รู้จักกับเซบาสเทียว ซาลกาโด ช่างภาพระดับโลก ครั้งแรกกับนิทรรศการที่เมืองไทย

รู้จักกับเซบาสเทียว ซาลกาโด ช่างภาพระดับโลก ครั้งแรกกับนิทรรศการที่เมืองไทย

รู้จักกับเซบาสเทียว ซาลกาโด ช่างภาพระดับโลก ครั้งแรกกับนิทรรศการที่เมืองไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เขาไม่ได้เป็นเพียงช่างภาพที่ยอดเยี่ยมเท่านั้น แต่เขาอาจจะเป็นช่างภาพยอดเยี่ยมคนสุดท้าย” นี่คือคำยกย่องของสื่อใหญ่อย่างเดอะ การ์เดี้ยน ที่มีต่อหนึ่งในช่างภาพผู้ยิ่งใหญ่ของยุคอย่าง เซบาสเทียว ซาลกาโด

ภาพถ่ายของเขา คือเวทย์มนต์อย่างหนึ่งที่กล้องฟิล์มจะบรรณาการทุกความรู้สึกให้ผู้ชมสัมผัสได้ ตั้งแต่ภาพของคนทำเหมืองทองที่บราซิล เหตุการณ์ที่คนจำนวนมากหนีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ภาพถ่ายช้างแอฟริกาและสิงโตในมุมที่ไม่มีใครเคยได้เห็น ไปจนถึงการตามหาชนเผ่าที่อารยธรรมของพวกเขา “แช่แข็ง” และห่างไกลจากโลกที่ “พัฒนาแล้ว” ในยุคสมัยนี้

ชีวิตของช่างภาพวัย 70 กว่าปีผู้นี้ มีเสน่ห์และน่าหลงใหลพอกันกับภาพของเขาชีวิตของเขา เขาเติบโตที่ป่าบ้านไร่บ้านนาในบราซิล ตอนวัยรุ่นหนีไปฝรั่งเศสเพราะถูกรัฐบาลเผด็จการไล่ล่า เดินทางไปทั่วโลกจนค้นพบว่าตนเองชอบถ่ายภาพ ช่วงครึ่งแรกของการทำอาชีพถ่ายภาพ เขาเลือกที่จะถ่ายภาพในพื้นที่ที่เขาถึงได้ยาก อย่างเช่น บ่อน้ำมัน เหมืองทอง เคยถ่ายภาพการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันดาในช่วงทศวรรษที่ 90 ก่อนจะกลับมาที่บราซิลเพื่อทำการปลูกป่า จนมาถึงจุดหนึ่ง ซาลกาโดได้เปลี่ยนแนวมาถ่ายภาพธรรมชาติ ชนเผ่า โดยเลือกพาตัวเองไปในที่ที่ยังไม่ถูกรุกรานจากวิถี “พัฒนา” จากภายนอก

เซบาสเทียว ซาลกาโด เกิดในปี ค.ศ.1944 เขาเติบโตบนท้องไร่ท้องนาที่ล้อมรอบไปด้วยป่าดงดิบทางตอนใต้ของประเทศบราซิล เขาเติบโตมากับการเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผัก และทานอาหารจากผลผลิตที่ครอบครัวเขาผลิตเอง จนเมื่อเป็นวัยรุ่น เซบาสเทียว ซาลกาโดได้ออกสู่โลกภายนอกครั้งแรกด้วยการไปเรียนในระดับมัธยมศึกษา แล้วมาเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ต่อที่มหาวิทยาลัยในเมือง

ในช่วงเวลานั้น ชีวิตของชายหนุ่มไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการถ่ายภาพเลย แต่เป็นช่วงที่อุดมการณ์ทางการเมืองในแบบ “ซ้าย” ของเขากำลังคุกรุ่น ในยุคที่ประเทศบราซิลยังปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการ

ซาลกาโด มีทางเลือกสองทาง นั่นก็คือ เข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธ หรือหนีไปจากประเทศนี้เสีย และโชคดีที่เด็กหนุ่มเลือกอย่างหลัง เราจึงได้เห็นเขาเป็นช่างภาพในเวลาต่อมา

เซบาสเทียว ซาลกาโด

ในเวลานั้นเอง เซบาสเทียว ซาลกาโด และไลเลีย มานิค เลือกที่จะเดินทางมาที่เมืองที่แสนจะรุ่มรวยทางวัฒนธรรมอย่างเมืองปารีส ฝรั่งเศส แต่เขาก็ยังไม่ได้เลือกที่จะเดินทางในสายช่างภาพ ซาลกาโดเลือกเรียนปริญญาเอก ด้านเศรษฐศาสตร์จนจบ แล้วเริ่มออกเดินทางไปทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจในหลายพื้นที่บนโลก โดยเฉพาะที่แอฟริกา

การเดินทางบ่อยครั้งนั่นเอง ทำให้ซาลกาโดมีโอกาสได้ใช้กล้องในการบันทึกภาพผู้คนและสังคมที่เขาผ่านพบไปเจอ นั่นเองทำให้เขาเริ่มจุดประกายในใจว่า ชีวิตของเขาจริง ๆ อาจจะเหมาะกับการเป็นช่างภาพมากกว่า

และซาลกาโดเลือกไม่ผิด สิ่งที่ค่อย ๆ สะสมเป็นตัวเขาเอง ทำให้ซาลกาโดกลายเป็นช่างภาพที่มี “ลายเซ็น” เฉพาะตัว

ซาลกาโด เคยพูดในเวที Ted Talk เมื่อปี 2013 ว่า มีคนมองว่าเขาเป็นช่างภาพเชิงข่าว เขาเป็นช่างภาพที่เป็นนักเคลื่อนไหวสังคม บางคนก็ว่าเขาเป็นช่างภาพที่มีความเป็นนักมานุษยวิทยา แต่เขาบอกว่า เขาเป็นช่างภาพที่มีมากกว่านั้น ซึ่งหากพิจารณางานของเซบาสเทียว ซาลกาโดแล้ว เราจะเห็นความมีเสน่ห์ มีมนตร์ขลัง ทรงพลัง และไร้กาลเวลา อย่างเช่น ภาพคนจำนวนหลายร้อยคนทำงานในเหมืองแร่ทองคำที่ Serra Pelada ที่บราซิล ที่อารมณ์ของภาพถูกชวนให้ตีความอย่างหลากหลาย ทั้งชวนให้นึกถึงภาพของอารยธรรมโบราณ ไปไกลจนถึงการจินตนาการว่าเป็นภาพนรก แต่สิ่งที่ทำให้งานภาพชิ้นนี้ของซัลกาโด้นั้นโดดเด่นนั่นเพราะว่า แม้ว่าภาพนี้จะถูกถ่ายมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 หรือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

ภาพถ่ายคนจำนวนหลายร้อยคนทำงานในเหมืองแร่ทองคำที่ Serra Pelada ที่บราซิล

ภาพถ่ายอีกชุดหนึ่งที่กระทบความรู้สึกของทั้งผู้ชมและช่างภาพ ก็คือ ภาพที่ซาลกาโดถ่ายบันทึกเหตุการณ์ที่ผู้คนอพยพหนีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันดาในปี ค.ศ.1994 ซึ่งทำให้มีคนตายร่วมล้านคน

เขาทำงานถ่ายภาพที่เจาะลึกถึงเหตุการณ์ และสถานที่ที่เข้าถึงยากแบบนี้หลายต่อหลายปี จนชีวิตมาถึงจุดเปลี่ยนตรงที่ เขาเหนื่อยกับการเห็นคนตายจำนวนมากมาย ความรู้สึกนี้กระทบต่อจิตใจของเขาแล้วลามมาสู่ร่างกาย เหมือนกับว่าเขาป่วยไข้ แต่หายสาเหตุไม่พบ เพราะมันเกิดจากหัวใจที่อ่อนล้าของเขาเอง

หลังปี 2000 ซาลกาโด จึงหยุดถ่ายภาพ แล้วเดินทางไปค้นหาคำตอบที่บ้านเกิดของเขาเอง...

สิ่งที่เขาเห็นที่บ้านเกิด ในบราซิล ช่างต่างจากอดีตที่เขาเติบโตมา ในขณะที่ประเทศบราซิลพัฒนาจนถึงขีดสุด แต่ป่าไม้ในประเทศถูกทำลายไปจำนวนมากมาย บ้านเกิดของซาลกาโดที่อดีตเต็มไปด้วยป่าดงดิบ ปัจจุบันก็เหลือแต่เขาหัวโล้นเช่นกัน

ซาลกาโดและภรรยา จึงใช้เวลาฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่บ้านเกิดของเขา รวมถึงสถานที่อื่น ๆ ด้วยการปลูกต้นไม้ เขาได้ปลูกต้นไม้เป็นแสน ๆ ต้นจนในเวลาเพียงไม่กี่เดือน บ้านเกิดของเขากลับมาเขียวชอุ่มด้วยไม้ยืนต้นจำนวนมากมายอีกครั้ง

นั่นเหมือนการฟื้นฟูจิตใจของซาลกาโดให้มีแรงมาจับกล้องถ่ายภาพอีกครั้ง แต่เป็นการถ่ายภาพด้วยแรงบันดาลใจที่แตกต่างจากเดิม

ภาพถ่าย Church Gate Station, Western Railroad Line, Bombay India, 1995

เขาเริ่มมองหาสถานที่ที่ยังไม่ถูกทำลายจากอารยธรรมของมนุษย์ แล้วเริ่มถ่ายภาพ สัตว์ ถ่ายภาพสถานที่ และมนุษย์เผ่าพันธุ์ต่าง ๆ ที่ยังไม่ถูกอิทธิพลภายนอกมากล้ำกราย เขาถ่ายภาพสิงโตและช้างที่แอฟริกา เขาถ่ายภาพวอลรัสที่ขั้วโลกเหนือ ถ่ายภาพเพนกวินที่ขั้วโลกใต้ ถ่ายภาพชนเผ่าต่าง ๆ เก็บไว้มากมายในช่างปี ค.ศ.2004-2011 โดยหวังว่างานภาพของเขาจะส่ง “สาร” ไปสู่ผู้คนทั่วผ่านนิทรรศการภาพถ่ายของเขาจัดไปทั่วโลก

ชีวิตและงานของเซบาสเทียว ซาลกาโด จึงทำให้เขากลายเป็นเช่นภาพผู้พิทักษ์โลก ผ่านเลนส์กล้อง ผ่านภาพถ่ายที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์

ครั้งหนึ่ง ซาลกาโด เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อใหญ่อย่าง เดอะ การ์เดี้ยน ถึงที่มาของวิธีคิดหลังเลนส์ที่ ว่า เพื่อให้ได้ภาพที่ยอดเยี่ยม เขาบอกว่า มันต้องใช้เวลา ใช้สมาธิกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า วางตัวเองลงบนภาพในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น แล้วปล่อยใจให้ไหลไปกับเหตุการณ์และอารมณ์ของผู้คนที่อยู่รายล้อม และเมื่อภาพปรากฏอยู่ตรงหน้า “คุณรู้ว่าคุณจะไปที่ไหน แต่คุณไม่อาจรู้ได้ว่า จะได้อะไรกลับมาบ้าง คุณต้องพร้อมเสมอที่จะจับภาพเหล่านั้น เพราะภาพที่ปรากฏเบื้องหน้าของคุณมันมาให้เห็นเพียงเสี้ยววินาที ทั้งยังมีตัวแปรมาเกี่ยวข้องมากมาย ที่จะทำให้คุณผิดพลาดในตอนถ่ายภาพ"

“การนำประวัติศาสตร์ และความคิดของเราลงไปใส่ในสิ่งที่อยู่ตรงหน้า นั่นล่ะคือ ภาพถ่าย” นี่คือวิธีคิดในการถ่ายภาพแบบเซบาสเทียว ซาลกาโด

ภาพถ่าย Chinstrap Penguins on an Iceberg, between Zavodovski and Visokoi Islands, South Sandwich Islands, 2009

และคราวนี้ เป็นโชคดีของคนไทยที่จะได้ชมผลงานภาพถ่ายของศิลปินระดับโลกผู้นี้ โดยสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดนิทรรศการภาพถ่ายระดับโลก Sebastiao Salgado: The World Through His Eyes โดยงานนี้เป็นการจัดแสดงภาพถ่ายฝีมือของเซบาสเทียว ซาลกาโดจำนวนถึง 120 ภาพ และวาระนี้ซาลกาโดจะเดินทางมาเยี่ยมเยียนเมืองไทยด้วย

นิทรรศการภาพถ่ายระดับโลก Sebastiao Salgado: The World Through His Eyes จะจัดแสดงในระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม 2560 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยเปิดแสดงให้ผู้สนใจเข้าชมฟรี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook