เกาหลีใต้สอนวิชา 'เดท' แก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำ

เกาหลีใต้สอนวิชา 'เดท' แก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำ

เกาหลีใต้สอนวิชา 'เดท' แก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนุ่มสาวยุคใหม่ในเกาหลีใต้สนใจแต่งงานหรือสร้างครอบครัวน้อยลง ทำให้ประเทศเผชิญกับปัญหาอัตราการเกิดต่ำ สถาบันอุดมศึกษาอย่างน้อย 2 แห่งจึงเปิดสอนหลักสูตรด้านความสัมพันธ์ ซึ่งรวมถึงการเดท การเลือกคู่ครอง และการแต่งงาน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

มหาวิทยาลัยดงก็อกและมหาวิทยาลัยคยองฮีในกรุงโซลของเกาหลีใต้ เปิดหลักสูตร 'การสมรสและครอบครัว' ให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อส่งเสริมให้ผู้จบหลักสูตรมีประสบการณ์และความรู้ที่จะนำไปสู่การแต่งงานและสร้างครอบครัวในอนาคต โดยการเรียนการสอนในวิชานี้จะรวมถึงการตั้งโจทย์ให้นักศึกษาออกเดทหรือคบหาเรียนรู้นิสัยใจคอของเพื่อนร่วมชั้นเรียนอย่างน้อย 3 คน เพื่อศึกษาวิธีคิดของเพื่อนต่างเพศ รวมถึงพัฒนาทักษะการบริหารจัดการความสัมพันธ์

เว็บไซต์เดอะเทเลกราฟ สื่อของอังกฤษ เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของศาสตราจารย์จางแจซุก ผู้กำหนดหลักสูตรวิชา 'การแต่งงานและครอบครัว' ของมหาวิทยาลัยดงก็อกและคยองฮี ระบุว่าคนรุ่นใหม่ที่มีอายุประมาณ 20-40 ปีในเกาหลีใต้ ถูกเรียกว่า 'ซัมโป เจนเนอเรชั่น' (Sampo Generation) ซึ่งหมายถึงยุคที่คนแต่งงานกันน้อยลง เพราะคนในยุคนี้ต้องเผชิญกับความกดดันหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยเศรษฐกิจ อัตราการว่างงาน ราคาอสังหาริมทรัพย์ และค่าเล่าเรียนที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนรุ่นใหม่หันหลังให้กับค่านิยมเรื่องการสร้างครอบครัวที่เคยเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมเกาหลีใต้ในอดีต ส่งผลให้อัตราการเกิดลดต่ำลง และเกาหลีใต้กลายเป็นสังคมสูงวัยที่กำลังจะขาดแคลนประชากรวัยทำงาน 

มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งต้องการกระตุ้นให้นักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างครอบครัว และการส่งเสริมให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็งจะต้องอยู่บนรากฐานของความสัมพันธ์ที่ดีและมีสุขภาวะที่เหมาะสม โดยศาสตราจารย์จางระบุว่า เป้าหมายหลักของวิชานี้คือการเปิดให้นักศึกษาได้ตระหนักและเรียนรู้ว่าใครคือคนที่เหมาะสมที่พวกเขาจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันได้อย่างตลอดรอดฝั่ง 

การเรียนรู้ว่าใครคือคนที่เหมาะสม หรือ 'คนที่ใช่' ต้องมีการเรียนรู้และทำความเข้าใจภูมิหลังของคนที่คบหา เพื่อจะนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งและไม่ทำร้ายกัน เพราะการใช้ความรุนแรงในครอบครัวก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งในเกาหลีใต้ และนักศึกษาบางคู่ที่ออกเดทกันระหว่างเรียนอาจพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การแต่งงานและสร้างครอบครัวกันในชีวิตจริง ขณะที่ส่วนใหญ่จะเลิกรากันไปหลังจากเรียนจบ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่นักศึกษาจะต้องเรียนรู้ที่จะจัดการความสัมพันธ์และอารมณ์ส่วนตัวจนมีวุฒิภาวะเพียงพอ 

ศาสตราจารย์จางกล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว เป็นเพราะคนจำนวนมากไม่รู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมของตัวเอง แต่หลักสูตรที่จัดทำขึ้นจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาร่วมสะท้อนความคิดเห็นและถกเถียงกันในสถานการณ์จำลองต่างๆ เช่น กรณีทะเลาะหรือมีการหึงหวงกัน ผู้ที่เข้าเรียนจะมีโอกาสได้ทำความเข้าใจวิธีคิดของผู้ที่ตนเองคบหา โดยหวังว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือการคลี่คลายความขัดแย้งร่วมกันโดยไม่ใช้กำลังหรือความรุนแรง

สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษรายงานว่าปี 2017 เป็นปีที่อัตราการเกิดในเกาหลีใต้ตกต่ำหนักที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพราะผลสำรวจทั้งปีที่ผ่านมา พบว่ามีทารกเกิดใหม่เพียง 360,000 คนเท่านั้น แม้ว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้จะทุ่มงบประมาณในการส่งเสริมและกระตุ้นอัตราการเกิดเป็นเงินกว่า 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

รัฐบาลเกาหลีใต้นำงบประมาณไปใช้ในโครงการเงินอุดหนุนให้แก่ครอบครัวที่คลอดบุตรในแต่ละปี โครงการส่งเสริมผู้มีบุตรยาก และการแก้ไขกฎหมายให้ผู้หญิงสามารถลาคลอดได้นานกว่าเดิมโดยไม่เสียโอกาสทางอาชีพการงาน แต่ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากมองว่ามาตรการเหล่านี้ยังไม่มากพอที่จะจูงใจให้คนมีบุตรเพิ่มขึ้น  

เรียบเรียงโดย: ตติกานต์ เดชชพงศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook