ทำไมสุทธิชัย หยุ่น ถึงขยัน Live? คำตอบซ่อนอยู่ในเตียงนอน
สารภาพว่าเรายังจินตนาการถึงตัวเองในวัย 70 ปีไม่ออก ว่าจะยังคงมีไฟในการทำงาน หรือปลดเกษียณแล้วปลูกต้นไม้ เลี้ยงแมวอยู่กับบ้าน
ที่แน่ๆ ชีวิตในวัย 71 ปีของ สุทธิชัย หยุ่น เป็นแบบแรก
บ่ายวันเดียวกับที่ สุทธิชัย หยุ่น นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น กรุงเทพธุรกิจ และคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงสื่อมวลชนตั้งแต่ยุคอนาล็อกข้ามผ่านสู่ยุคดิจิตัล มานานกว่า 50 ปี เดินทางมาเยี่ยมเยือนออฟฟิศ Tencent Thailand และดำเนินการ Live พูดคุยกับ กฤตธี มโนลีหกุล CEO แห่ง Sanook! เขาเพิ่งเสร็จสิ้นการ Live สนทนากับ ธนา เธียรอัจฉริยะ รักษาการ Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ไปเมื่อตอน 8 โมงเช้า
Suthichai Live สดจาก Tencent Thailand!
อะไรทำให้เขาต้องตื่นมาคุยกับเซียนแห่งโลกการธนาคารแต่เช้าตรู ตกบ่ายก็ต้องมาเดินสำรวจบรรยากาศของเทคฯ ออฟฟิศแถวหน้าของเมืองไทย ก็เพราะตอนนี้ สุทธิชัยกำลังปฏิบัติการตั้งวงสนทนาแบบเงียบๆ กับผู้บริหารรุ่นใหม่ ที่ต่างก็กำลังเรียนรู้และปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไปพร้อมๆ กัน การขยันจับเข่าคุยกันในแบบ Live ให้ทันยุคสมัยจึงเป็นเรื่องสนุกของสุทธิชัยในวัยนี้ วัยที่เขาต้องนอนวันละ 7 ชั่วโมง และตื่นเช้ามาออกกำลังกายทุกวัน เพื่อปลุกให้ไฟในการเป็นนักสื่อสารมวลชนมืออาชีพ ลุกโชนอยู่เสมอ
ดูเหมือนช่วงนี้คุณกำลังสนุกกับการตระเวนคุยกับผู้บริหารรุ่นใหม่ๆ ในหลายแวดวง อาทิ คุณธนา และคุณกฤตธี
ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ของไทยเราที่อยู่ในวงการนี้น่าสนใจ และผมก็อยากจะแชร์ให้เขาได้เล่าให้คนอื่นๆ ในสังคมไทยจะได้รับทราบ มิเช่นนั้นจะไม่มีสื่อไหนให้ความสำคัญกับแนวคิดใหม่ๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ ทีวี หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์ออนไลน์ ก็ยังทำข่าวประจำวันเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นกระแสอยู่ แต่ผมคิดว่าประเทศไทยจะไปได้ ก็ต่อเมื่อไอเดียใหม่ๆ เหล่านี้ได้รับการแบ่งปัน ถกเถียง และเล่าสู่กันฟัง เพราะทุกคนต่างก็มีประสบการณ์ อย่างเช้านี้ ผมคุยกับคุณธนา ซึ่งทำงานในแบงค์ใหญ่ ว่าเขาปรับตัวยังไง คุยกับคุณกฤตธีเรื่องการบริหารงานในลักษณะที่ต้องดูพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป ซึ่งผมคิดว่าคนทุกอาชีพตอนนี้ถูก disrupt หรือถูกเทคโนโลยีใหม่ๆ มากระทบหมดเลย ถ้าไม่ปรับตัวหรือไม่ทำความเข้าใจ ก็จะตามไม่ทัน ผมจึงอยากกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยน และประสบการณ์ของทุกท่านที่ผมสัมภาษณ์ล้วนแต่เป็นคนรุ่นใกล้ๆ กัน ที่เคยเจอเรื่องราวหรือปัญหาเดียวกัน ในคนละแง่มุม
ในแง่ส่วนตัวคุณสุทธิชัยเอง รู้สึกว่ายากไหมกับการปรับตัวให้เข้ากับยุคปัจจุบัน
ไม่ยากครับ สำหรับผมสนุกและท้าทายดี เพราะงานหลักของผมคือ การสื่อสาร การนำเนื้อหาดีๆ ไปสู่ผู้คน แต่พอเทคโนโลยีปรับ ก็ช่วยให้งานเร็วขึ้น ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ผมรู้สึกว่าเราน่าจะต้องทำความเข้าใจมัน ผมยังจำได้ว่าเมื่อสัก 15 ปีที่แล้ว มีนักศึกษาคนนึงเอามือถือมาให้ผมดู แล้วบอกว่า มีแอปใหม่ชื่อ ทวิตเตอร์ ที่พอส่งข้อความปุ๊บ มันจะไปถึงคนอื่นทันที ผมยังทึ่งว่า เป็นไปได้เหรอ และในฐานะนักข่าว ผมก็คิดทันทีว่า งั้นผมก็สามารถส่งข่าวปุ๊บปั๊บไปถึงที่ทำงานได้ทันที ทวิตเตอร์คงช่วยให้งานของเราดีขึ้น เลยลองใช้ดู ช่วงนั้นมีคนเล่นทวิตเตอร์ในกรุงเทพฯ ประมาณ 20 คน ก็ทวีตนัดพวกเล่นทวิตเตอร์รุ่นแรกของเมืองไทยมากินกาแฟด้วยกัน ครั้งนั้นทำให้เรารู้สึกว่าเทคโนโลยีทำให้เราสามารถทำงานของเราได้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น และประหยัดขึ้น มันเป็นสิ่งที่จุดประกายให้ผมต้องขวนขวายศึกษาเพื่อเอามาใช้งาน
แต่เทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็วก็เหมือนดาบสองคม เสพสื่อแบบไหนถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด
ในฐานะที่ผมเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพ พื้นฐานก็คือ ต้องรักษาหลักการด้านจริยธรรม ไม่เอาข่าวปลอม หรือข่าวลือที่ไม่ได้รับการตรวจสอบไปออก เพียงแต่ตอนนี้มันเร็วขึ้น เหมือนกับเมื่อเรานั่งรถไฟ เดินทางไปถึงที่หมายเหมือนกัน แต่ช้าหน่อย และอาจจะสกปรก เอื่อยเฉื่อย จอดทุกสถานี ฯลฯ พอมีเครื่องบินก็ไปถึงที่หมายเร็วขึ้น แต่ถ้าใช้ไม่เป็นก็เกิดอุบัติเหตุเร็วและรุนแรงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น หลักการยังเหมือนเดิมคือ สื่อที่ดีต้องตรงเวลา ถูกต้องแม่นยำ และซื่อสัตย์ต่อประชาชน
คุณเสพสื่ออะไรในแต่ละวันบ้าง เพื่อการได้รับข่าวสารที่พอดี
ผมเลือกเฉพาะข่าวที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อเรา ดูพาดหัวข่าวหลักๆ ถ้าสำคัญผมจะเข้าไปดูต่อนิดหน่อย ถ้าสำคัญมากผมก็จะใช้เวลากับมันเยอะ
คุณอ่านข่าวผ่านช่องทางอะไรบ้าง
มือถือ
ยังเปิดอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ไหม
เปิดอ่านครับ ผมยังทำหนังสือพิมพ์อยู่ก็ต้องเปิดอ่าน ซึ่งหนังสือพิมพ์ก็ยังมีเสน่ห์ของมันอยู่ อย่างการจัดหน้าหนังสือพิมพ์ ถ้าเช้าวันนี้ข่าวดีมาก ผมก็จะดูว่าใครเป็นคนจัด หน้าตาออกมายังไง พาดหัวยังไง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นศิลปะที่ในมือถือยังไม่มี ข่าวหนังสือพิมพ์ต้องมีพาดหัวที่ใช้คำต้องเจ๋ง อ่านแล้วได้ใจความ รู้สึกประทับใจ ไปจนถึงการเลือกรูป การทำสื่อสิ่งพิมพ์ช่วยทำให้เกิดสุนทรียะ ของทั้งความงาม ความเหมาะเจาะ ความสะเทือนใจ ที่มีมากกว่าในมือถือ
แต่ไม่ใช่ว่าในมือถือทำไม่ได้ เพียงแต่ว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้ถูกเทรนด์มาทางด้านนี้ เขาโตมาพร้อมกับอะไรที่มันง่ายๆ ถ่ายรูปแชะๆ แล้วขึ้นเลย ไม่ต้องเอดิทหรือตัดต่อทำให้เนื้อหาดูดีขึ้นด้วยซ้ำไป แต่ถ้าเป็นคนที่เคยทำหนังสือพิมพ์หรือทีวีมาก่อน จะรู้เรื่องการตัดต่อให้ได้ประเด็นที่กระชับ ดังนั้น เมื่อคนทำสื่อเก่าปรับตัวมาทำสื่อใหม่ก็จะได้คุณภาพ และให้อิมแพกท์ที่มากกว่าเด็กรุ่นหลัง ซึ่งไม่เคยฝึกทักษะนี้มาก่อน
ทั้งนี้ เราสามารถสอนเด็กรุ่นใหม่ อาจจะให้เขาเข้าห้องเรียนอีกครั้งนึง เพื่อเรียนรู้ว่าความสวยงาม ความไพเราะ ความประทับใจ ต้องมาจากการคิดละเอียด คอนเทนท์ในมือถือ แม้จะสั้น และเร็ว ก็สามารถทำให้ละเอียดได้ อย่าเลือกเฉพาะอะไรที่หวือหวา เป็นกระแส แต่ไม่มีความหมาย นี่คือความแตกต่างที่ทำให้ผมยังใช้เวลากับการทำหนังสือพิมพ์ และผลิตสารคดีดีๆ อยู่ เพราะผมเชื่อว่ามันยังเป็นสื่อที่สามารถถ่ายทอดได้ดีที่สุดในแง่ความรู้สึก และเสน่ห์ของการสัมภาษณ์อยู่ที่การตั้งคำถาม รอคำตอบ ย้อนคำถาม ย้อนคำตอบ ซึ่งถ้าทำสั้นๆ ในมือถือ มันจะขาดศิลปะของ interview ไม่สามารถทำให้คนที่ดูเกิดอารมณ์ร่วมว่าคนนี้ฉลาดจัง ทำไมเขาถามแบบนี้ ทำไมเขาไม่ถามแบบนี้ สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียที่เราเห็นในปัจจุบัน ซึ่งผมคิดว่ามันควรจะสร้างขึ้นมา และผมยังยืนยันว่า มือถือก็สามารถทำสารคดีได้ ถ่ายด้วยมือถือนี่แหละ แล้วตัดต่อจนออกมาเป็นสารคดีที่ดี เพียงแต่ต้องอดทน ฝึกฝน เอาจริงเอาจัง และละเอียดประณีต
อะไรคือสิ่งใหม่ที่คุณกำลังเรียนรู้ และรู้สึกว่าตัวเองยังไม่เก่งพอ
ผมเรียนรู้ทุกอย่าง เช่น AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่กำลังมาแล้ว และ Robotics ก็มาแล้ว เมื่อสักครู่คุยกับคุณกฤตธี เรื่องที่ Google ประดิษฐ์หูฟังที่แปลภาษาได้ทันที เรื่องนี้ทำให้ผมตาวาว เพราะถ้าทำได้ ก็แปลว่าอาชีพนักแปลจะหายไปรึเปล่า แต่ว่าวรรณกรรมก็เกิดขึ้นได้อย่างง่ายขึ้น และทำให้การสนทนา การสื่อสารกับภาษาต่างๆ นานาง่ายขึ้น ต่อไปนี้เมื่อเราทำรายการภาษาไทย ก็จะออกมาเป็นภาษาจีนได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการเรียนภาษาจีน การสื่อสารก็จะ global มากขึ้น ทำให้เด็กไทยก็ต้องฝึกคิดในระดับโลกให้มากขึ้น นี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผมกำลังเรียนรู้อยู่ กับอย่างที่สองคือ AI ที่จะสามารถทำอะไรได้บ้าง ในการทำให้การผลิตคอนเทนท์ลึกซึ้งขึ้น กว้างไกลขึ้น และลดงานประจำของคน จะทำให้คนมีเวลาไปสร้างสรรค์มากขึ้นด้วยไหม นี่คือสิ่งที่ผมกำลังศึกษาและพยายามทำความเข้าใจ
คุณดูแลตัวเองอย่างไรถึงแข็งแรง และพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ
หนึ่ง ผมอ่านหนังสือตลอด ทั้งแบบเป็นเล่มและอ่านจากมือถือ สอง ผมออกกำลังกายทุกวัน ไม่ว่าจะเดินหรือปั่นจักรยาน ช่วยได้เยอะ
ในขณะที่หลายคนชอบบอกว่าไม่มีเวลา…
ไม่จริง ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน อยู่ที่เราบริหาร ผมเองตื่นเช้ามา ยังไงก็ต้องออกกำลังกายสักชั่วโมง ไม่ว่าจะยุ่งขนาดไหนก็ตาม ผมตื่น 6 โมงเช้า กลางคืนอ่านหนังสือถึง 5 ทุ่ม นอนให้ครบ 7 ชั่วโมง สุขภาพสำคัญมาก โดยเฉพาะในวัยนี้ ถ้าสุขภาพกายเราไม่ดี อย่างอื่นก็จะไม่สนุก ตื่นขึ้นมาก็ปวดหัว เจ็บคอ ฉะนั้น ผมแคร์มากเลยครับ กับการที่ตื่นขึ้นมาแล้วต้องรู้สึกอยากทำโน่นทำนี่ พอออกกำลังกายเสร็จเราจะรู้สึกว่าเราพร้อมที่จะทำทุกอย่างแล้ว
นอกจากนี้ ผมจะพยายามไม่เครียด สนุกกับเรื่องต่างๆ ที่เข้ามาใหม่ คนที่อายุมากได้เปรียบอย่างนึง คือ เราไม่ต้องห่วงอะไรแล้ว ถ้าเรายังอายุ 30-40 ปี อาจจะยังมีห่วงเรื่องอนาคตของตัวเอง หรือการเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่สำหรับผม โลกจะเปลี่ยนไปยังไง ไม่เป็นไรแล้ว เราผ่านจุดนั้นมาแล้ว ฉะนั้น ผมก็ไม่เครียด ยังไงๆ เราก็รอดตาย แต่ผมยังเป็นห่วงคนรุ่นใหม่ว่าเขาจะปรับตัวกันยังไง ฉะนั้น สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อให้คนรุ่นใหม่เขาได้คิดถึงเรื่องพวกนี้ เพราะผมเห็นคนที่ไม่ยอมปรับตัวก็เยอะ คนที่อยากปรับตัวแล้วถามว่าต้องปรับยังไงก็เยอะ คนที่นั่งรอให้คนสั่งว่าจะปรับยังไง แทนที่ตัวเองจะแสวงหา ก็มี ผมจึงชวนคนอย่างคุณธนา คุณกฤตธีมาตั้งวงคุยกัน แล้วให้คนเขามาฟังมาถกเถียงกับเรา กระตุ้นให้เขาคิด ฉะนั้นเวทีเหล่านี้ก็ช่วยได้
เป้าหมายของชีวิตของคุณในวัยนี้ คืออะไร
ก่อนตาย ผมอยากจะรู้ว่าเทคโนโลยีของทุกวันนี้จะนำไปสู่อะไร จากที่ผมเคยมองว่าสิ่งที่ Elon Musk ลงทุน เพื่อค้นคว้าวิจัยการเดินทางไปดาวอังคาร เป็นเพียงฝันไป ตอนนี้มันทำท่าจะเป็นไปได้แล้ว เพราะเกิดการแข่งกันลงทุน เพื่อจะไปดาวอังคารจริงๆ มันเป็นไปได้ว่าเขาจะอพยพกันไปอยู่ดาวอังคาร มิเช่นนั้นเขาจะลงทุนกันมหาศาลแบบนี้ไปทำไม นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ก่อนตายผมอยากจะรู้ว่า มนุษย์จะไปดาวอังคารได้จริงรึเปล่า
Rattanavadee S.