พีรทัศน์ ศรีสุระ หันหลังให้งานพิธีกร สู่วิถีชีวิตพอเพียง เอาดีด้านเกษตรกรรม
นับเป็นคนรุ่นใหม่วัยทำงาน ที่มีมุมมองชีวิตและความคิดที่แตกต่างอย่างน่าสนใจ สำหรับ “พีรทัศน์ ศรีสุระ” หรือ “ฟิวส์” อดีตพิธีกรรายการลุยไม่รู้โรย ทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ที่ปัจจุบันหันมาเอาดีด้านการทำเกษตรกรรม ดำรงชีวิตในแบบวิถีพอเพียง ความสุขที่หาได้ไม่ยากจากบ้านเกิดของตัวเอง
“ผมเรียนจบคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จากมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นคนเรียนไม่ค่อยเก่ง อาศัยขยันเลยจบมาได้ เหตุผลที่เลือกเรียนคณะนี้เพราะอยากทำงานด้านสื่อ อยากเป็นผู้สื่อข่าว อยากเป็นพิธีกร ชอบทั้งงานเบื้องหน้าและงานเบื้องหลัง
เด็ก ๆ ไม่ได้ฝันแบบนี้เลย เมื่อก่อนฝันอยากเป็นตำรวจ อยากจับผู้ร้าย อยากใส่เครื่องแบบเท่ ๆ ชอบเล่นตำรวจจับโจรกับเพื่อน ๆ จนพอได้ศึกษาความชอบของตัวเองว่าชอบอะไร ชอบแบบไหน ความรู้สึกชอบของผมเลยเปลี่ยนไป หันมาชอบด้านนิเทศศาสตร์แทน”
จากดีเจบ้านนอกสู่พิธีกรรายการโทรทัศน์
ผมเริ่มทำงานตั้งแต่เรียนอยู่ ม.5 อายุประมาณ 17 ปี เมื่อก่อนแถวบ้านจะมีสถานีวิทยุชุมชน ผมเลยลองไปสมัครเป็นดีเจ บังเอิญทำแล้วชอบ เพราะเป็นคนชอบพูดอยู่แล้ว แม้บางมุมจะเป็นคนค่อนข้างขี้อายก็ตาม ตอนนั้นได้ค่าแรงหลังหักค่าเช่าชั่วโมงจากค่าสปอนเชอร์จะเหลือเงินประมาณเดือนละ 1,000 บาท
สถานีวิทยุอยู่ไกลจากบ้านเกือบ 4 กิโล ผมเอาโบรชัวร์เกร็ดความรู้ใส่ตะกร้าจักรยานแล้วปั่นไปจัดรายการทุกวัน เป็นงานที่สนุกมาก พร้อมกับทำขนมเปียกปูน ขนมต้ม วุ้นกะทิ ยำมะม่วงไปขายที่โรงเรียนด้วย ได้กำไรวันละ 70-80 บาท ถือว่าเยอะสำหรับผมในตอนนั้น
พอเข้ามหาวิทยาลัยผมไม่ได้ทำขนมขาย วันไหนไม่มีเรียนจะไปทำงานตามกองถ่ายละคร ไปเป็นตัวประกอบเดินผ่านไปผ่านมา พอละครออนแอร์ก็เฝ้าดู เห็นแค่ด้านหลังแวบ ๆ ก็มีความสุขแล้ว ส่วนค่าเหนื่อยก็ได้งานละ 300-500 บาท ดีที่มีข้าวกล่องให้กินฟรี
ถ้าโชคดีหน่อยก็ได้เล่น MV ลูกทุ่ง ถ่ายโฆษณา หรือละครทีวีที่มีบาทบาทขึ้นมาบ้าง ได้ค่าแรงงานละ 1,000-20,000 บาท แต่นาน ๆ ถึงจะมีมาสักที ทำงานแบบนี้มาตลอดจนกระทั่งเรียนจบมหาวิทยาลัย
พอเรียนจบก็ได้ทำงานรายการทีวี เป็นทั้งครีเอทีฟและพิธีกร ในรายการลุยไม่รู้โรย ทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ทำทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เป็นงานที่สนุกและได้ประสบการณ์เยอะมาก ต้องขอขอบคุณคุณครูที่สอนให้ผมเป็นคนกล้าคิด กล้าแสดงออก และเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับผม จนทำให้ผมก้าวไปสู่ฝันตรงนั้นได้
ต้องบอกว่าแต่ละงานเป็นเสมือนครูที่คอยสอนผมมาโดยตลอด เพราะทุกงานจะมีปัญหา มีอุปสรรคร่วมกันเสมอ ซึ่งปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้นเป็นดังไฟร้อนคอยหล่อหลอมผมจนกลายเป็นคนแกร่งคนหนึ่งได้ ด้วยการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหา
ทุกงานมีความยากง่ายที่แตกต่างกันออกไป ผมมักคิดเสมอว่า ไม่ว่าจะอยู่ในโหมดไหน ผมจะเรียนรู้อย่างสนุกไปกับมันให้ได้ เช่น การทำงานหน้ากล้อง แม้สคริปต์จะเป๊ะ แต่พอ 4-3-2-1 กล้องพร้อม แต่พิธีกรยังไม่พร้อม เพราะยังตื่นเต้นจนลืมสคริปต์ว่าต้องพูดอะไรบ้าง กับแค่ประโยคปิดรายการยังสิบกว่าเทค แต่ถ้าทำและเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ งานยากก็จะกลายเป็นงานง่าย ขอแค่เต็มที่และสนุกไปกับงานนั้น ๆ เป็นพอ
ทิ้งงานพิธีกรมุ่งสู่วิถีชีวิตเกษตรกรรม
เหตุที่ตัดสินใจกราบลามหานครคืนคอนท้องทุ่ง เนื่องจากคุณแม่ป่วย มีโรคแทรกซ้อนหลายโรคมาก เลยตัดสินใจขอลาที่ทำงานเพื่อกลับมาอยู่บ้าน เพราะขืนทำงานแบบไป ๆ ขาด ๆ เกรงใจที่ทำงานเหมือนกัน แม้ที่ทำงานจะให้โอกาสก็ตาม บวกกับตอนนี้คุณแม่อายุมากแล้ว อยากกลับมาดูแล อยากทำอะไรเพื่อท่านบ้าง ท่านจะได้เหนื่อยน้อยลง
แรก ๆ เสียดายฝัน เสียดายโอกาสเหมือนกัน แต่ต้องเลือก ซึ่งตอนนี้ผมไม่รู้สึกเสียดายหรือเสียใจแล้ว เพราะพบคำตอบของการตัดสินใจแล้วว่า ผมได้เลือกถูกต้องแล้ว เพราะไม่ว่าจะตื่นเช้า จะเข้านอนก็เจอแต่รอยยิ้มแห่งความสุขของพ่อและแม่
นอกจากดูแลคุณแม่แล้ว ผมคิดทำอะไรสักอย่างที่สามารถสร้างประโยชน์สุขให้กับตนเองและคนอื่นได้ เลยหยิบเอาวิถีชีวิตแบบบ้านเรานี่แหละมาเพิ่มคุณค่าเพื่อสร้างเสน่ห์ ด้วยการปลูกผักปลอดสารพิษไว้ขายและแบ่งปัน จึงเป็นที่มาของคำว่า “จากพิธีกร สู่เกษตรกร” ที่เพื่อน ๆ ชอบแซวกัน
พื้นเพผมเป็นลูกชาวนา ปลูกพืชปลูกผักอยู่แล้ว บวกกับประสบการณ์ที่เคยไปถ่ายรายการตามที่ต่าง ๆ ได้เจอวัฒนธรรม เจอมุมมองของวิถีชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ เลยอาแนวคิดจากประสบการณ์ที่ผ่านมา นำมาประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตของตัวเอง เพื่อพลิกฟื้นผืนดินให้กลายเป็นแผ่นดินทอง
เริ่มโดยการเปลี่ยนจากเกษตรเคมีที่เคยทำ สู่เกษตรปลอดสารพิษเพื่อสุขภาพ ส่วนขนมผมก็คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก เพราะเมื่อก่อนคุณแม่ทำขนมขายส่งผมเรียนจนจบปริญญาตรี พอมาอยู่บ้านเลยนำเอาวิชาของแม่มาต่อยอดสู่การสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกทาง
ดำเนินชีวิตแบบวิถีพอเพียง
หลัก ๆ ตอนนี้ทำขนมขายตามตลาดนัดใกล้บ้าน แม่จะเป็นคนสอนทำขนมชนิดนั้นชนิดนี้ตามที่แม่เคยลองผิดลองถูกมาจนกลายเป็นขนมที่อร่อยของหลาย ๆ คนที่ได้ลองทาน ไม่ว่าจะเป็นขนมเปียกปูน ขนมต้ม ขนมวุ้น ขนมหม้อแกง ขนมชั้น และอื่น ๆ วันหนึ่งขายได้ไม่เยอะเท่าไหร่ ลงทุนประมาณ 300-400 บาท กำไร 500- 600 บาท พอได้ใช้จ่ายในครอบครัว
นอกเหนือจากการขายขนม เวลาที่เหลือผมจะดูแลเป็ดและสวนผักปลอดสารพิษ ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ ประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง ผักที่ปลูกตอนนี้ยังไม่ได้นำไปขายเป็นเรื่องเป็นราว เพราะปลูกไม่เยอะ ปลูกไว้แบ่งปันให้กับญาติพี่น้อง คนในชุมชน และเป็นของฝากในยามเทศกาลต่าง ๆ เท่านั้น
งานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ โชคดีที่คุ้นเคยและได้เรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก เลยทำให้รู้สึกว่าเป็นงานที่ไม่ยากเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่าคือการพยายามฝึกตัวเองให้เป็นคนกระตือรือร้น ขยัน เพราะงานพวกนี้ถ้าไม่ขยัน ไม่ใจสู้ ไม่หมั่นดูแลก็จะแย่ เพราะสิ่งที่แย่คือใจของเราเอง
วางแผนสานต่องานเกษตกรรมแบบยั่งยืน
วางแผนไว้ว่าจะขยายพื้นที่ทำแปลงปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อสร้างรายได้เพิ่มอีกทาง ตอนนี้ทำเพียงเพื่อแบ่งปันและแจกจ่ายให้กับพี่น้องในชุมชนเท่านั้น รวมถึงจะสร้างแบรนด์ผักเล็ก ๆ ในท้องถิ่นที่เกิดจากความรักและความตั้งใจจริงของผมที่จะสร้างสุขให้กับผู้บริโภคด้วยการทานผักที่มีคุณภาพ อยากเห็นทุกคนใส่ใจในรายละเอียดของชีวิต โดยการเลือกคุณค่าให้กับตัวเองแทนการเลือกผักที่มีโปรโมชั่นชิง “โรค” จากสารเคมีแถมมาด้วย
เสน่ห์ของการทำงานด้านการเกษตรไม่ได้อยู่ที่ผักสวย ผักแข็งแรง ขายได้ราคาดี หรือมีกำไรมาก ๆ แต่อยู่ที่ “ใจ” ของคนทำการเกษตรมากกว่าว่าจะสร้างคุณค่าให้กลายเป็นเสน่ห์อย่างไร เพราะปัจจุบันนี้เป็นยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำนำสมัย มีการแข่งขันกันมากขึ้น จนเสน่ห์และคุณค่าทางวัฒนธรรมแบบเดิม ๆ เลือนหายไปมาก
แม้แต่การเกษตรในปัจจุบันยังแปรผันไปเยอะ มีปุ๋ยดี ยาเคมีดี ออกฤทธิ์ดี ใช้แล้วรวย โฆษณาตามสื่อวิทยุ ใคร ๆ ก็อยากรวยจนมองข้ามไปว่าคุณค่าที่แท้จริงของการทำงานด้านการเกษตรอยู่ตรงไหน
สำหรับผม ผักสวย ผักแข็งแรงอาจเป็นแค่เสน่ห์รอง แต่เสน่ห์หลักที่สำคัญคือ ผักที่ทานแล้วสามารถสร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับสุขภาพได้มากที่สุด พูดง่าย ๆ ได้ว่าเป็นผักที่มีคุณภาพ โดยผ่านกระบวนการคิดและกระบวนการทำด้วยหัวใจ
ปัญหาหรืออุปสรรคมากมายแต่ใจสู้
ทำงานด้านการเกษตรต้องพบเจอปัญหาหลายอย่างมาก ส่วนใหญ่ต้องสู้กับแมลงและโรคต่าง ๆ ที่เกิดกับพืชผักสวนครัว ยิ่งปลูกผักปลอดสารพิษต้องขยันเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่า อุปสรรคอีกอย่างที่อยู่ไม่ไกลในตัวผมคือ ความขี้เกียจ ถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดที่ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน
เวลามีปัญหาผมจะค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ แก้ และเชื่อว่าทุกอย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง ที่สำคัญคือ เวลามีปัญหาอย่าไปกลัว อย่าวิตก หรือกังวลอะไร ให้ใช้สติค่อย ๆ หาทางแก้ไข เพราะทุกปัญหาย่อมมีทางออก
ลองย้อนมองกลับไปตั้งแต่เกิดมาเราเจอปัญหาอะไรมาบ้าง ร้องไห้ เจ็บปวด หรือเสียใจมามากน้อยแค่ไหน แต่เรายังสามารถก้าวผ่านทุก ๆ ปัญหามาได้
บางครั้งอาจต้องใช้เวลา บางทีก็ต้องอาศัยประสบการณ์ แต่ถ้าใครไม่มีประสบการณ์ก็อย่าไปกลัว เพราะคนที่มีประสบการณ์ก็เคยเป็นคนที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน มองอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองมีพลัง แล้วจะก้าวผ่านปัญหาไปได้ด้วยดี
ปรับโหมดชีวิตไม่คิดท้อแท้
ท้อแท้หรือหมดกำลังใจก็มีบ้าง แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต เพียงแต่เราจะรีบปรับโหมดในช่วงวินาทีไหนของชีวิตเท่านั้นเอง เพราะถ้าชีวิตท้อแท้ งานทุกอย่างก็จะเดินช้าลง เหมือนเวลาที่ผมต้มข้าวโพดขาย ถ้าไฟไม่แรงก็ต้องเติมฟืน เติมถ่าน เพื่อให้ข้าวโพดสุก ใจเราก็เช่นกัน ต้องหมั่นเติมพลัง เติมกำลังใจไม่ให้ขาด จะได้ “สุข” เหมือนข้าวโพดของผมไงล่ะครับ
กำลังใจคือ ใจของผมที่คอยบอกตัวเองให้สู้อยู่เสมอ แม้จะอยู่ในบทบาทไหน อุปสรรคจะน้อยใหญ่แค่ไหน ถ้าใจสู้และอึดพอ เราจะก้าวผ่านอุปสรรคไปได้อย่างแน่นอน ดังนั้น ต้องหมั่นฝึกให้รางวัลด้วยกำลังใจของตัวเอง ถ้าหากตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีใคร เราจะสามารถก้าวข้ามปัญหาไปด้วยหัวใจที่แกร่งของตัวเราเอง
แนวคิดในการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
คิดว่าต้องใช้ชีวิตแบบง่าย ๆ ใน Style ของเรา อะไรที่ดีก็นำมาปรับให้เข้ากับชีวิต อะไรที่ยากเกินไปหรือไม่ใช่เรา ก็อย่าไปฝืน พูดง่าย ๆ คือ ใช้ชีวิตให้เป็นธรรมชาติมากที่สุดแล้วเราจะมีความสุขมาก ตัวผมเองพยายามฝึกใจตัวเองให้เข้าใจธรรมชาติของชีวิต แล้วใช้ชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ชีวิตจะผกผันไปในทิศทางไหน ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ เพราะชีวิตต้องอยู่และเรียนรู้ไปกับมัน ถ้าเรามองอย่างเข้าใจ ไฉนชีวิตจะต้องมานั่งทนทุกข์
ทำงานอย่างไรให้มีความสุข
มีหลายองค์ประกอบมากที่จะทำให้เรามีความสุขในการทำงานได้ บางคนสุขในรูปแบบที่ต่างกัน แต่หลักพื้นฐานง่าย ๆ ที่ใช้ได้กับทุกคนแล้วสุขแบบจริง ๆ อย่างที่ผมกำลังใช้ในตอนนี้คือ “สนุก เต็มที่ และมีวิธีคิดบวก” เพราะถ้าเราทำให้สนุก ทำอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องคิดหรือกังวลว่าจะเสียเปรียบ หรือใครได้เปรียบมากน้อยแค่ไหน เพราะคนสมัยนี้มักจะทุกข์เพราะความคิดของตัวเอง
ผมพยายามฝึกตัวเองให้คิดบวก มองโลกในแง่ดี อภัยได้ก็อภัย ช่วยเหลือได้ก็ช่วยเหลือ ลองให้โอกาสตัวเองได้เป็นผู้ชายโลกสวยดูบ้าง ง่าย ๆ แค่นี้ก็มีความสุขได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วจะสุขจะทุกข์ขึ้นอยู่ที่ใจของเราเท่านั้นที่จะกำหนดทิศทาง
ข้อคิดสำหรับคนทำงานรุ่นใหม่
ผมมองว่าเด็กรุ่นใหม่มีความกล้าคิด กล้าแสดงออกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถ้าเราใช้ทุนตรงนี้มาสร้างเป็นกำไรให้กับชีวิต ด้วยการทำดีในทุก ๆ เรื่อง ดีเพื่อตัวเอง ดีเพื่อคนอื่น และเต็มที่กับทุก ๆ สิ่ง ไม่ว่าจะงานหรือชีวิต แล้วรอพบผลลัพธ์ของการเต็มที่ ซึ่งผมไม่สามารถตอบได้ว่าผลลัพธ์ของการเต็มที่จะออกมาเป็นอย่างไร ของแบบนี้ต้องลอง
ทำให้สนุกแล้วจะเป็นสุขกับชีวิต ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ ขอให้สนุกเข้าไว้ ผมเชื่อว่า “สุข” จะเกิดขึ้นตรงกลางของหัวใจเราอย่างแน่นอน
อัลบั้มภาพ 19 ภาพ