ไขข้อข้องใจ 'เครื่องการออกกำลังกายแบบสั่น' ช่วยบำบัดอาการ 'เบาหวาน' ได้จริงหรือ?
งานวิจัยเผยเครื่องออกกำลังกายเเบบสั่นมีผลดีต่ออาการเบาหวานเหมือนกับการออกกำลังกายทั่วไป
บรรดานักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เครื่องออกกำลังกายเเบบสั่น หรือ Whole Body Vibration Exercise หรือเรียกสั้นๆ ว่า WBV จะส่งพลังงานผ่านร่างกายผู้ใช้ที่อาจจะกำลังยืน นั่ง หรือนอน บนอุปกรณ์ที่สั่นเบาๆ ทำให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นและผ่อนคลายหลายรอบภายในหนึ่งวินาที
เเละจากการวิจัยในหนูทดลองพบว่า WBV ช่วยให้กล้ามเนื้อของหนูเนื้อเเข็งเเรงขึ้นและเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ปรับปรุงความสามารถในการควบคุมน้ำตาลในเลือด และปัญหาอื่นๆ ที่พบในผู้ป่วยเบาหวาน
ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยออกัสต้า ในสหรัฐอเมริกา ทำการวิจัยเรื่องนี้ในหนูทดลองอายุ 5 สัปดาห์ โดยเปรียบเทียบหนูตัวผู้สามกลุ่ม
กลุ่มเเรก ออกกำลังกายด้วยเครื่องออกกำลังกายแบบสั่น และกลุ่มที่สอง ออกกำลังกายด้วยการวิ่งบนเครื่องวิ่ง และภายในกรง มีหนูทดลองทั้งที่เป็นหนูปกติและหนูที่เพาะพันธุ์ขึ้นให้เป็นหนูอ้วน
ทีมนักวิจัยจับหนูทดลองที่เป็นเบาหวานไปวางไว้บนอุปกรณ์สั่นนานวันละ 20 นาที นานติดต่อกัน 12 สัปดาห์
หนูทดลองอีกกลุ่มหนึ่งมีทั้งหนูที่เป็นเบาหวานและหนูที่สุขภาพปกติดี ถูกฝึกให้วิ่งบนเครื่องวิ่งวันละ 45 นาที นานทั้งหมด 12 สัปดาห์
และหนูทดลองกลุ่มที่สาม ซึ่งมีทั้งหนูที่เป็นเบาหวานและหนูที่เเข็งเเรงดี ไม่ได้ออกกำลังกายเลย
หลังจาก 12 สัปดาห์ผ่านไป ทีมนักวิจัยได้นำผลการศึกษาสุขภาพของหนูทั้งสามกลุ่มมาเปรียบเทียบกัน
คุณ Meghan McGee-Lawrence นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยออกัสต้า กล่าวว่า "ทีมนักวิจัยพบว่า หนูที่เป็นเบาหวานที่วิ่งบนเครื่องวิ่ง กับหนูที่เป็นเบาหวานที่ใช้เครื่องออกกำลังกายเเบบสั่น ได้รับผลดีทางสุขภาพเหมือนๆ กัน"
Meghan McGee-Lawrence ยกตัวอย่างผลดีอย่างหนึ่งที่เหมือนกันที่พบในหนูทดลองที่ออกกำลังกายด้วยการวิ่งบนเครื่องวิ่ง กับหนูทดลองที่ใช้เครื่องออกกำลังกายเเบบสั่น คือหนูทั้งสองกลุ่มลดปริมาณไขมันในตับลงได้ สามารถผลิตอินซูลินได้ดีขึ้น ซึ่งช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ส่วนหนึ่ง
และหนูทั้งสองกลุ่มยังมีมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นอีกด้วย
นักวิจัยชี้ว่า เเม้ว่าหนูที่เป็นเบาหวานในการทดลองทั้งสองกลุ่มจะมีไขมันในตับลดลง เเละควบคุมน้ำตาลในเลือดใด้ดีขึ้น แต่หนูเหล่านี้จะไม่หายเป็นปกติหรือมีสุขภาพดีเท่ากับหนูทดลองตัวอื่น
ในระหว่างการทดลอง ทีมนักวิจัยได้ชั่งน้ำหนักตัวหนูทุกสัปดาห์ และหลังการทดลองสิ้นสุดลง ทีมงานพบว่าหนูทดลองที่เป็นเบาหวานกลุ่มที่ออกกำลังกายเเบบสั่น และกลุ่มที่วิ่งบนเครื่องวิ่ง มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าหนูทดลองที่ไม่ออกกำลังกายเลย
ในผลการศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร Endocrinology ไปเมื่อเร็วๆ นี้ คุณ McGee-Lawrence กล่าวว่า ในขณะนี้ทีมนักวิจัยกำลังพยายามระบุให้ได้ว่า อะไรเป็นปัจจัยให้หนูทดลองที่เป็นเบาหวานที่ออกกำลังกายด้วยเครื่องสั่น และการวิ่งบนเครื่องวิ่ง มีอาการเบาหวานดีขึ้น
เเม้ว่าเครื่องออกกำลังกายเเบบสั่นทั้งเเบบที่เป็นเก้าอี้เเละเตียงนอน จะสามารถซื้อหามาใช้ได้ แต่คุณ McGee-Lawrence นักวิจัยเตือนว่า ผู้ป่วยไม่ควรใช้เครื่องออกกำลังกายเเบบสั่นเองเป็นประจำ เพื่อปรับปรุงอาการเบาหวานให้ดีขึ้น
Meghan McGee-Lawrence กล่าวว่า เป็นที่เข้าใจกันว่าการใช้เครื่องออกกำลังกายเเบบสั่นในระดับหนึ่งมีผลดีต่อร่างกาย แต่การใช้ในระดับที่มากเกินไปอาจจะเป็นผลเสียได้ นักวิจัยชี้ว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไปก่อน
หากทีมนักวิจัยพบว่า เครื่องออกกำลังกายเเบบสั่นมีผลดีทางสุขภาพของคนเช่นเดียวกับที่มีผลดีต่อสุขภาพของหนูทดลอง คุณ Meghan McGee-Lawrence กล่าวว่า
"เครื่องออกกำลังกายเเบบสั่นอาจจะกลายเป็นวิธีเสริมการบำบัดโรคเบาหวานได้ในอนาคต"
(รายงานโดย Jessica Berman / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)