Body Fat Percentage (เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย) สำคัญอย่างไร
เมื่ออายุเพิ่มขึ้นสัดส่วนที่เคยปังก็เหมือนจะเริ่มพัง เนื้อนุ่มนิ่มปรากฎออกมาตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ห่วงยาง ท้องแขน ใต้คาง ต้นขา ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดนี้เกิดขึ้นจากไขมันที่สะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ เข้ามาแทรกเป็นมือที่สามระหว่างความกระชับกับตัวคุณให้ออกห่างไปเรื่อยๆ
คุณทนงศักดิ์ วงษาโสม Fitness Training and Development Manager จาก ฟิตเนส เฟิรส์ท กล่าวถึงไขมันซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของร่างกายที่มีผลต่อสัดส่วนและสุขภาพโดยรวมไว้ว่า “พอพูดถึงไขมันหลายๆ คนอาจจะนึกถึงความอ้วน การเจ็บป่วย และความเสี่ยงต่อโรคร้ายหลายชนิด แต่ไขมันเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความจำเป็นและมีหน้าที่ต่อระบบการทำงานของร่างกายเหมือนกัน ดังนั้นจะมีมากไปหรือน้อยไปก็เป็นอันตรายได้”
หน้าที่ของไขมันในร่างกาย
• ให้พลังงาน ป้องกันการย่อยสลายโปรตีนที่มีอยู่ในร่างกายไปใช้
• ช่วยดูดซึมวิตามิน A D E K
• เป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อประสาท
• ช่วยให้ระบบในร่างกายทำงานได้อย่างปกติและมีประสิทธิภาพ
• ป้องกันอวัยวะภายในช่องท้องและหน้าอก
• เป็นทั้งฉนวนป้องกันความร้อนและป้องกันการสูญเสียความร้อนเพื่อรักษาความอบอุ่นของร่างกาย
ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่าในฟิตเนสมีเครื่องชั่งน้ำหนักที่สามารถวัดองค์ประกอบร่างกายจากความต้านทานไฟฟ้าที่บอกปริมาณไขมันในร่างกายให้บริการอยู่ด้วย คุณทนงศักดิ์บอกว่าสามารถใช้เครื่องชั่งประเภทนี้ในการตรวจสอบว่าร่างกายมีปริมาณไขมันเท่าไร โดยดูจาก Body Fat Percentage
Body Fat Percentage คือ สัดส่วนของไขมันในร่างกายที่คิดเป็นร้อยละเมื่อเทียบกับน้ำหนักร่างกาย ยกตัวอย่าง คนที่มีน้ำหนัก 60 กิโลกรัม ที่มีไขมันในร่างกาย 20% เท่ากับมีไขมันหนัก 12 กิโลกรัม เป็นต้น ขณะที่การออกกำลังกายและกิจกรรมในชีวิตประจำวันยังส่งผลให้คนที่มีระดับเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายที่เท่ากันมีรูปร่างที่แตกต่าง เนื่องจากมีการใช้กล้ามเนื้อในลักษณะที่ต่างกัน เช่น นักเต้น นักกรีฑา นางแบบ เป็นต้น
ยังมีเรื่องพื้นฐานทางร่างกายของหญิงและชายที่มีการกระจายไขมันไปสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกายที่มีความแตกต่างกันตามธรรมชาติ เช่น ผู้ชายมักจะมีไขมันสะสมบริเวณหน้าท้องมากกว่าผู้หญิง ขณะที่ผู้หญิงจะมีไขมันสะสมบริเวณสะโพกและต้นขามากกว่าผู้ชาย และปริมาณไขมันสะสมในร่างกายที่จำเป็นสำหรับผู้หญิงยังมีสัดส่วนที่มากกว่าผู้ชายอีก เนื่องจากไขมันมีความจำเป็นต่อระบบการการเจริญพันธุ์หรือการตั้งครรภ์นั่นเอง ดังนั้นนอกจากการออกกำลังกายแล้ว เพศและวัยก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ให้รูปร่างของแต่ละคนมีความแตกต่างกันด้วย
ถึงกระนั้น Body Fat Percentage นี้ก็เป็นดัชนีที่ใช้ประเมินองค์ประกอบร่างกายและสุขภาพ เพื่อใช้ในการกำหนดเป้าหมายและทิศทางการออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับการกำหนดแนวทางโภชนาการที่เหมาะสมได้ดีอีกด้วย
สำรวจสัดส่วนและสุขภาพผ่าน Body Fat Percentage
ชาย 30% ขึ้นไป หญิง 40% ขึ้นไป
ปริมาณไขมันมากในระดับวิกฤต
• รูปร่างอ้วนกลม
• มองเห็นเซลลูไลท์บนผิวหนังได้ชัดเจน
• มีไขมันส่วนเกินกระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกาย
• เมื่อใส่เสื้อผ้าจะเห็นเป็นชั้นๆ
ชาย 21-30% หญิง 31-40%
มีปริมาณไขมันส่วนเกินในร่างกาย
• รูปร่างท้วม
• มีชั้นไขมันหนาหุ้มกล้ามเนื้ออยู่
ชาย 13-20% หญิง 23-30%
ปริมาณไขมันตามมาตรฐานทั่วไป
• รูปร่างสมส่วน
• สุขภาพอยู่ในเกณฑ์ดี
• มีสัดส่วนของร่างกายชัดเจน
• ยังไม่เห็นกล้ามเนื้อมากนัก
ชาย 9-12 % หญิง 19-22%
ปริมาณไขมันน้อย
• รูปร่างเพรียว กระชับ
• กล้ามเนื้อชัดเจนยิ่งขึ้น
• ผู้ชายที่ขยันออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าท้องซิกซ์แพคจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ณ จุดนี้
ชาย 5-8% หญิง 15-18%
ปริมาณไขมันน้อยมาก
• รูปร่างเพรียวบาง
• เห็นกล้ามเนื้อชัดเจน
• สำหรับผู้หญิงที่มีการออกกำลังเพิ่มกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องนี่คือจุดที่คุณจะได้อวดซิกซ์แพคของตัวเองแล้ว
ชาย น้อยกว่า 5% หญิง น้อยกว่า 15%
ปริมาณไขมันน้อยจนถึงขั้นวิกฤต
• รูปร่างผอมติดกระดูก
• อันตรายต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย
• ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว
นอกจากจะใช้เกณฑ์เหล่านี้เป็นตัววัดผลของการออกกำลังกายให้ได้กล้ามเนื้อและสัดส่วนตามต้องการแล้ว ปริมาณไขมันในร่างกายเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยย้ำเตือนและส่งสัญญาณให้ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพและสามารถใช้ชีวิตกับร่างกายที่แข็งแรงอย่างมีความสุขได้