ขอถือโอกาสนี้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคประจำตัว กับการเกณฑ์ทหารนะครับ
กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เลยครับ กับเรื่องการเกณฑ์ทหารของดาราชายท่านหนึ่ง และพอดี Sanook! MEN ได้อ่านเจอ บทความหนึ่งของคุณ vandalism เว็บพันทิพดอทคอม เห็นว่าน่าสนใจ ก็เลยนำมาฝากครับ
คำเตือน!!! กระทู้ยาว... ไม่เหมาะสำหรับคนไม่ชอบอ่าน
จากข่าวหลายๆ ปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับเรื่องบุคคลดัง กับการเป็นทหาร เวลาผมอ่านกระทู้มักจะพบว่ามีหลายท่านยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับขั้นตอนการคัดเลือกทหารกองเกิน (ในที่นี้ผมจะขอเรียกภาษาชาวบ้านว่าเกณฑ์ทหาร) อยู่ ในฐานะที่ผมได้คลุกคลีกับเรื่องนี้อยู่บ้าง ผมขอใช้จังหวะที่กำลังมีกระแสอยู่นี้ ประชาสัมพันธ์ความรู้ เผื่อใครที่จะมาเกณฑ์ปีถัดๆ ไป หรือมีญาติพี่ น้อง เพื่อนพ้อง จะต้องมาเกณฑ์ จะได้ทราบสิทธิ์ของตนเอง ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพนะครับ
อนึ่ง ขอดักคอไว้ก่อน ว่ากระทู้นี้จะไม่พูดถึงความเหมาะสมของระบบทหารเกณฑ์นะครับ ในประเด็นนั้นท่านสามารถแสดงความเห็นได้ที่กระทู้นี้ครับ และขอแจ้งก่อนว่า กระทู้นี้ ผมเขียนขึ้นมาด้วยตัวของผมคนเดียว โดยกองทัพไม่มีส่วนรู้เห็นนะครับ
เข้าเรื่องนะครับ
ต้องเข้าใจก่อนว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้ ชายไทยทุกนายต้องเป็นทหาร แต่น่าเสียดาย (หรือเปล่า?) ที่กองทัพไม่มีงบประมาณมากพอจะฝึกทุกคน แบบประเทศร่ำรวยอื่นๆ ได้ จึงต้องมีการคัดเลือกทหารเกิดขึ้นครับ
ซึ่งการคัดเลือกทหารกองเกินนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีข่าวคราวการทุจริตมาโดยตลอด ตั้งแต่ริเริ่มการเกณฑ์ทหารเลยก็ว่าได้ สาเหตุจากทั้งคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่อยากเป็นทหารเอง และจากทหารบางนายเอง ที่หาลู่ทางทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง แลกกับเงินมหาศาลโดยมิชอบ ซึ่งกองทัพก็ได้พยายามงัดมาตรการใหม่ๆ มาควบคุมทุกปี จนทำให้ปัจจุบันทำได้ยากขึ้นมาก จากเดิมเมื่อหลายสิบปีก่อน คนเพียงคนเดียวในคณะกรรมการก็สามารถคัดคนออกโดยมิชอบได้
ปัจจุบัน มีการตรวจสอบซับซ้อนหลายชั้น ต้องอาศัยคนหลายคนร่วมมือกันหากคิดจะทุจริต จึงทำได้ยากมาก เพราะคณะกรรมการเองเวลาจะมาเกณฑ์ แต่ละคนมาจากหลายหน่วยงานทหาร โดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อน... แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้นะครับ เพราะไม่มีระบบใดในโลกนี้ ที่จะกำจัดคนชั่ว ไม่ให้ทุจริตได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องอาศัยพวกท่านทุกๆ คน คอยช่วยสอดส่อง และรายงานเมื่อพบการกระทำผิดนะครับ
กระบวนการเกณฑ์นั้น หลังจากการเรียกชื่อแล้ว ทหารกองเกินที่มาเกณฑ์ทั้งหมดที่มารายงานตัว (ในที่นี้ขอเรียกง่ายๆ ว่าน้องๆ นะครับ) ที่ไม่ได้ขอผ่อนผันไปเกณฑ์ปีถัดๆ ไป จะถูกนำมาตรวจร่างกาย และวัดขนาด
ตรงนี้แหละครับ หลายท่านเข้าใจว่า จุดประสงค์เพื่อคัดเอาคนพิการออก ... ผิดครับ !! จริงๆ แล้ว กองทัพต้องการคนที่สมบูรณ์เพื่อมาเป็นทหารต่างหากซึ่งฟังดูแนวคิดทั้ง 2 แบบก็อาจจะไม่ต่างกันเท่าไร แต่พิจารณาในรายละเอียดแล้วมันต่างกันมากครับ
ผมยกตัวอย่างเช่น สายตาสั้น มากกว่า 8 ไดออปเตอร์ (ก็คือมากกว่า 800 ทั้ง 2 ข้าง) จัดว่าพิการ หากมีน้องคนหนึ่งใส่แว่นเดินมาบอกแพทย์ว่าสายตาสั้นข้างละ 900 แต่ไม่มีอะไรยืนยันเลย แพทย์เอง ซึ่งก็ไม่มีอุปกรณ์ตรวจในขณะนั้น ก็ไม่สามารถจำหน่ายพิการได้ แถมน้องเองบอกว่าจะขอจับใบดำใบแดงปีนี้เลย หากคิดว่าเหตุผลเพื่อคัดคนพิการออก ก็จะเห็นว่าน้องเค้าใส่แว่น มองเห็นชัด แถมยังอยากจะไปจับใบดำใบแดงเลย ก็น่าจะให้เค้าไปจับ
แต่หากคิดตามแนวคิดเพื่อผลประโยชน์ของกองทัพ แพทย์อาจตัดสินใจ ให้น้องไปหาหลักฐานมาใหม่ในปีหน้า เพราะหากอยู่ในสถานการรบพุ่งกัน กองทัพย่อมอยากได้คนที่สายตาดีกว่าอยู่แล้ว... นี่คือเหตุผลครับ
ซึ่งในขั้นนี้ จะมีแพทย์ (ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นแพทย์ทหาร) ทำการตรวจร่างกายเพื่อแบ่งคนเป็น 4 จำพวก ได้แก่
จำพวกที่ 1 คือ สมบูรณ์ดี
พวกนี้จะถูกนำไปวัดขนาด รอจับใบดำ ใบแดง
จำพวกที่ 2 คือ ไม่สมบูรณ์ดีเหมือนพวก 1 แต่ไม่ถึงกับทุพพลภาพ เช่น ตาเหล่ กระจกตาขุ่น กระเทย ฯลฯ สามารถดูได้ที่ (1), (2)
ตรงนี้ขึ้นอยู่กับแพทย์ในคณะ จะเป็นผู้คัดเลือกบุคคลจำพวกนี้เท่านั้น ไม่สามารถให้คนอื่นคัดเลือกได้ครับ หากมีใครมาบอกว่าจะช่วยอย่าไปเชื่อครับ คนจำพวกนี้ ก่อนปล่อยตัว แม้ไม่อยู่ในระเบียบ แต่คณะกรรมการส่วนมากมักจะนำความผิดปกติมาแจ้งให้น้องๆ คนอื่นที่เหลือดูว่าเป็นจริงๆ เพื่อกันข้อครหา โดยคนจำพวกนี้ หากคนจำพวก 1 มีไม่พอจริงๆ ก็จะถูกนำมาเกณฑ์ครับ ซึ่งสมัยนี้เป็นไปได้ยากมาก เพราะอนามัยดีกันทุกพื้นที่
จำพวกที่ 3 คือ มีโรคซึ่งไม่ขัดต่อการเป็นทหาร แต่ไม่หายใน 30 วัน
พวกนี้เดี๋ยวสมมติจับได้ใบแดงขึ้นมา จะไปฝึกไม่ทัน เช่น รถชนเป็นแผลเหวอะ เพิ่งผ่าตัดออกมาจาก รพ. เมื่อวาน แผลยังไม่หายดี อันนี้ปีหน้าให้ไปฟื้นฟูสุขภาพ แล้วมาใหม่อีกครั้ง
จำพวกที่ 4 คือ ทุพพลภาพ เช่น พิการทั้งหลาย โรคเรื้อรังทั้งหลาย รวมถึงโรคอ้วน ดัชนีมวลกาย (BMI) >35 เป็นต้น รายละเอียดตาม (3), (4)
คนจำพวกนี้ จะไม่มีโอกาสเป็นข้าราชการทหารอีก และมีผลในการสมัครงานบางแห่ง จึงไม่ค่อยมีใครอยากอยู่ในกลุ่มนี้ แพทย์จะปลดให้ต่อเมื่อตรวจร่างกายเห็นเด่นชัด หรือมีบัตรพิการชัดเจน แต่ถ้าเป็นโรคที่ตรวจร่างกายไม่ได้ง่ายๆ เช่น เบาหวาน HIV หอบหืด ฯลฯ ก็จะต้องให้น้องๆ ไปตรวจ ที่ รพ.ทหาร ช่วง ม.ค.-มี.ค. ซึ่งก็คือ รพ.ค่าย ต่างๆ ที่กำหนดไว้ แล้วให้แพทย์ทหาร ที่ รพ. นั้นๆ อย่างน้อย 3 นาย ลงนามรับรองว่าเป็นโรคจริง แล้ว รพ. จะนำชื่อมาประกาศไว้ในเว็บไซต์กรมแพทย์ทหารบก(5)
ปัญหาคือ มีคนจำนวนมากไม่ทราบตรงนี้ บางคนอายไม่กล้าบอกแพทย์ว่าเป็น HIV บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหอบหืดห้ามเป็นทหาร บางคนไม่ทราบว่าแค่มาบอกแพทย์ลอยๆ ว่าเป็นโรคนั้นนี้ โดยไม่มีหลักฐาน หรือมีแค่ใบรับรองแพทย์จากคลินิกมาเท่านั้นไม่พอ ตรงนี้เป็นปัญหาและเป็นที่น่าหนักใจต่อแพทย์มาก เพราะโรคพวกนี้ หากรับเข้าไป กองทัพจะเสียหาย บางคนอาจจะคิดว่า... ไม่เป็นไร... ฝึกได้... ไม่ตาย... ผมเคยเกณฑ์ทหารก็มีคนเป็นโรคนั่นนี่เยอะแยะ... แต่อยากให้คิดถึงในสนามรบด้วยครับ
ยกตัวอย่างตอนผมปฏิบัติราชการสนามที่จังหวัดชายแดนใต้ เคยเจอพลทหารเป็นหอบหืดกำเริบ มาทราบภายหลังว่าเป็นอยู่นานแล้ว ปีละ 1-2 ครั้ง ไม่มีอาการ ตอนมาเกณฑ์จึงไม่ได้แจ้งแพทย์ เพราะไม่รู้ และแพทย์เองก็ไม่สามารถตรวจร่างกายอะไรยืนยันได้เลย ซึ่งกรณีนี้ต้องเอารถส่งกลับ ออกมาจากฐานระดับหมวดปืนเล็ก เพื่อมา รพ. ถือว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อชีวิตกำลังพลโดยไม่จำเป็นเลย (อย่างที่ท่านทราบกันดีครับ การวางระเบิดทำร้ายเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นบนถนนเป็นหลัก) ซึ่งโรคหอบนี้มันไม่ได้แสดงอาการให้เห็นตลอดเวลานะ ผมยกตัวอย่างดาราคุณ ดี๋ ดอกมะดัน ทำงานมาจนอายุ 50 กว่าปี ก่อนเข้า รพ. จนเสียชีวิต มีกี่คนกันที่ทราบว่าเค้าเป็นโรคหอบครับ
ดังนั้นเมื่อเจอกรณีข้างต้น ที่ไม่มีใบรับรองแพทย์ชัดเจน ทางแก้ปัญหาของแพทย์ที่เป็นคณะกรรมการคือ อาจให้โอกาสแก้ตัว โดยลงเป็นจำพวก 3 ไปก่อน ปีหน้ามาใหม่ เอาหลักฐานมาให้ครบ หากยังไม่ครบอีกปีหน้าก็ค่อยมาจับ หรือหากแพทย์พิจารณาแล้วคิดว่าไม่ได้เป็นโรคจริงๆ ก็ให้ไปจับใบดำใบแดงเลย
จะเห็นว่า ไม่ว่ายังไง สุดท้ายก็จะมีคนที่เป็นโรค มาเข้ารับการฝึก ให้ทหารทั้งผู้ฝึกและแพทย์ได้ปวดหัวได้เสมอ เพราะโรคหลายๆ โรค หากไม่บอกแพทย์เลย แพทย์ก็จะไม่มีทางทราบจากการตรวจร่างกายได้เลย ไปรอแสดงอาการเอาตอนฝึกเท่านั้น นี่เป็นสาเหตุที่เรายังพบทหารเกณฑ์ที่เป็นโรค ต้องมาทำเรื่องปลดหลังจากฝึกไปแล้วในภายหลังอยู่เสมอ
ผมเองเคยเป็นแพทย์ตรวจเลือก เกือบให้คนปัญญาอ่อน ซึ่งมีบัตรคนพิการไปจับสลากแล้ว เพราะน้องเค้าทำตามสั่งได้ทุกอย่าง หากไม่ได้คุยจริงจังไม่ได้แสดงอาการเลย จนกระทั่งบิดาของน้องคนดังกล่าวมาแจ้ง... หวุดหวิดไป
ถัดมาจากการตรวร่างกาย ก็จะเป็นการวัดขนาด รอบอก ส่วนสูง นะครับ แบ่งคนเป็น 3 ขนาด คือ
ได้ขนาด สูง 160 ซม. และรอบตัว 76 ซม. ขึ้นไป
ขนาดถัดรอง สูงไม่ถึง 159 ซม.
ไม่ได้ขนาด สูงไม่ถึง 146 ซม. หรือรอบตัวไม่ถึง 76 ซม.
ซึ่งกรณีนี้โกงกันยากมาก เพราะวัดกันให้เห็นจะๆ
จะเห็นว่า ขั้นตอนต่างๆ ซับซ้อนมาก โอกาสทุจริตลำบาก แต่สมมติมีการทุจริตเกิดขึ้น เช่น มีแพทย์ลงความเห็นว่าน้องคนหนึ่งนิ้วคด ทั้งๆ ที่ไม่คด กรณีนี้สามารถร้องเรียนประธานคณะกรรมการได้ทันทีครับ เป็นสิทธิ์ของท่าน และสมมติว่าท่านได้ใบแดง แต่เห็นว่าไม่สมควร ก็สามารถร้องเรียนคณะกรรมการจังหวัดได้ทันที ซึ่งตรงนี้เป็นระเบียบอยู่แล้วว่าจะต้องชี้แจงให้ทุกคนฟังตั้งแต่เดินทางมาถึงตอนเช้า (แต่ส่วนใหญ่จะตื่นเต้น ไม่ค่อยได้ฟังกัน)
ดังนั้นเมื่อช่องทางหากินลำบากขึ้น ปัจจุบันช่องทางโกงที่แพร่หลายที่สุดจึงเป็นการกินเปล่า โดยอาศัยความไม่รู้ครับ เช่น มีน้องคนหนึ่งตาเขเห็นชัดเจน ก็จะมีคนไปทาบทาม ว่าจะช่วยให้รอดได้ ถ้า "ยัดเงิน" ซึ่งจริงๆ ตาเข มันเป็นทหารไม่ได้อยู่แล้ว พวกนี้พอมาตรวจกับแพทย์ แพทย์ก็วินิจฉัยไปตามจริงว่าตาเข โดยไม่ทราบว่าน้องเค้าจ่ายใครไป แต่คนรับเงินกลับเป็นกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ ผมเองก็เคยมีประสบการณ์ ปลดคนเป็นจำพวก 2 ด้วยอาการทีเห็นเด่นชัด น้องเค้ามาถามผมซื่อๆ ว่าจ่ายเงินตรงไหน ผมก็งงเลย มาทราบภายหลังว่ามีคนหลอกลวงให้จ่ายเงิน จะช่วยให้ ซึ่งก็บอกไปว่าไม่ต้องจ่าย
อีกช่องทางหนึ่งคือหากินกับใบดำครับ สมมติมีใบดำต่อใบแดง 2:1 ก็ไปไล่หลอกลวงคนว่าจะไม่ต้องเป็นทหารถ้ายัดเงินไว้ก่อน พอจับได้ใบดำ ก็เอาเงินไป พอจับได้ใบแดง ก็คืนเงิน บอกว่าพยายามช่วยแล้ว แต่ไม่สำเร็จ ฟันเงินเหนาะๆ เลยครับ
ก็หวังว่าท่านทั้งหลาย จะไม่ตกเป็นเหยื่อบุคคลเหล่านี้ และช่วยกันสอดส่อง ให้การเกณฑ์ทหาร เป็นไปอย่างโปร่งใสมากยิ่งๆ ขึ้นไปนะครับ
ปล. ผมไม่ใช่ติ่งดาราคนไหนนะครับ แหะๆๆๆ
อ้างอิง
[1] กฎกระทรวง ฉบับที่ 37 (พ.ศ. 2516)
http://law.longdo.com/download/475/sub33513
[2] กฎกระทรวง ฉบับที่ 75 (พ.ศ. 2555)
http://www.library.coj.go.th/managelaw/data/4-2555-18.PDF
[3] กฎกระทรวงฉบับที่ 74 (พ.ศ. 2540)
http://law.longdo.com/download/475/sub33509
[4] กฎกระทรวงฉบับที่ 76 (พ.ศ. 2555)
http://www.library.coj.go.th/managelaw/data/4-2555-19.PDF
[5] ใบรับรองแพทย์
http://www.amed.go.th/index.php/2013-04-01-03-14-47/113-2014-03-13-01-42-29
ขอบคุณเรื่องราวจาก
คุณ vandalism
ห้อง สวนลุมพินี
pantip.com