นัยรัตน์ ธนไวทย์โกเศส Game Caster หญิงอันดับหนึ่งของไทย
คอลัมน์ Woman We Love นิตยสาร GM ฉบับกุมภาพันธ์ 2560
เรื่อง: ณัฐพล ศรีเมือง
ภาพ: วิภาวดี พิสุทธิ์สิริอภิญญา
เมื่อปีที่ผ่านมา มีรายงานว่าเป็นปีทองของบรรดา YouTuber ทั่วโลก โดย Youtuber ที่ทำรายได้เกินหลักแสนปอนด์นั้นเพิ่มขึ้นถึง 50% เลยทีเดียว ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากอินเทอร์เน็ตมีความเร็วแรงขึ้นตามวันเวลา ส่งผลให้มีคนเข้าถึงมากขึ้น และพร้อมจะเป็นผู้ติดตามมากขึ้น สำหรับ YouTuber ที่ทำรายได้สูงสุดอันดับหนึ่งนั้น คาดว่าน่าจะมีรายได้รวมกว่า 11.8 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทย 500 ล้านบาท! ประเด็นของเราคือ YouTuber อันดับหนึ่งนี้ เป็น YouTuber สายเกม หรือที่เรียกว่า ‘นักแคสต์เกม’ (Game Caster) ปัจจุบันในบ้านเราเองก็มีคนที่ประกอบอาชีพเป็นเกมแคสเตอร์ คือยึดเป็นอาชีพหลักอย่างเดียวอยู่หลายคน ถือเป็นอาชีพใหม่ของคนรุ่นใหม่สมัยนี้ เหมือนกับพวกเน็ตไอดอล หรือบล็อกเกอร์ ซึ่งคนทั่วไปที่ไม่ได้คลุกคลีกับตรงนี้อาจจะไม่ทราบแน่นอนว่านักแคสต์เกมผู้ชายนั้น เราไม่พูดถึงอยู่แล้ว แต่เรากำลังจะพาคุณไปรู้จักนักแคสต์เกมหญิงที่มียอดผู้ติดตามหรือ Subscribers สูงที่สุดในเมืองไทย เธอคือ แป้ง-นัยรัตน์ ธนไวทย์โกเศส ถึงบรรทัดนี้ ถ้าคุณอยากจะเปลี่ยนแพล็ตฟอร์มไปลองเปิดดูช่อง zbing z. ของเธอในยูทูบ เพื่อที่คุณจะได้ยินเสียงของเธอ เห็นสไตล์การนำเสนอคลิปของเธอก่อน เป็นการเพิ่มอรรถรสในการอ่าน เราก็ไม่ว่ากัน แต่ขอบอกเลยว่า เมื่ออ่านจบแล้ว คุณจะกลายเป็น Subscribers คนล่าสุดของเธออย่างแน่นอน!
จากเด็กติดเกมสู่เกมแคสเตอร์
แป้งบอกว่า ถ้าในไทยเธอจะเรียกตัวเองว่า เกมแคสเตอร์ แต่เวลาไปเที่ยว ถ้าต้องใส่อาชีพ เธอก็จะใส่ว่า Youtuber เพราะเป็นคำที่สากลกว่า “เรียกแคสเตอร์น้องๆ จะรู้จักมากกว่า และคำนี้ก็เจาะจงมากกว่า แต่ถ้าเป็นยูทูบเบอร์ก็จะมีหลายสาย ไม่ว่าจะเป็นสายเกม สายเพลง สายเอนเตอร์เทน”
เกมแคสเตอร์ คืออะไร คนที่ไม่ได้สนใจวงการเกมอาจจะยังไม่ทราบว่าทำอะไรยังไง
“เกมแคสเตอร์คือการที่เราเล่นเกม แล้วก็เอาวิดีโอที่เราเล่นไปให้คนอื่นดู” แป้งอธิบาย “แต่ว่าผ่านกระบวนการตัดต่อก่อน ระหว่างเล่นก็มีรีแอคชั่นต่างๆ บางคนจะเปิดกล้อง เพื่อให้เห็นว่าเราเล่นเกมยังไง ทำท่ายังไง เหมือนเป็นอีกสื่อหนึ่งนอกเหนือจากเกมทีเซอร์ที่เขาจะมีอยู่แล้ว แต่ว่าอันนี้คือเราเล่นให้ดู เพื่อที่เขาจะได้รู้ว่า ด่านนี้ผ่านยังไง หรือว่าเกมนี้สนุกยังไง ความสนุกก็จะอยู่ที่การนำเสนอด้วย อย่างหนูก็จะเอาวิธีการพากษ์เข้ามาใส่ อย่างเช่นเกมนี้มีตัวละครอะไรบ้าง เราก็มีการพูดคุยกันระหว่างตัวละคร เพื่อให้เกมมันดำเนินเรื่องไปได้พลิ้วๆ”
พูดง่ายๆ มันก็คล้ายๆ การรีวิวเกมที่ผ่านการนำเสนออย่างสร้างสรรค์ และดูเป็นเอนเตอร์เทนได้ด้วยในตัวนั่นเอง
จุดเริ่มต้นของแป้งกับการเล่นเกม ก็คงเหมือนกับหลายๆ คนที่ผูกพันกับเกมมาตั้งแต่เด็กๆ เธอย้อนความหลังให้เราฟังด้วยแววตาสนุก
“ตอนนั้นที่บ้านมีเครื่องแฟมิคอมอยู่เครื่องหนึ่ง เราก็รู้สึกว่า มันคืออะไร ตอนนั้นยังเด็กๆ ไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็เริ่มเล่นกับพี่ชายสองคน เราก็จะติดมาก เริ่มผูกพันกับเกมมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วพอโตขึ้นเริ่มมีเกมออนไลน์ เราก็จะมีสังคมมากขึ้น ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ทุกวันนี้ก็ยังมีเพื่อนที่อยู่ในเกม ซึ่งรู้จักกันมาตั้งแต่ตอนช่วงมัธยมหรือประถม ผูกพันกันมาจนถึงตอนนี้ เขาทำให้เรารู้สึกว่าไม่เหงาเวลากลับมาจากเรียน คืออยู่ที่โรงเรียนเราก็จะมีเพื่อนอยู่ตรงนั้น แต่ว่าพอกลับมาที่บ้าน ก็จะมีสังคมอีกสังคมหนึ่ง ซึ่งทำให้รู้สึกว่าเราผูกพันกับตรงนี้มาก”
หลังจากแฟมิคอมเธอก็มาเล่นพีซีเลย เกมออนไลน์ที่ติดก็เช่น The Sims, Raknarok, Audition ซึ่งเหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งของเธอ
“ตอนนั้นมันก็ให้ความสนุก รีแลกซ์ไปในตัว แล้วก็ให้ทักษะด้วย เราจะรู้เลยว่าเกมแต่ละด่านไม่ใช่ง่ายๆ ต้องมีทักษะ มีความคิด นอกจากนี้ยังได้ฝึกภาษาด้วย เพราะบางทีเราก็ต้องมีการแปล เพื่อที่จะให้ผ่านด่านหรือว่าแก้ไขปริศนาได้ แต่พอโตมา ตั้งแต่มาทำยูทูบ มันก็ฝึกเราอีกหลายๆ อย่าง เช่นเรื่องการพูด หนูก็จะพูดได้ดีขึ้น ก่อนหน้านี้ก็จะพูดไม่ค่อยเก่ง พูดตะกุกตะกัก พูดกับใครก็จะเขินอาย แต่พอเราเริ่มทำยูทูบ เริ่มมีการเปิดกล้องคุยกับคนอื่น มีการจัดรายการสดให้คนได้มาพูดคุยกับเราในยูทูปไลฟ์หรือเฟซบุ๊คไลฟ์ ก็รู้สึกว่ามันทำให้บุคลิกภาพของเราดีขึ้น”
เธอเคยเป็นเด็กที่ติดเกม แต่อย่างที่บอกว่าเกมช่วยสร้างสังคม ได้ฝึกทักษะ และสุดท้ายทำให้เธอเป็นคนที่รับผิดชอบตัวเองได้ ดังนั้นเกมสำหรับเธอเกมไม่ใช่สิ่งเลวร้ายอย่างที่ผู้ใหญ่บางคนมอง แต่มีด้านดีๆ เยอะมาก ของแบบนี้อยู่ที่ตัวคนมากกว่า
แป้งเริ่มมาทำชาแนลของตัวเองในยูทูบเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว หลังจากเรียนจบมาทางด้านบริหารธุรกิจคอมพิวเตอร์ และยังไม่ได้มีงานทำอะไรจริงจัง เธอรู้สึกว่าอยากทำอะไรเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หามาหลายอย่างแล้วแต่ก็รู้สึกว่ายังไม่ใช่สักที
“คณะหนูมันไม่ได้เจาะจงว่า เราจะเป็นโปรแกรมเมอร์หรือทำอะไรที่เกี่ยวกับคอมฯ มากๆ ได้ เพราะมันก้ำกึ่งระหว่างบริหารกับคอมพิวเตอร์ ทีนี้เราเป็นคนเล่นเกมมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว เลยรู้สึกว่าอะไรล่ะที่เราจะสามารถทำได้เกี่ยวเกม ก็ลองหาพวกยูทูบดู ซึ่งก็จะมีคนที่เขาทำแบบนี้อยู่แล้วในต่างประเทศ เราก็รู้สึกว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่น่าสนใจ แล้วพอมาศึกษาดู มันสามารถหารายได้ได้ และเป็นอาชีพใหม่ที่คนยังไม่ค่อยรู้จัก ก็เลยลองมาทำดู”
จริงๆ ที่บ้านของแป้งมีธุรกิจรอให้เธอทำอยู่แล้ว แน่นอนว่าเมื่อเธอเลือกอาชีพใหม่ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะสำหรับผู้ใหญ่ แป้งจึงต้องพยายามพิสูจน์หนทางที่เธอเลือกพอสมควร
“ที่บ้านเป็นโรงพิมพ์สกรีนผ้า แม่ก็อยากให้เรากลับไปทำ แต่เราอยากจะทำอะไรที่เป็นของตัวเองมากกว่า ลองหามาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นขายของ หาอะไรในเน็ตทำ หรือว่าประดิษฐ์ประดอยของไปขายตามที่ต่างๆ แต่รู้สึกว่ายังไม่ใช่สำหรับเรา จนมาเจองานนี้ หนูก็เลยบอกแม่ว่า ถือเป็นงานสุดท้ายแล้วล่ะที่อยากจะทำ ถ้าทำตรงนี้ไม่สำเร็จ ไม่ลุล่วง เราก็จะกลับไปทำงานที่บ้าน ก็คือยอมละ แต่ว่ามันโอเคก่อน ก็เลยได้ทำตรงนี้ต่อมาจนถึงตอนนี้”
จากศูนย์ถึงล้าน Subscribers
zbing z. ชื่อนี้มีที่มาจากอีเมล์ของแป้งตั้งแต่ตอนสมัยประถมแล้ว “คำว่า zbing หรือซีบิ๊ง ก็มาจากคำว่าสะบัดสะบิ้งน่ะค่ะ” เธอหัวเราะ
ตอนเริ่มต้นทำคลิปแคสต์เกมคลิปแรก แป้งไม่รู้อะไรเลย ข้อมูลทุกอย่างหาเอาจากที่มีคนสอนในยูทูบ อัดยังไง ตัดต่อยังไง ต้องใช้โปรแกรมอะไรบ้าง แล้วเริ่มต้นลงมือทำด้วยตัวเอง เธอยอมรับว่าแรกๆ ยังทำไม่ค่อยเป็น การตัดต่อหรือเทคนิคต่างๆ ก็อาจจะยังไม่ดีเท่าไหร่
“คลิปแรกที่ทำเป็นคลิปที่ไม่ได้เสียตังค์ คือคิดไว้ก่อนแล้วว่า อยากลองเริ่มทำดูก่อน เพื่อที่สมมุติว่ามันไม่เวิร์กยังไง เรายังพอกลับลำได้ ก็ใช้คอมฯ ที่มีอยู่ เป็นโน้ตบุ๊คกะโหลกกะลาของหนู (หัวเราะ) แล้วก็เป็นเกมฟรีที่หาโหลดได้จากเว็บ เกมแรกคือเกม Which เป็นเกมทางเลือกของผีตัวหนึ่ง สร้างช่องมาตอนนั้น คนกด subscribe ศูนย์ ไม่มีใครดู หนูก็ให้ที่บ้านดู ให้เพื่อนดู ยอดวิวก็จะน้อย คือยังไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่”
จนกระทั่งเธอเริ่มทำคลิปเกม Ark เกมแนว survival ที่มีตัวละครเป็นไดโนเสาร์ ซึ่งออกมาอิงกับหนังเรื่องจูลาสสิคเวิลด์พอดี จากที่เคยเล่นเกมแนวนี้แบบปกติ แป้งเริ่มคิดว่าน่าจะใส่บุคลิกให้กับตัวละครในเกม ไดโนเสาร์ตัวนี้พูดยังไง มีลักษณะยังไง มีการตั้งชื่อ เด็กๆ ชอบไดโนเสาร์อยู่แล้ว ก็จะรู้สึกว่าน่ารัก และเป็นที่จดจำ นั่นเองคลิปของแป้งจึงเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
“หนูได้สไตล์นี้มาจากการที่ดูพวกการ์ตูนเยอะๆ การ์ตูนจะมีการพากษ์เสียงโน่นนี่ เราก็รู้สึกว่าเราสามารถทำได้ เสียงเล็กๆ เสียงใหญ่ๆ เราดัดได้อยู่แล้ว อีกอย่างเป็นสไตล์ที่คนยังทำน้อย แล้วเราคนเดียวสามารถสร้างสตอรี่ขึ้นมา ให้คนรู้สึกว่าเหมือนดูหนังเรื่องหนึ่ง และไม่ใช่แค่โทนเดียว แต่ยังมีความหลากหลายของคลิป หนูเลยรู้สึกว่าจุดนี้เป็นจุดเด่นของหนู และสามารถทำให้คนที่ดูยูทูปปกติหันมามองได้ว่า คลิปนี้แปลกนะ มีการตัดต่อที่แปลกดี มีเสียงที่ตลกดี ดูได้เพลินๆ ดูได้ตลอด”
จากคลิปแรก เธอใช้เวลาเกินครึ่งปี กว่าจะมียอดผู้ติดตามถึงหลักแสน เมื่อมีคนติดตามก็มีการบอกต่อ จากหลักแสนใช้เวลารวมปีกว่าๆ ก็ขึ้นมาเป็นหลักล้าน โดยถือเป็นนักแคสเกมหญิงคนแรกที่มียอดผู้ติดตามเกินล้าน กระทั่งถึงปัจจุบันที่ทำมาได้ 2 ปีกว่าๆ ณ ตอนนี้แป้งมียอดผู้ติดตามเกินกว่า 2 ล้าน 4 แสนไปแล้ว
แน่นอนว่า เมื่อ zbing z. ประสบความสำเร็จ มียอด subscribe เยอะขนาดนี้ ย่อมมีแคสเตอร์หญิงรายอื่นๆ เดินตามรอยของเธอ ด้วยสไตล์การพากษ์เสียงเหมือนกัน แล้วอะไรคือความแตกต่างที่ทำให้เธอยังคงอยู่เหนือกว่าคนที่เดินตามหลังมาได้?
“น่าจะเป็นการที่เราไม่ได้เล่นเกมเหมือนคนอื่นด้วย คนไทยเวลาเล่นเกมอะไรก็จะเล่นเหมือนกันหมด แต่หนูรู้สึกว่าถ้าเราเล่นเกมเหมือนกับคนอื่นๆ ก็จะกลายเป็นว่าทุกอย่างก็เหมือนกัน มีคลิปเหมือนกันหมดเลย คุณก็จะเลือกดูแค่อันใดอันหนึ่ง แต่ถ้าสมมุติเราฉีกออกมา เกมที่เราเล่นสไตล์มันแปลกไป หรือว่าสไตล์การตัดต่อเราแปลกว่าเขา เรามีการทำเรื่องราวก่อนที่จะเข้าคลิป ก็จะเป็นจุดเด่นที่ทำให้เราแตกต่างจากคนอื่นได้”
เราถามแป้งต่อถึงวิธีที่เธอเลือกเกมมาเล่น “ดูว่าเกมไหนแปลก เกมไหนน่าสนใจ แต่ว่าส่วนมากหนูจะเป็นคนเล่นเกมฟรี เกมอินดี้ มันก็จะมีอะไรแปลกๆ ที่คนไม่ค่อยเห็นกัน อย่างเกมห้องน้ำ simulator ถามว่าใครจะเล่น เกมเล็บขบ มีใครเล่นบ้าง ไม่มี (หัวเราะ) เกมเล็บขบนี่หนูได้ 5-6 ล้านวิวเลยนะ ก็เพราะว่าเราตอบโจทย์คนที่เขาอยากดูเกมแปลกๆ และด้วยการนำเสนอของเราที่แปลกออกไปด้วย”
ต่อหนึ่งคลิปแป้งจะใช้เวลาในการผลิตประมาณครึ่งวัน โดยใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงในการพากษ์เสียง จากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนการตัดต่อ ซึ่งปัจจุบันเธอไม่ได้ทำคนเดียวแล้ว แต่ได้-อะแฮ่ม-แฟนเข้ามาช่วย ซึ่งคุณแฟนของเธอสามารถทำแอนิเมชั่นได้ เทคนิคในคลิปก็จะเยอะขึ้น แป้งบอกว่าทำงานสองคนคุณภาพก็ดีกว่าทำคนเดียวอยู่แล้ว
“อุปสรรคส่วนมากก็เป็นเรื่องของไอเดีย แต่ละวันไม่ใช่ว่าเราคิดไอเดียได้ตลอด บางวันทำงานไม่ได้เลย เราก็ต้องหาเวลาไปผ่อนคลายเพื่อที่จะมาคิดตรงนี้ หนูเป็นคนที่ทำคลิปทุกวัน แล้วมันก็ค่อนข้างเครียด ความเครียดนี่มีผลกับชีวิตหนูมาก เพราะว่าเราต้องสร้างสรรค์ผลงานตลอด”
ทุกวันตอนเย็นเธอก็จะหาแล้วว่าพรุ่งนี้ต้องทำอะไร รุ่งขึ้นก็มาอัดเกม เพื่อที่จะตัดต่อ ตกตอนเย็นก็เหมือนเดิม ชีวิตวนไปอย่างนี้ เธอพยายามทำให้ต่อเนื่อง คิดว่ายิ่งมีความถี่ยิ่งทำให้คนติดมากขึ้น เธอบอกว่าถ้าอาทิตย์หนึ่งมีคลิปแค่ 3 วัน เหมือนละคร แล้วก็เว้นไปอีกอาทิตย์หนึ่ง คนจะรู้สึกว่าเดี๋ยวค่อยดูก็ได้
“ถ้าวันใดวันหนึ่งเราไม่ทำต่อเนื่อง สแตทในการดูของเราก็จะลดลง หนูอยากให้น้องๆ รู้สึกว่า ทุกๆ เย็นเขาจะได้ดูคลิปหนูตลอด จะไม่ค่อยหยุด มีบ้างก็ไม่เกิน 2 วัน เพื่อให้ช่องเรามีการเคลื่อนไหว ถ้าวันไหนจะไปเที่ยวยาวๆ ก็จะอัดเก็บไว้ก่อน ทำงานหนักหน่อย แล้วค่อยหาเวลาปล่อยตอนวันที่เราไป เราจะมีอะไรสนุกๆ ให้ดูตลอด ไม่มีเกมซ้ำเลย เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ใครชอบเกมไหนก็จะดูเกมนั้น เหมือนมีหลายกลุ่มอยู่ในช่องหนู และไม่ใช่เด็กอย่างเดียว มีผู้ใหญ่ด้วย นอกจากเกมก็ยังมีเรื่องของการท่องเที่ยว เวลาหนูไปเที่ยวเมืองนอกหรือต่างจังหวัด ก็จะมีการเก็บคลิปมาตัดต่อเป็นท่องเที่ยวให้ดูด้วย คือมีไลฟ์สไตล์ของหนูด้วย ไม่ใช่แค่เกมอย่างเดียว”
เล่นเกมเป็นอาชีพ
จากตอนแรกที่เริ่มทำช่องมาแบบอิสระ ปัจจุบันแป้งเป็นเกมแคสเตอร์ในสังกัด Online Station ภายใต้ บริษัท ทรู มีเดีย โซลูชั่นส์ จำกัด ซึ่งเห็นแววและดึงตัวเธอมาตั้งแต่ยังมียอดผู้ติดตามแค่สามพันแล้ว
Online Station เริ่มทำสังกัดเมื่อประมาณปี 2558 ปัจจุบันดูแลเกมแคสเตอร์ 20-30 คน โดยทางสังกัดจะทำหน้าที่เป็น MCN (Multi-Channel Network) ซึ่งเป็นศัพท์เรียกเฉพาะของ Youtube คอยดูแลเรื่องต่างๆ ของช่องที่อยู่ภายใต้สังกัด ช่วยให้ช่องมีการเติบโต สร้างรายได้มากขึ้น และมีผู้เข้าชมวิดิโอมากขึ้น พูดง่ายๆ ว่าเป็นผู้จัดการส่วนตัวของ Creator นั่นเอง เพราะการดึงเงินหรือหารายได้จากยูทูบเองโดยตรงอาจค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน MCN ก็จะคอยรับเงินอันเป็นการแบ่งค่าโฆษณากับทาง Youtube มากระจายรายได้ไปให้ทาง Creator อีกที ซึ่งทาง Online Station ถือเป็น MCN รายแรกๆ ของไทยที่ได้รับอนุญาตจาก Youtube และจะเน้นไปที่ช่องเกมกับช่องเด็กเป็นส่วนใหญ่
นอกจากรายได้จากโฆษณาแล้ว ทางสังกัดก็ยังมีการป้อนงาน เช่น อีเว้นต์ต่างๆ รับงานเวลามีลูกค้าบริษัทเกม บริษัทไอที สนใจอยากโปรโมตสินค้าผ่านตัวแคสเตอร์ ซึ่งถือเป็น Influencer ให้กับกลุ่มเด็กเจน Z รวมทั้งทำสินค้าที่ระลึกขาย อย่างของแป้งก็จะมีเสื้อ หมวก เป้ ซึ่งน้องๆ แฟนคลับก็จะมาซื้อ
จุดประสงค์ของทาง Online Station นั้น ต้องการให้เกมแคสเตอร์สามารถยึดเป็นอาชีพได้อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่งานอดิเรก หรือต้องทำสองอย่างควบคู่กัน และอยากให้ผู้ใหญ่เปิดใจยอมรับ เห็นอีกมุมที่มีประโยชน์ของกลุ่มนักเล่นเกม ไม่ใช่แค่เห็นแต่ด้านมืด
เล่นเกมอย่างเดียวก็มีเงินและอยู่ได้-น้องๆ เด็กๆ แฟนคลับหลายคนของพี่แป้งคงคิดอย่างนี้ และอยากทำตามจนพ่อแม่อดเป็นห่วงไม่ได้ ที่จริงอย่าว่าแต่เด็กๆ เลย แม้แต่คนวัยทำงานก็คงแอบคิดว่า แหม... เล่นเกมเป็นอาชีพนี่ ดูสบายและบันเทิงดีนะ เธอจะมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร
“ลองคิดสภาพว่า ในเดือนแรกๆ หนูทำคลิปมากกว่า 30 คลิปต่อเดือน เพราะคิดว่างานนี้คืองานหลักของหนูแล้ว หนูไม่ได้ทำอย่างอื่น และหนูก็เรียนจบแล้ว มีความรับผิดชอบที่จะทำตรงนี้ได้แล้ว ทำมากกว่า 30 คลิปต่อเดือน แต่เงินเดือนที่ได้มาคือ 300 บาท! เราลงทุนขนาดนั้นแล้ว เราตั้งใจทำทุกอย่างทุกวัน แต่ว่าได้เงินแค่น้ัน ซึ่งตอนนั้นหนูก็ไม่ได้คิดว่าเดือนๆ หนึ่งจะต้องได้เป็นหมื่น แค่คิดว่าเราก็มีความสุขที่ทำนะ ถึงได้ 300 บาท แต่ว่ามันก็คือน้ำพักน้ำแรงเรา
“ฉะนั้น หนูอยากให้น้องๆ มองว่า การทำยูทูบ ทำคลิปวิดีโอเป็นงานอดิเรกก็เรื่องหนึ่ง แต่ว่าการที่จะหาเงินจากตรงนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะจะต้องคิดว่าทำยังไงให้วิดีโอของเราโดนใจคน แล้วเข้ามาดูหลายๆ ครั้ง หรือว่ามีคนดูจำนวนมากๆ จนได้เรทโฆษณาเยอะ อยากให้มองว่า ทำไปเรื่อยๆ ดีกว่า อยากให้น้องๆ ทำหน้าที่ของตัวเองให้เสร็จเรียบร้อยก่อน เป็นงานอดิเรกไป แต่ว่าการเรียนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหนูเองก็ใช้สิ่งที่โรงเรียนสอนมาในการพัฒนาตัวเองเหมือนกัน”
จากที่เคยเล่นเกมสนุกๆ ปัจจุบันพอเป็นงานก็เริ่มมีความเครียดเข้ามา แป้งบอกว่าความสนุกระหว่างเล่นอาจจะมีบ้าง แต่ก็เหมือนเล่นเป็นงานมากกว่าอยู่ดี
สรุปว่าเป็นอาชีพที่สบายมั้ย หรือว่าเหนื่อย? GM ถาม
“ถามว่าเหนื่อยมั้ย เหนื่อยค่ะ แต่ว่ามันเป็นอาชีพที่อิสระ เราสามารถทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องกะเกณฑ์ว่า วันนี้ต้องทำเกมนี้ๆ แต่ว่าเราทำเกมอะไรก็ได้ จะทำท่องเที่ยวก็ได้ รีวิวขนมก็ได้ เหมือนเป็นโลกของเราใบหนึ่ง เป็นช่องทางที่เราจะสื่อคลิปของเราให้คนอื่นดูแค่นั้นเอง สำหรับตัวหนู หนูก็คิดว่ามันสบายนะ ถึงหนูจะเหนื่อย แต่หนูก็สบายค่ะ(หัวเราะ) ทุกวันนี้ก็ทำแค่ยูทูบอย่างเดียว แต่รายได้ก็มาจากหลายทาง คืออยู่ได้ ไม่ได้ลำบาก แต่ก็ไม่ได้ถึงกับอู้ฟู่”
แป้งมองว่าแนวโน้มของอาชีพเกมแคสเตอร์ยังคงไปต่อได้เรื่อยๆ ปัจจุบันเกมแคสเตอร์ในเมืองไทยมีเยอะมาก นอกจากนี้ก็ยังมีพวกคัฟเวอร์เพลง หรือการทำวาไรตี้ในยูทูปก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ เธอบอกว่า ยิ่งมีการทำคอนเทนต์เยอะ มีการแข่งขันสูง เม็ดเงินโฆษณาก็น่าจะเพิ่มขึ้น ทำให้อาชีพนี้อยู่ได้นานขึ้น
“อยากทำไปเรื่อยๆ ค่ะ เพราะคิดว่างานนี้เป็นงานที่หนูรัก เหมือนเป็นไดอารี่ส่วนตัวของเราด้วย เวลาเราไปเที่ยวไหน ทำอะไร กลับมาดูคลิปของเราเราก็รู้สึกว่า เราเคยผ่านจุดนี้มาก่อนนะ เราเล่นเกมแล้วเสียงไมค์เบาจังเลย ทำไมเราพูดตะกุกตะกัก (หัวเราะ) เหมือนมีการพัฒนาของตัวเอง เราทำคลิปมาเราก็มีความสุข น้องๆ ก็มีความสุขด้วย ถึงแม้วันหนึ่งจะไม่มียูทูบ หนูก็ยังอยากจะทำคลิปเพื่อให้คนอื่นดู ในช่องทางอื่นถ้ามีโอกาส”
เคยคิดไปถึงแต่งงานมีลูกแล้วยังจะเล่นเกมอยู่มั้ย? GM ถามทิ้งท้าย
“คงทำต่อค่ะ จนกว่าจะรู้สึกว่าเราไม่ไหว ตอนนี้อายุ 26 ก็แก่แล้วล่ะ เด็กๆ ใหม่ๆ ก็มาเยอะ แต่ว่าเราก็ยังคงความแอ๊บแบ๊วอยู่นะ” เธอหัวเราะชอบใจ