"คำแนะนำ 4 ประการ" สำหรับคนวัย 20 กว่า... เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว
ปกติแล้ว คนในวัย 20 กว่าๆ มักจะไม่ค่อยใส่ใจเรื่องสุขภาพมากนัก แต่รายงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ไลฟ์สไตล์หรือลักษณะการใช้ชีวิตของคนวัยนี้ โดยเฉพาะอาหารการกินและการออกกำลังกาย จะส่งผลกระทบอย่างมากเมื่ออายุมากขึ้น
รายงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Northwestern ระบุว่าการมีสุขภาพที่ดีตั้งแต่วัย 20 กว่าๆ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคที่เกี่ยวกับหัวใจเมื่ออายุมากขึ้น
รายงานชิ้นนี้บอกด้วยว่า คนส่วนใหญ่ที่ดูแลสุขภาพของตนเองตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น คือการมีรูปร่างสมส่วน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณ ไม่สูบบุหรี่ ทานอาหารมีประโยชน์ และออกกำลังกายสม่ำเสมอนั้น จะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงไปจนถึงวัยกลางคนเป็นอย่างน้อย
ขณะที่รายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC ชี้ว่าน้ำหนักตัวที่ไม่เหมาะสมของคนเราเมื่อแก่ตัวลงนั้น มักเริ่มสะสมตั้งแต่วัย 20 กว่าๆ
อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องยากสำหรับคนวัยนี้ที่จะมุ่งความสนใจไปที่เรื่องสุขภาพ เนื่องจากเป็นวัยที่ต้องทำงานหนักหลายชั่วโมง ซึ่งอาจทำให้มีเวลาออกกำลังกายและพักผ่อนน้อยลง นอกจากนี้ยังเป็นวัยที่ต้องเผชิญแรงกดดันหลายอย่าง ทั้งจากที่ทำงาน ครอบครัว การเงิน หรือแม้แต่คนรัก
รายงานที่ตีพิมพ์ใน New York Times ได้สอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายคน จากสถาบันการศึกษาและสถาบันด้านการแพทย์ชั้นนำหลายแห่งของสหรัฐฯ เช่น ม.Harvard, ม.Penn State, ม.New York และ Cleveland Clinic Foundation เกี่ยวกับคำแนะนำสำหรับการใช้ชีวิตของคนวัย 20 กว่าๆ ซึ่งสรุปได้เป็น 4 หัวข้อหลักๆ ดังนี้
หนึ่งคือการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารประเภทน้ำตาล โดยเฉพาะน้ำตาลที่พบในเครื่องดื่มประเภทซอฟท์ดริ้งก์ หรือน้ำอัดลม และอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดต่างๆ เนื่องจากน้ำตาลนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
ผู้เชี่ยวชาญยังแนะให้จำกัดปริมาณอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน ลดการดื่มแอลกอฮอล์และอาหารแปรรูป แต่ให้เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้แทน
สองคือการเริ่มทำอาหารรับประทานด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินและช่วยให้ทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น โดยให้เน้นใช้ผักและผลไม้เป็นส่วนประกอบหลัก
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เมื่อคนวัยนี้ได้ปรุงอาหารด้วยตัวเองบ่อยเข้า ก็จะค้นพบว่าควรลดส่วนประกอบประเภทใดบ้างที่ไม่มีประโยชน์ เช่น น้ำตาลและเกลือ รู้จักพิจารณาปริมาณแคลอรี่ในอาหารแต่ละชนิด เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการรู้จักเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อตนเองในระยะยาว
สามคือการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเนื่องจากคนวัย 20 กว่าๆ มักจะมีงานปาร์ตี้หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงสุดสัปดาห์ที่มีรับแคลอรี่เข้าสู่ร่างกายเพิ่มขึ้นกว่าวันทำงานเฉลี่ย 115 แคลอรี่ต่อวัน นั่นหมายความว่าคนวัยนี้ก็ควรออกกำลังกายหรือใช้ชีวิตอย่างคล่องแคล่วกระตือรือร้นมากขึ้นด้วย
รายงานชิ้นนี้แนะนำให้ออกกำลังกายวันละ 20 – 30 นาทีต่อวันเพื่อการมีสุขภาพที่ดี และพยายามเฝ้าดูระแวดระวังน้ำหนักของตนตลอดเวลา เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันทีเมื่อน้ำหนักเพิ่มขึ้นผิดสังเกต
สี่คือการทำงานที่ตัวเองชื่นชอบ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าชีวิตการทำงานในช่วงวัย 20 ต้นๆนั้น สามารถส่งผลกระทบได้ถึงสภาพร่างกายและสภาพจิตใจในวัยกลางคน กล่าวคือหากไม่ได้ทำงานที่ตนรักตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคซึมเศร้า เครียด หรือปัญหานอนไม่หลับ เมื่ออายุมากขึ้น
ในทางกลับกัน การได้ทำงานที่ตนเองรักก็สามารถช่วยเสริมสร้างแรงบันดาลใจ ความกระตือรือร้น และการมองโลกในแง่ดีต่ออนาคตของตนเองได้เช่นกัน
(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจาก New York Times)