เมื่อสงครามเบาบางลง 'เบียร์ซีเรีย' กำลังกลับมา
ความรุนแรงจากสงครามกลางเมืองซีเรียตั้งแต่ปี 2011 ส่งผลให้โรงเบียร์ท้องถิ่นต้องปิดกิจการไปนานกว่า 6 ปี แต่เมื่อสถานการณ์การต่อสู้เริ่มบรรเทาเบาบางลง ดูเหมือนธุรกิจการผลิตเบียร์ซีเรียกำลังกลับมาเบ่งบานอีกครั้ง
เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่บาร์ของอาบู จอร์จ (Abu George) ซึ่งเปิดบริการอยู่ในเมืองเก่าแก่ของกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย จำเป็นต้องเสิร์ฟเบียร์นำเข้าจากต่างประเทศภายใต้ฉลากที่เป็นภาพบุคคลผู้มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น เช กูวารา (Che Guevara) และมาริลิน มอนโร (Marilyn Monroe) แต่ปัจจุบันทางบาร์กำลังนำเสนอทางเลือกใหม่ ๆ แก่นักดื่มท้องถิ่น นั่นคือ ‘เบียร์ซีเรีย’ ที่กำลังกลับมาตีตลาดน้ำเมาภายในประเทศอีกครั้ง หลังจากหายหน้าไปนานกว่า 6 ปี เพราะพิษจากสงครามกลางเมือง
สงครามกลางเมืองซีเรียที่เริ่มปะทุขึ้นในปี 2011 ส่งผลให้โรงงานผลิตเบียร์ท้องถิ่น 2 แห่งของประเทศจำเป็นต้องระงับการผลิต และปล่อยให้ผู้บริโภคหันไปจิบเบียร์นำเข้าจากต่างประเทศที่ราคาแพงกว่าอยู่พักใหญ่ จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2017 ความรุนแรงจากภัยสงครามเริ่มเบาบางลง ทำให้ 2 ผู้ผลิตลาเกอร์เบียร์ตัดสินใจหวนคืนวงการอีกครั้ง ทำให้ผับบาร์เล็ก ๆ ที่เรียงรายอยู่ตามตรอกซอกซอยใจกลางเมืองหลวงเต็มไปด้วยกลุ่มเด็กผู้หญิงสวมชุดสีขาวออกมายืนแจกขวดเบียร์ให้กับผู้เดินผ่านไปผ่านมา โดยลูกค้าที่บาร์ของอาบู จอร์จ ส่วนใหญ่มักเดินไปหาขวดเบียร์สีน้ำตาลชื่อ ‘อฟาเมีย (Afamia)’ ซึ่งประดับด้วยฉลากสีน้ำเงิน-ทอง และประกาศตัวเป็นเบียร์ประจำชาติของประเทศซีเรีย
“ผมอยู่ที่นี่มาตลอด 20 ปี ตั้งแต่ช่วงเวลาที่เบียร์ประจำชาติเป็นที่ต้องการสูง และมันเป็นความคิดริเริ่มที่น่ารัก เบียร์จะได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี เพราะผู้คนกำลังต้องการเบียร์ประจำชาติ” กาซซาน ซัลเลาม์ (Ghassan Salloum) หุ่นส่วนของโรงเบียร์ท้องถิ่นที่กำลังนิยมกล่าว
การกลับมาหมักเบียร์ซีเรียอีกครั้ง
ก่อนปี 2011 บริษัทผู้ผลิตเบียร์ท้องถิ่นที่ครองตลาดซีเรียมีอยู่ 2 รายคือ ‘อัล-ชาร์ค (Al-Shark)’ จากเมืองอเลปโป และ ‘บาราดา (Barada)’ จากเมืองดามัสกัส แต่ไม่ใช่แค่ประตูของโรงงานผลิตเบียร์อัล-ชาร์ค เท่านั้นที่ต้องปิดลงจากความบานปลายของภัยสงครามกลางเมืองอะเลปโป ทว่าโรงงานผลิตเบียร์บาราดาก็ถูกทำลายลงท่ามกลางการสู้รบระหว่างรัฐบาลซีเรีย และกลุ่มกบฏผู้ต้องการประชาธิปไตยเช่นกัน
“ผมรู้สึกเศร้ามากที่สงครามทำลายโรงเบียร์ลง ดังนั้น วันนี้ผมเลยมีความสุขกับการได้ดื่มเบียร์ซีเรียอีกครั้ง” อีเลียส (Elias) นักดื่มวัย 27 ปี ลูกค้าของบาร์อาบูร์ จอร์จ กล่าวพร้อมกับจิบเบียร์อฟาเมียเย็น ๆ ซึ่งตั้งชื่อตามเมืองในซีเรียตอนกลาง
ส่วนโรงเบียร์อฟาเมียตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมืองดามัสกัส ทำการผลิตครั้งแรกในปี 2010 แต่หลังจากความขัดแย้งในซีเรียเกิดขึ้นช่วงต้นปีถัดมา ส่งผลให้ต้องปิดตัวลง และเบียร์ก็ไม่เคยถูกส่งออกไปขายตามหน้าผับบาร์อีกเลย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเจ้าของโรงเบียร์อฟาเมียได้กลับมาผลิตเบียร์อีกครั้งในฤดูร้อนที่ผ่านมา และขวดเบียร์อฟาเมียก็กำลังแพร่กระจายตัวออกไปกว้างขวาง ตั้งแต่เมืองดามัสกัส ไปยังกลางเมืองฮอมส์ และตลอดจนเมืองทาร์ทุส ชายฝั่งของซีเรีย
ซับบาร์ คาดดูร์ (Sabbah Khaddur) วัย 42 ปี โปรโมเตอร์ของเบียร์อฟาเมียบอกว่า “ผมกลัวอนาคตจะไม่มีเบียร์ซีเรียอีกแล้ว ผมอยากลิ้มรสเบียร์ซีเรีย” ความฝันของเขาคือ การได้เห็นอฟาเมียกลายเป็นหนึ่งในโรงเบียร์ใหญ่สุดในภูมิภาค เพื่อแข่งขันกับโรงเบียร์ในประเทศเลบานอน หรืออียิปต์
ส่วนผสมจากสาธารณรัฐเช็ก
นอกจากนั้น บริเวณแนวชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของซีเรีย ยังมีโรงเบียร์อีกแห่งหนึ่งกำลังกลั่นเบียร์ออกจำหน่าย โดยได้รับความช่วยเหลือจากสาธารณรัฐเช็ก เพราะหลังจากสงครามกลางเมืองปะทุขึ้น หลายประเทศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับซีเรีย และทำการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่สาธารณรัฐเช็กเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เลือกรักษาความสัมพันธ์ และเจ้าของโรงงานผลิตเบียร์ ‘บาสซัล อับบาส (Bassel Abbas)’ กำลังใช้ประโยชน์จากเรื่องราวดังกล่าว เพื่อผลิตเบียร์ ‘อราโดส (Arados)’ ที่เลือกใช้วัตถุดิบทุกอย่างจากสาธารณรัฐเช็ก ตั้งแต่ฮอบส์ ข้าวบาร์เลย์ ฝาครอบ ฉลาก ขวด และแรงงานสุดช่ำชอง
“สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กยังคงเปิดประตูต้อนรับ เพื่อให้การติดต่อระหว่างทั้งสองประเทศง่ายขึ้น” อับบาสกล่าว พร้อมกับยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า อย่างไรก็ตาม เบียร์อราโดสเป็นผลิตภัณฑ์ของประเทศซีเรีย
ขวดเบียร์สีเขียวจะผ่านการฆ่าเชื้อ และบรรจุลงบนสายพานลำเลียงในโรงเบียร์ที่เมืองซาฟิตา (Safita) ของซีเรีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่อับบาสไว้วางใจ และห่างไกลจากความรุนแรงของสงครามกลาง ขณะที่สติกเกอร์สีขาวดีไซน์เรียบง่ายระบุชื่อเบียร์อราโดสที่ตั้งตามชื่อเกาะนอกชายฝั่งทาร์ทุส
เบียร์อราโดสเปิดตัวตามบาร์ในฤดูร้อน และขายกันในราคา 435 ปอนด์ซีเรีย หรือประมาณ 28 บาท เมื่อเทียบกับเบียร์นำเข้าจากต่างประเทศราคา 600 ปอนด์ซีเรีย หรือประมาณ 39 บาท
ปัจจุบันไม่ใช่แค่เบียร์อราโดส และเบียร์อฟาเมีย ที่กำลังแบ่งปันยอดขายกันตลาดน้ำเมาซีเรียเท่านั้น แต่สิ่งที่ผู้ผลิตทุกรายกำลังทำกันคือ พยายามส่งเสริมแบรนด์ของตัวเองในประเทศที่ "ไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์"