งานวิจัยยืนยันออกกำลังกาย 'วันละ 30 นาที' ช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ
ผลการวิจัยจากตัวอย่างประชากรโลกกว่าหนึ่งแสนคน ระบุว่าผู้ที่ออกกำลังกาย 5 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละครึ่งชั่วโมง มีความเสี่ยงลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และสามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจด้วย
งานวิจัยนี้ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Lancet เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนจาก 17 ประเทศ จำนวน 1 แสน 3 หมื่นคน ทั้งที่มีฐานะดีและฐานะยากจน
การออกกำลังกายของประชากรโลกที่หลากหลายนี้มีทั้งที่เป็นการไปเล่นฟิตเนส การเดินไปทำงานและการทำงานบ้าน เช่น ซักผ้าหรือทำสวน
สรุปได้ว่าการขยับเขยื้อนร่างกายอย่างแข็งขันในรูปแบบต่างๆ ที่ว่ามา สามารถทำให้อายุยืน และลดการเป็นโรคได้
คุณหมอ Scott Lear ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจจากโรงพยาบาล St. Paul ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการศึกษานี้ กล่าวว่า ผลดีต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นหาก ออกกำลังกายมากขึ้น
เขาบอกว่า แม้ออกกำลังมากกว่า 41 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็ไม่พบว่าผลดีต่อสุขภาพลดน้อยถอยลง
ทั้งนี้โรคหัวใจเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรโลก และสร้างภาระทางเศรษฐกิจมหาศาลด้านการดูแลรักษา
เมื่อปีที่แล้วมีคนเสียชีวิตจากโรคหัวใจทั่วโลก 9 ล้าน 4 แสน 8 หมื่นคน
อาจารย์ Lear กล่าวว่า การวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงการดูแลสุขภาพที่ง่ายและราคาถูกกว่าการซื้อยาโรคหัวใจ หรือแม้แต่การซื้อผักและผลไม้รับประทานซึ่งในบางบริเวณของโลกที่ยากจนข้นแค้น ประชาชนไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายนี้ได้
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้คนวัยผู้ใหญ่อายุ 18 ถึง 64 ปี ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าคนเกือบ 1 ใน 4 ของโลกไม่ได้ทำตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
คณะวิจัยของอาจารย์ Learn กล่าวว่า ถ้าประชากรโลกทั้งหมดทำตามคำแนะนำดังกล่าว การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคน 1 ใน 12 คน จะสามารถหลีกเลี่ยงได้
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงาน Reuters)