคร ทำหน้าที่บิวท์คนดู บิวท์อารมณ์ว่าเศร้าแล้วนะ นี่กำลังรักกันมากนะ อะไรอย่างนี้ คือบิวท์อารมณ์มากกว่า เพราะพี่เคยดูละครแบบแห้งๆ มันก็จะอีกแบบนึง แล้วก็ดูละครที่สำเร็จแล้ว ที่ฉายบนจอ มันก็จะมีเพลง มีสกอร์ มีดนตรีมา มันก็จะบิวท์อารมณ์ ทำให้รู้สึกว่าฉันเข้าถึงอารมณ์ของตัวละครได้มากขึ้น พอจะเศร้า ก็มีเพลงเศร้าขึ้นมาอะไรอย่างนี้ ซึ่งบางทีเราก็สามารถเล่นมิวสิควีดีโอของเราได้
คุณสมบัติของนักแต่งเพลงที่ดีสำหรับคุณต้องมีอะไรบ้าง
ต้องเป็นคนที่ละเอียดอ่อนในเรื่องความรู้สึก ต้องรู้จักความคิดความอ่านของคน ต้องเข้าถึงอารมณ์คนจริงๆได้ พี่ว่าถ้าเราเข้าถึง เราละเอียดอ่อน ก็จะทำให้เราแต่งเพลงได้ลึกซึ้ง พี่ก็ยอมรับว่า พอมาเป็นนักแต่งเพลง เราแคร์ความรู้สึกคนอื่นมากขึ้นนะ เวลาเราจะทำอะไรทีก็แบบ เออ มันจะเสียใจปะวะ อะไรอย่างนี้ แคร์ความรู้สึกคนอื่นจากงานที่เราทำเนี่ยแหละ
คุณมองวงการเพลงในปัจจุบัน และวางอนาคตไว้อย่างไรบ้าง
ยังเคยคิดอยู่ว่า เฮ้ย! แล้วฉันจะแต่งเพลงไปจนถึงอายุเท่าไร แต่ถ้าดูตัวอย่างพวกพี่ๆ ที่แต่งเพลง เขาอายุเยอะแล้วก็ยังแต่งกันอยู่ เราก็รู้สึกว่าก็อยากแต่ง แต่งเท่าที่ตัวเองจะทำไหว อนาคตเป็นสิ่งที่ไกลมาก แล้วก็ไม่ได้มองไปไกลขนาดนั้น มองภาพลางๆ ของตัวเองไว้บ้างเหมือนกัน ไม่อยากจะมองไกลมาก คิดว่าตัวเองยังต้องทำงานตรงนี้ไปอีกนาน เพราะว่ามีลูกน้องให้ดูแล ตอนนี้เราไม่ใช่ตัวคนเดียว มีลูกน้อง ถ้าฉันเลิกไปก่อน ทำไงล่ะ มีอีกหลายชีวิตที่เรายังต้องรับผิดชอบเขาอยู่ แต่โอเคอนาคตเราอาจจะแต่งเพลงน้อยลง แต่เราจะเป็นผู้ตรวจมากขึ้น อาจจะเป็นครู สอน เทรนเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมามากขึ้น แล้วก็จะแต่งที่แบบว่า ตัวเองถนัดจริงๆเน้นๆ ไม่ได้แต่งเยอะมาก แบบทุกวันนี้
เด็กรุ่นใหม่ บางคนก็อยากเป็นแบบคุณ การเป็นนักแต่งเพลงที่ประสบความสำเร็จ ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง
ต้องอดทนครับ กว่าณรงค์วิทย์จะเป็นแบบทุกวันนี้ถ้าเราท้อไปซะก่อนกลางทาง เราก็คงไม่มีวันนี้ เพราะกว่าจะมีวันนี้เราใช้เวลาเป็นสิบปี กว่าคนจะมารู้จักชื่อเรา สิบปีที่รอคอย เป็นตอนที่เราต้องพัฒนาตัวเอง จากคนที่แต่งเพลงไม่ได้เรื่อง กล้าพูดเลยว่าช่วงแรกตัวเองแต่งเพลงไม่ได้เรื่อง ค่อยๆเก่งขึ้น คือเราเรียนรู้จากคำที่ถูกคนอื่นคอมเมนท์ว่ามันไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ แล้วก็มาพัฒนาตัวเองครับในช่วงที่พัฒนาตัวเองต้องมีความอดทนมากพอ ในการที่จะเผชิญกับความผิดหวัง เพราะว่าเส้นทางมันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ กว่าที่จะมาเป็นหนึ่ง ณรงค์วิทย์ได้ก็กินลูกท้อไปเยอะเหมือนกัน แต่เราก็รู้สึกโอเค เรามีลูกอึด แล้วเราก็รักตรงนี้จริงๆ ถ้าใครอยากจะเป็นแบบเรา ขนาดพี่ทำได้ คุณก็อาจจะมีสิทธิ์ทำให้ชีวิตตัวเองเป็นอย่างเราได้