ผ่าชีวิต หมอนพรัตน์ จากเด็กขายลูกอม สู่ศัลยแพทย์ร้อยล้าน

ผ่าชีวิต หมอนพรัตน์ จากเด็กขายลูกอม สู่ศัลยแพทย์ร้อยล้าน

ผ่าชีวิต หมอนพรัตน์ จากเด็กขายลูกอม สู่ศัลยแพทย์ร้อยล้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยังจำความรู้สึกสมัยเรียนประถมได้ไหมครับ ที่คุณครูมักจะถาม โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร? บางคนอาจจะตอบว่า อยากเป็นตำรวจ อยากเป็นคุณครู เป็นนักธุรกิจ ฯลฯ แต่ก็มีเพื่อนๆ อีกไม่จำนวนไม่น้อยเลือก “หมอ”

สำหรับ "นพ.นพรัตน์ รัตนวราห" หรือ "หมอสอง" ศัลยแพทย์คิวทอง เขาเป็นเด็กคนหนึ่งในเวลานั้นที่เลือกคำตอบ “หมอ” แต่เขาอาจจะต่างจากหลายคนที่ทิ้งความฝันไว้กลางทางเพียงเพราะคำว่า “คงเป็นไปไม่ได้” เขาค่อยๆ ต่อเติมความฝันจนในที่สุด เขาก้าวมาเป็นศัลยแพทย์ตกแต่งอันดับต้นๆ ของเมืองไทย

 ชีวิตวัยเด็ก ของ หมอนพรัตน์

เมื่อครั้งเรียนประถมที่จังหวัดแพร่ หมอสองใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมไปกับการขายของที่ท่ารถประจำทาง เมื่อเข้าสู่ชั้นมัธยมศึกษาเขาได้รับโอกาสดีๆ ได้เป็นนักกีฬาว่ายน้ำของโรงเรียน เป็นตัวแทนไปแข่งขันรายการต่างๆ นอกจากข้อดีเรื่องสุขภาพ หมองสองบอกว่า การเป็นนักกีฬายังมี เบี้ยเลี้ยง และทำให้ได้เปิดหูเปิดตา ยามไปแข่งขันก็ถือเป็นการท่องเที่ยวไปในตัว

“แม่สอนเน้นเรื่องคุณธรรมจริยธรรม และฝึกให้เป็นคนขยัน ปิดเทอมผมจะไปขายหนังสือพิมพ์ ลูกอม ที่ท่ารถ เดินขึ้นไปขายเลย เออ มันขายดี เผอิญบ้านอยู่ใกล้สนามกีฬา ผมจะเดินข้ามเพื่อไปว่ายน้ำเล่น ว่ายไปว่ายมาโค้ชเห็นว่าว่ายดี ก็เลยได้เป็นนักกีฬา ต้องบอกว่าในแต่ละปีโอกาสได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดมันยากสำหรับเรา การเป็นนักกีฬาเขต ทำให้เราได้ไปเที่ยว มีอาหารฟรี ยิ่งเป็นตัวแทนภาคไปแข่งระดับประเทศ ทำให้ได้มีประสบการณ์มากขึ้นในการใช้ชีวิต แต่เราก็ต้องไม่ลืมหน้าที่หลัก คือ ตั้งใจเรียนเพราะเรามีความฝันที่อยากจะเป็นหมอ”

ประตูสู่นักศึกษาแพทย์ถูกเปิดออก

วันที่สอบติดคณะแพทย์ศาสตร์ มศว คือวันที่ความฝันใกล้ความจริงมากที่สุด จากผู้สมัครหลักพันหมอสองเป็นหนึ่งใน 5 ที่สอบตรงได้โควต้าภาคเหนือ แต่เมื่อเข้าเรียนจริง เขายอมรับว่ายังต้องปรับตัวอีกมาก เพราะถึงแม้ตัวเองจะเคยเรียนดีระดับต้นๆ ของจังหวัด แต่ก็ต้องไม่ลืมพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ช่วงเวลาที่ไม่มีเรียนเขาก็รับสอนพิเศษหารายได้ระหว่างเรียนไปด้วย

หมอสองเล่าว่า เมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยปี 1 ด้วยความที่ทำกิจกรรมเยอะมาก ได้เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยไปแข่งว่ายน้ำ เป็นรองประธานโครงการต่างๆ เป็นเชียร์ลีดเดอร์ของคณะ ทำเกือบทุกอย่าง จนเกรดเฉลี่ยเทอมแรกออกมาได้ 2.3 ตอนนั้นเขารู้สึกตกใจ จนต้องกลับมาขยันและจัดสรรเวลาใหม่ หลังจากผ่านพ้นปี 1 ผลการเรียนก็ค่อยๆ ดีขึ้น จนจบปี 6 ด้วย เกียรตินิยมอันดับที่ 2

 “ช่วงที่เรียนหมออยู่ มันต้องผ่านทุกอย่างเลย เรียนคลินิกเวชกรรม สูตินารีเวช อายุรกรรม ศัลยกรรมกระดูก เรามีความชอบมากอะไรเกี่ยวกับการผ่าตัด หรือที่เรียกว่า หัตถการ เป็นการผ่าตัดที่ต้องรักษาด้วยมือ เราจะชอบวิชาพวกนี้เป็นพิเศษ เหมือนกับมันเป็นความถนัดของเรา เวลาเราเรียนแล็บ สมมุติ เราเรียนกายวิภาค มันจะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นท่องจำ อีกส่วนหนึ่งคือความจำภาพ รู้สึกได้เลยว่า เราจำเป็นภาพได้ดีกว่าการจำตัวหนังสือ ยิ่งทำให้รู้สึกว่า ความชอบกับความถนัดเราไปด้วยกัน แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นหมอศัลยกรรมตกแต่ง คิดแค่ว่าเราจะเป็นหมออะไรก็ได้ที่ได้ผ่าตัด คิดไว้ 3 อย่าง หมอกระดูก หมอสูติ และหมอศัลฯ”

แต่หลังจากเรียนจบหมอสอง เขาก็เข้าสู่โลกของการเรียนแบบต่อเนื่องทันที เขาเข้าศึกษาต่อด้านศัลยกรรมทั่วไป ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นก็ศึกษาต่อศัลยกรรมตกแต่ง ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อสำเร็จการศึกษาหมอสองได้ทุนไปดูงานด้านศัลยกรรมตกแต่งที่ออสเตรเลีย จนกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ควบคู่กับการเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยเอกชน

เมื่อถึงจุดหนึ่งหมอสองตัดสินใจจนลาออกจากการเป็นอาจารย์และทุ่มเวลาให้กับการเป็นแพทย์ศัลยกรรมให้กับโรงพยาบาลเอกชนเต็มตัว ก่อนที่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเขาจะทุบกระปุกเปิดคลินิกความงามที่ลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ในชื่อ คลินิกศัลยกรรมตกแต่งนพรัตน์

ฝีมือ จังหวะ โอกาส คือสิ่งที่ทำให้มีวันนี้

จังหวะและโอกาสที่ผ่านเข้ามาในชีวิต มีส่วนสำคัญทำให้ชีวิตหลายคนประสบความสำเร็จ หมอสอง ก็เช่นกัน เขายอมรับว่า นอกจากฝีมือที่สั่งสมจากการทำงานมานับครั้งไม่ถ้วน ช่วงเวลาชีวิตที่ลงล็อก ทำให้เขาประสบความสำเร็จได้ในเวลารวดเร็ว

 “จังหวะและโอกาสต้องบอกว่าใช่เลย ผมจบออกมาในช่วงที่ศัลยกรรมกำลังได้รับความนิยมพอดี ทำให้มีโอกาสได้ทำศัลยกรรมหลายหมื่นเคส สภาพเศรษฐกิจตอนนั้นดีด้วย เรามีผลงานเยอะมาก ทำให้เราเป็นที่รู้จักกระจายออกไป และถูกบอกต่อไปเรื่อยๆ สมัยนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ต โฆษณาเฟสบุ๊ค Before & After ก็ไม่มี ด้วย ฝีมือ จังหวะ โอกาส มันก็เลยทำให้เรามีทุกวันนี้มาได้ แต่เราก็ต้องพยายามรักษาคุณภาพ”

เทคโนโลยีด้านศัลยกรรมไม่ได้เปลี่ยน แต่การตลาดต่างหากที่เปลี่ยน

หลายคนอาจจะเห็นโฆษณาศัลยกรรมความงามในโลกโซเชียลมากขึ้น แต่ละแห่งก็ชูนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับคนไข้ แต่แท้จริงแล้ว เทคโนโลยีด้านศัลยกรรม 10 ปีผ่านไปก็ยังเหมือนเดิม

“ในแง่ของวิชาการด้านศัลยกรรมไม่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีมากเหมือนสาขาอื่นๆ ศัลยกรรมเน้นหนักที่ฝีมือล้วนๆ เราต้องการเครื่องมือที่มีคุณภาพปกติ ในห้องผ่าตัดที่สะอาดปกติ ตัวซิลิโคนที่เสริมก็เป็นแบบนี้มา 10 - 20 ปี มันไม่มีอะไรที่ดีกว่านี้แล้ว แต่ผลลัพธ์อยู่ที่ฝีมือหมอเป็นหลัก ซิลีโคนเอามาแท่งหนึ่งเหมือนกัน เราเหลาแตกแต่งกัน เทคนิคการผ่าแตกแต่งกัน เทคโนโลยีใหม่ๆ แทบจะไม่มี ซิลิโคนเสริมหน้าอกมันก็เหมือนเดิมเป็น 10 ปีแล้ว”

หมอศัลฯ เกาหลี VS หมอศัลฯ ไทย ในมุมมองหมอสอง

เมื่อถามถึงกระแสความนิยมบินไปศัลยกรรมที่ประเทศเกาหลี หมอสองให้ความคิดเห็นเรื่องนี้ว่า หากพูดถึงฝีมือคงไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่ด้วยการโฆษณา ศิลปินส่งเสริมภาพลักษณ์ ทำให้กระแสศัลยกรรมเกาหลีช่วงหลังได้รับความนิยมมากในเมืองไทย

“พื้นฐานฝีมือหมอเกาหลีกับหมอไทยไม่ได้แตกต่างกันเลย เผลอๆ ฝีมือหมอไทยดีกว่าด้วยซ้ำ ประเทศเรามีกฎหมายการควบคุมด้านการโฆษณา เราถูกปลูกฝังเรื่องการโฆษณาเป็นเรื่องคุณธรรมจริยธรรม แต่ในขณะที่ทางเกาหลี เมคโอเวอร์ต่างๆ เราเห็นแล้วรู้สึกว่าว้าว อเมซิ่ง จริงๆ แล้วผลงานที่เราเห็นคือการศัลยกรรมหลายอย่างพร้อมๆ กัน  อย่างหมอไทยเองทำได้ไหม ก็ทำได้ แต่ถามว่าเรามาโฆษณาแบบนั้นไหม ไม่ได้ อย่างผมเองก็ทำเมคโอเวอร์คนมาเยอะ ก็มีคนไข้หลายคนหน้าเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน จนได้เชิญไปออกรายการ แต่เราก็ไม่เคยมาเครมตรงนั้นได้ เพราะเราติดเรื่องการโฆษณา แต่เกาหลีระบบอุตสาหกรรมเข้าดีมาก รัฐบาลสนับสนุน  เราต้องยอมรับว่าอุสาหกรรมภาพยนตร์ นักร้องเขาดังไปทั่วโลก มันก็เลยทำให้ภาพลักษณ์ของเกาหลีในแง่ของศัลยกรรมดีขึ้น ภาพเลยออกออกมาว่าศัลยกรรมต้องเกาหลีกลายเป็นอย่างนั้นไป”

คำว่าหน้าตาดีในความหมายของหมอศัลยกรรม

คำว่า หล่อ สวย ในความหมายของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน สำหรับหมอสองมองเรื่องนี้ว่า หากจะหน้าตาดีด้วยการศัลยกรรม ต้องทำออกแบบแล้วเนียบแบบธรรมชาติไม่ใช่สวย หล่อ แบบตุ๊กตาบาร์บี้ หรือ ไม่เหลือความเป็นตัวเองเลย

"คำว่าหน้าตาดีในเชิงศัลยกรรมของผม การทำศัลยกรรมมันต้องมีความเป็นธรรมชาติ เวลาเราทำศัลยกรรมเราทำเลียนแบบธรรมชาติ เราทำให้มันโด่งได้ แต่ต้องมีความเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ทำออกมาแล้วรู้เลยว่าทำ ทำแล้วต้องมีเอกลักษณ์ ไม่ใช่เหมือนกันไปหมด หน้าโหล แบบบาร์บี้ ต้องมีคาแรกเตอร์ ไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง"

สมดุลชีวิตและการงาน

เชื่อว่าคนทำงานเยอะๆ จะมีปัญหาเรื่องการบริหารเวลา ซึ่งเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นกับหมอสองเช่นกัน แต่ปัจจุบันเขาจัดสมดุลชีวิตได้ลงตัวมากขึ้น โดยแบ่งเวลาไปเที่ยวเก็บประสบการณ์ชีวิต พร้อมจัดสรรรายได้ซื้อสิ่งของเติมเต็มความสุข

“ก่อนหน้านี้ 10-20 ปี ผมทำงานมาหนักมาก เรียกว่าเราเพลินในการทำงาน ก็เลยสนุกกับการทำงานมาโดยตลอด จนบางครั้งเรารู้สึกว่า เราทำงานเยอะเกินไป บางทีผมอาจจะผ่าตัดมากกว่าเพื่อนหมอศัลทั่วไปเกือบ 3 เท่า เราทำงานมาเยอะ ช่วงนี้ก็บาลานซ์ชีวิตมากขึ้น ผมก็พยายามจะแบ่งเวลา ยิ่งปัจจุบันผมมีคลินิกของผมเอง ก็จะพยายามจัดสรรชีวิตให้ดีขึ้น เช่นเราทำงาน เช้า เย็น ค่ำเราต้องหยุดแล้ว จะไม่หามรุ่งหามค่ำแบบเมื่อก่อน สิ่งไหนที่อยากได้ สิ่งไหนที่อยากทำ เช่น ผมชอบเที่ยวต่างประเทศก็จะให้บอกเลขาให้จัดเวลาให้ คือ เราอยากเห็นโลกกว้างด้วยตาตัวเอง

อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ การออกกำลังกาย ชีวิตคนเราไม่แน่นอน เราอาจจะเจ็บป่วยตอนไหนก็ได้สุขภาพร่างกายก็สำคัญ และด้วยความที่เราเป็นนักกีฬา มันดูเลยทำให้เราติดการออกกำลังกาย ทุกวันนี้ชอบตีแบต ว่ายน้ำบ้าง แต่ก็ฟิตเนส สำหรับรถสปอร์ต ผมเป็นคนที่ชอบรถอะไรที่มันสวยๆ เนื่องจากพื้นฐานเราเป็นคนชอบอะไรที่ดูสวย มีสไตล์ รถก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง เราไม่ได้ต้องการสถานะในการขับเร็วหรือที่ดีที่สุด แต่เราชอบความสวยงาม”

ผมไม่ได้เป็น Perfectionist

หลายคนที่เสพข่าวอาจจะคิดว่าหมอสองเป็นผู้ชายเป๊ะและต้องการความเพอร์เฟคทุกอย่าง แต่เขาเองมองว่าตัวเองเป็นแค่ผู้ชายธรรมดา แถมมีความยืดหยุ่นสูง คู่ชีวิตที่มองหาก็ไม่ได้มีสเปคสูงมากขอแต่ดูแลลูกได้ก็พอ

"ไม่ใช่เลยเนื่อง จากข่าวทั้งหลายแหล่ มันก็เป็นข้อที่ไม่จริง เราก็ไม่ชอบแก้ตัวเพราะเราในฐานะผู้ชายเราพูดอะไรไม่ได้เลย สิ่งที่ดีที่สุดคือ นิ่งเงียบ ถ้าเราไม่แก้ตัวก็เหมือนกับว่า เฮ้ยคนนี้ไม่แมนเลย  เราก็เลยคิดว่าเราเงียบดีที่สุด  มีความมั่นใจว่า เราเป็นคนยังไง ถามว่าเป็นคน Perfectionist ไม่เลย  เราเหมือนผู้ชายปกติ ซึ่งพอมีครอบครัวก็อยากแต่งงาน มีลูก ดำเนินชีวิตต่อไป อยากจะทำให้คนที่เรารักมีความสุขที่สุด ตัวเราไม่ได้มีแบบแผนเป๊ะๆ สบายๆ มีความยืดหยุ่นสูง ไม่ได้ต้องการภรรยาที่ต้องทำงานบ้าน ทำอาหาร ขอให้ดูแลตัวเองได้ในอนาคตถ้าเราเป็นอะไรไปเขาดูแลลูกเราได้"

มุมมองความรัก หลังชีวิตรักสะดุด

หลังจากผ่านมรสุมความรักจนขึ้นข่าวหน้าหนึ่ง หมอสอง ยังคงมองความรักเป็นสิ่งสวยงามและยังต้องการสิ่งนี้ โดยบอกว่า ตามที่วางแผนไว้ตอนนี้ก็ดูเหมือนช้าไปมากแล้ว เพราะเขาอยากมีลูกทันใช้และมีครอบครัวที่สมบูรณ์

"ยังเหมือนเดิมคือเวลาเรารักใคร แล้วเราก็ทำให้ดีที่สุด เราอยากจะทำให้ทุกอย่างดีที่สุด เราไม่ได้เป็นคนคาดหวังสูงหรือมีแบบแผนอะไรมาก  ยิ่งพออายุเยอะขึ้นสเปคเราก็เริ่มลงลด เมื่อก่อนต้องอยู่ในสเปคทุกอย่าง ตอนนี้ยังไงก็ได้ ขอให้คุยกันแล้วเข้าใจ มีใจให้เราจริงๆ คนที่จะอยู่กับเราได้ คือคนที่ซื่อสัตย์จริงใจกับเราที่สุด ในอนาคตต้องการคนที่เป็นลักษณะอย่างนั้น ไม่ได้มีสเปคสูง จริงๆ ตั้งความหวังว่าเราต้องมีลูกแล้ว ตั้งแต่คราวที่แล้ว เราก็ว่าเลทมากแล้ว ใจจริงอยากแต่งงานมีลูกมีครอบครัว ดำเนินชีวิตต่อไป"

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในบทบาทไหน สาขาอาชีพอะไร เชื่อเหลือเกินว่า หากคุณมีความชอบและตั้งใจจริงกับสิ่งที่ทำ คุณสามารถเดินตามฝันจนประสบความสำเร็จได้แบบหมอสอง หรือหากวันนั้นไม่มาถึง จงภูมิใจว่า อย่างน้อยคุณก็ได้ลงมือทำมันแล้ว

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ ผ่าชีวิต หมอนพรัตน์ จากเด็กขายลูกอม สู่ศัลยแพทย์ร้อยล้าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook