9 คอลเล็กชั่นที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์แฟชั่น
งานแสดงแบบเสื้อสุภาพบุรุษที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์แฟชั่น ซึ่งสื่อสารได้ถึงจิตวิญญาณแห่งยุคสมัย มันคือช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์แฟชั่นที่ถูกบรรจุไว้สั้นๆ แต่ได้ใจความบนเวทีแคทวอล์ค
PRADA
FALL/WINTER 2012
มันไม่ใช่รันเวย์แรกที่อัดแน่นไปด้วยเซเลบริตี้เตร็ดเตร่อยู่บนรันเวย์ แต่นี่คือรันเวย์แฟชั่นที่ผสมลงตัวระหว่างเทรนด์ล่าสุดกับภาพลักษณ์ของดาราฮอลลีวูล ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นภาพดาราดังระดับ 5 ดาวบนรันเวย์พรมแดงทั้งแกรี่ โอลด์แมน, เอเดรียน โบรดี้ หรือแม้แต่วิลเลียม ดาโฟ ในเสื้อผ้าแนวเคร่งขรึมอย่างสูทและโอเวอร์โค้ต พร้อมปกเฟอร์ขนสัตว์ที่สุภาพบุรุษทุกคนปรารถนา
“แฟชั่นไม่เคยเปิดประตูต้อนรับ ‘ความอัปลักษณ์’ ฉันเลยเริ่มทำมันแล้วก็โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย แต่สิ่งนี้แหละคือความสำเร็จของแบรนด์พราด้า” มิวเชีย พราด้า
DIOR HOMME
SPRING/SUMMER 2002
ก่อนที่แซงต์ โลรองต์ (Saint Laurent) จะดูเท่จัดเป็นแนวร็อกในแบบทุกวันนี้ เอดี้ สลิมาน (Hedi Slimane) คือนักออกแบบที่สรรค์สร้างงานออกแบบแนวร็อกให้ประสบความสำเร็จก่อนหน้านี้ที่ดิออร์ ออมม์ ด้วยสไตล์การออกแบบเสื้อผ้าเข้ารูปจัดๆ บวกวงแขนสูง กางเกงเอวต่ำ ช่วงเวลาที่เขาออกแบบให้ดิออร์ในปี 2000 จนถึงปี 2007 จึงจัดเป็นปีทองที่ดิออร์ ออมม์ โด่งดังที่สุดเลยก็ว่าได้
“มันคือสไตล์แฟชั่นสดใหม่จากเอดี้ สลิมาน ที่ดิออร์ ซึ่งคุณต้องผอมเพรียวเท่านั้นถึงจะใส่ได้ มันคือเสื้อผ้าที่ถามว่าอยากใส่ไหม ไปลดน้ำหนักให้เหลือแต่กระดูกสิ ผมจึงทิ้งไขมันในตัวทั้งหมด และลดน้ำหนักไปถึง 40 กิโลกรัม โดยไม่เคยอ้วนขึ้นอีกเลย” คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์
RICK OWENS
FALL/WINTER 2006
มีนักออกแบบไม่กี่คนบนโลกที่สามารถจัดแสดงแบบเสื้อผ้าสุภาพบุรุษได้น่าประทับใจและน่าตกใจได้เท่าริค โอเวนส์ อีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไม่นานมานี้กับคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าที่เผยให้เห็นเจ้าโลกของนายแบบห้อยต่องแต่งออกมานอกชุด หรือก่อนหน้านี้ประมาณ 10 ปีที่แล้ว กับการจัดแสดงโชว์ ณ Pitti Uomo พร้อมหุ่นขี้ผึ้งรูปตัวเองแก้ผ้ายืนฉี่อยู่ โอเวนส์มีความสามารถเป็นอย่างยิ่งในการผสมเสื้อผ้าสไตล์สปอร์ตแวร์และสตรีทแวร์ให้กลายเป็นไฮแฟชั่น แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แบรนด์โอเวนส์กลายเป็นดาวเด่นอย่างสูงสุดคือการริเริ่มเปิดตัวรองเท้าสนีกเกอร์หุ้มข้อรุ่น Geobasket ที่กลายเป็นกระแสโด่งดังติดลมนับตั้งแต่นั้นจนถึงวันนี้
“ผมอยากได้รถบรรทุกขนาดมโหฬารอยู่ที่เท้าของผม” ริค โอเวนส์
สนีกเกอร์หนังหุ้มข้อรุ่น Geobasket จากคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว ปี 2016 จาก RICK OWENS
HELMUT LANG
FALL/WINTER 1998
ไม่มีนักออกแบบคนไหนจะเท่ล้ำโลกได้เท่ากับนักออกแบบดังอย่างเฮลมุต แลง อีกแล้ว ในคอลเล็กชั่นฤดูหนาวปี 1998 แลงขยับเข้าสู่โลกอนาคตมากขึ้นด้วยการจัดรันเวย์แฟชั่นที่ถูกถ่ายทำทั้งภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งก่อนส่งให้เหล่าเอดิเตอร์และบายเออร์ในภายหลังในรูปแบบซีดีดิจิตอล แทนที่การจัดแฟชั่นโชว์แล้วมีคนมานั่งดูตามปกติ ซึ่งในระหว่างการถ่ายทำรันเวย์นี้ยังถูกเผยแพร่แบบไลฟ์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเรียกว่าเป็นแบรนด์แฟชั่นชั้นสูงชื่อต้นๆ ที่เปิดรับโลกเทคโนโลยีได้ทันท่วงทีก่อนหน้านักออกแบบคนใดๆ
GUCCI BY TOM FORD
FALL/WINTER 1995
มันคือจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของกุชชี่ในช่วงทศวรรษ 1990s นี่คือคอลเล็กชั่นแรกที่นักออกแบบดังอย่างทอม ฟอร์ด เปลี่ยนแบรนด์อิตาลีหน้าตาล้าหลังให้กลายเป็นแบรนด์แฟชั่นที่เซ็กซี่ที่สุดในโลก พาเหรดนายแบบและนางแบบในสูทผ้ากำมะหยี่สีอัญมณีกลายเป็นคีย์ลุคสำคัญที่หนุ่มสาวอันทันสมัยที่สุดของยุคนั้นต้องสวมใส่ หนึ่งในภาพไอคอนิกของยุคนั้นคือภาพมาดอนน่ารับรางวัลจาก MTV ในเชิ้ตผ้าซาตินปลดกระดุมโชว์ชุดชั้นใน บวกกางเกงเข้ารูปผ้าซาตินจากกุชชี่
ALEXANDER MCQUEEN
SPRING/SUMMER 1997
หนึ่งในงานแฟชั่นโชว์ที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์แฟชั่น จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แบรนด์อเล็กซานเดอร์ แมคควีน กลายเป็นแบรนด์ดังไปทั่วโลก กับคอลเล็กชั่นที่ผสมเสื้อผ้าบุรุษสตรีเข้าด้วยกัน นี่คืองานแสดงแบบเสื้อที่รับแรงบันดาลใจจากงานประติมากรรมของศิลปินชาวเยอรมันนามฮานส์ เบลล์เมอร์ (Hans Bellmer) ที่เน้นสร้างงานประติมากรรมที่เป็นตุ๊กตาในรูปแบบต่างๆ นี่คือคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าที่แมคควีนเล่นสนุกกับสัดส่วนของเสื้อผ้าที่แตกต่างกัน ด้วยการพยายามยืดสัดส่วนลำตัวให้ยาวขึ้น ผสมผสานกับการใช้โครงเหล็กหรือรูปทรงของเสื้อผ้าที่บังคับร่างกายของมนุษย์ให้ดูผิดรูปปกติเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นกับตุ๊กตาที่ปราศจากชีวิต
“ผมต้องการที่จะยืดสัดส่วนของลำตัวให้ยาวขึ้น ไม่ได้ต้องการแค่จะโชว์ง่ามก้น สำหรับผมมันไม่ได้เป็นแค่ก้นเท่านั้น แต่มันเป็นบริเวณที่สามารถเร้าอารมณ์ทางเพศได้มากที่สุด ไม่ว่าจะผู้ชายหรือผู้หญิง” อเล็กซานเดอร์ แมคควีน
BALENCIAGA
SPRING/SUMMER 2017
คอลเล็กชั่นเสื้อผ้าสุภาพบุรุษคอลเล็กชั่นแรกของบาเลนซิเอก้าโดยฝีมือนักออกแบบที่ฮอตในเวลานี้อย่างเด็มนา กวาซาเลีย (Demna Gvasalia) นี่คือหนึ่งในคอลเล็กชั่นที่เปลี่ยนทิศทางของวงการแฟชั่นเสื้อผ้าบุรุษไปจากเดิม โครงสร้างเสื้อผ้าที่เป็นงานออกแบบที่เล่นสนุกกับการปะทะของสองรูปทรง นั่นคือการขยายออกที่ใหญ่ของรูปทรงไล่ และการหดเล็กของรูปทรงชุดที่คับแน่น สร้างภาพลวงตาให้เกิดกับรูปร่างปกติของมนุษย์ มันคือแนวคิดช่วงหนึ่งจากทศวรรษ 1980s ที่กลับมาโลดแล่นอีกครั้งหลังการเกิดนักออกแบบที่ชื่อกวาซาเลีย
VETEMENTS
SPRING/SUMMER 2017
อีกหนึ่งคอลเล็กชั่นที่ออกแบบโดยเด็มนา กวาซาเลีย (Demna Gvasalia) นี่คือไลน์เสื้อผ้าหลักของตัวเขาที่ถูกนำเสนอในช่วงสัปดาห์แฟชั่นกูตูร์ ความน่าสนใจคือทิศทางการจับมือกับแบรนด์ดังที่มีมากมายกว่า 18 แบรนด์ ให้มาผลิตสินค้าเฉพาะทางที่พวกเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญ เช่น แบรนด์สูทระดับไฮเอนด์อย่างบริโอนิ (Brioni) ก็มารับหน้าที่ผลิตชุดสูททั้งหมดในคอลเล็กชั่น แบรนด์ยีนส์ดังอย่างลีวายส์ (Levi’s) ก็จะรับหน้าที่ผลิตสินค้าที่เป็นหมวดเดนิมทั้งหมด หรือแบรนด์กีฬาแฟชั่นอย่างจุยซี กูตูร์ (Juicy Couture) ก็มารับหน้าที่ออกแบบเสื้อผ้าในหมวดชุดวอร์ม ผ้าขนหนูทั้งหมด เป็นต้น
ความน่าสนใจที่สุดของแฟชั่นโชว์ครั้งนี้คือสถานที่จัดซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าแกลเลอรี่ ลาฟาแยตต์ แต่กลับจัดแสดงในช่วงสัปดาห์กูตูร์ซึ่งเป็นงานแสดงแบบเสื้อชั้นสูงที่ต้องสั่งตัดเท่านั้น เพราะกูตูร์คือเสื้อผ้าที่อยู่ตรงข้ามกับเสื้อสำเร็จรูปที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า การจัดโชว์ครั้งนี้ของเวตมองต์ โดยกวาซาเลีย จึงเหมือนเป็นการตบหน้าโลกโอตกูตูร์แบบตรงจุด มันคือการตั้งคำถามว่ากูตูร์กำลังจะตายแล้วในอีกไม่ช้า
GUCCI BY ALESSANDRO MICHELE
FALL/WINTER 2015
มันคือจุดเริ่มต้นของเทรนด์เสื้อผ้าผู้ชายที่กลายเป็นความหวานจนถึงปัจจุบัน นี่คือคอลเล็กชั่นแรกโดยฝีมือการออกแบบของอเลสซานโดร มิเคเล ที่ใช้เวลาสร้างให้เป็นจริงแค่ 5 วันเท่านั้น หลังจากผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์คนก่อนหน้าลาออกไปกะทันหัน กุชชี่ภายใต้การออกแบบของมิเคเลคือการฉีกภาพลักษณ์ทั้งหมดที่กุชชี่เคยเป็น เสื้อผ้าที่ถูกส่งลงบนรันเวย์กลายเป็นภาพลักษณ์ของกลุ่มหนุ่มสาวใหม่ทั้งหมดที่ไม่เคยปรากฏอยู่ในโลกแฟชั่นทุกวันนี้ นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้กุชชี่ในวันนี้กลายเป็นแบรนด์แฟชั่นแบรนด์เดียวที่มียอดขายสูงสุดแซงหน้าทุกคน
“ตอนที่ทอม ฟอร์ด ลาออกจากกุชชี่ อะไรๆ ตอนนั้นก็ดูผิดทรงไปเสียหมดเหมือนหุ่นผม เวลาเดินเข้าร้านตอนนั้นมันคือความรู้สึกอยากพังร้านกุชชี่ทิ้งเพราะเสื้อผ้าที่ขายแม่งโคตรอัปลักษณ์ กุชชี่ตอนนั้นได้กลายร่างเป็นแบรนด์โคตรล้าสมัย มิเคเลในวันนี้ประสบความสำเร็จในการใส่พลังงานและสีสันให้กลับสู่กุชชี่ได้อีกครั้ง แล้วตอนนี้ทุกคนก็แทบจะตบตีกันเพื่อเป็นเจ้าของสินค้าจากกุชชี่” เซอร์เอลตัน จอห์น กล่าว
Story: POP KAMPOL