เปิดจดหมายรักของ 'อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์' ครั้งแรกในเอเชีย

เปิดจดหมายรักของ 'อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์' ครั้งแรกในเอเชีย

เปิดจดหมายรักของ 'อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์' ครั้งแรกในเอเชีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หน้ากระดาษที่เขียนด้วยลายมือบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับทฤษฎีสัมพัทธภาพ จดหมายรักสุดคลาสสิก และผลงานอื่นๆ ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ที่เก็บรักษาไว้ในกรุงเยรูซาเลม กำลังเปิดนิทรรศการครั้งแรกในไต้หวัน จีน และญี่ปุ่น

ผลงานจำนวนกว่า 75 ชิ้นของไอน์สไตน์ ที่เก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยฮิบรูกรุงเยรูซาเลม ประเทศอิสราเอล ถูกขนย้ายไปจัดแสดงที่อนุสรณ์สถานเจียงไคเชก (Chiang Kai-Shek Memorial Hall) เมืองไทเป ประเทศไต้หวัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ : ชีวิต 4 มิติ (Albert Einstein : Life in Four Dimensions) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันศุกร์ (12 ม.ค.) ที่ผ่านมา โดยมี ดร. เอวี มุลเลอร์ (Dr. Avi Muller) ทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ และนับเป็นการจัดแสดงนิทรรศการของไอน์สไตน์แบบเป็นทางการครั้งแรกในทวีปเอเชีย

สำหรับผลงานประกอบด้วย รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1921 หน้ากระดาษที่เขียนด้วยลายมือเกี่ยวกับทฤษฎีสัมพัทธภาพ จดหมายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จดหมายที่เขียนให้คนรัก คอลเลกชันกไวนิลของนักฟิสิกส์ และสิ่งประดิษฐ์มีคุณค่าอื่นๆ อีกมากมาย

ชีวิตของไอน์สไตน์มีเวลาอยู่กับครอบครัวน้อยมาก ทำให้ต้องอาศัยจดหมายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลัก และเมื่อประมาณ 12 ปีก่อน มหาวิทยาลัยฮิบรูเคยนำจดหมายลายมือไอน์สไตน์ราว 3,500 หน้ามาแสดงต่อสาธารณชน ซึ่งประมาณ 1,400 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นลายมือของไอน์สไตน์ที่เขียนถึงภรรยา และอีกส่วนเป็นจดหมายจากภรรยา และลูกๆ ในครอบครัวแรก ความน่าสนใจคือ จดหมายที่นำมาเปิดเผยนั้นแสดงให้เห็นว่า ไอน์สไตน์มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้หญิง 6 คน

ความร่วมมือกันของทางทีมผู้จัดทำนิทรรศการรเกิดขึ้นเมื่อราวๆ 2 ปีก่อน หลังจากบริษัทบลู ดรากอน อาร์ต (Blue Dragon Art) ประเทศไต้หวัน เสนอโครงการให้กับหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยฮิบรู ซึ่งเป็นสถานที่เก็บคอลเลกชันของไอน์สไตน์ที่ใหญ่สุดในโลก โดยทางภัณฑารักษ์ นักอนุรักษ์ และผู้ส่งสินค้า ต่างพยายามเต็มที่ในการเก็บรักษา บรรจุหีบห่อ และขนส่งของสะสมชิ้นสำคัญอายุ 100 ปี ทำให้ต้องใช้ตำรวจคอยคุ้มกันตลอดเส้นทาง

"ผลงานเกือบทุกชิ้นเป็นต้นฉบับเดิม ยกเว้นไปป์ของไอน์สไตน์ ซึ่งเปราะบางเกินกว่าจะส่งไปแสดง" ศาสตราจารย์แอชเชอร์ โคเฮน (Asher Cohen) อธิการบดีมหาวิทยาลัยฮีบรู กล่าว
นอกจากนั้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยฮีบรูยังกล่าวต่ออีกว่า นิทรรศการใหม่ที่น่าตื่นเต้นในไต้หวันช่วยกระชับสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยฮิบรูกับชาวเอเชีย ส่วนการจัดแสดงในเมืองไทเปจะอยู่ยาวถึงวันที่ 8 เมษายน ก่อนตระเวนไปยังประเทศจีน และญี่ปุ่นตามลำดับ

ทั้งนี้เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กระดาษโน้ตที่เขียนปรัชญาการใช้ชีวิตให้มีความสุข ซึ่งไอน์สไตน์เขียนลงกระดาษจดของโรงแรมอิมพีเรียลในกรุงโตเกียวเมื่อปี 1922 ถูกนำออกประมูลที่กรุงเยรูซาเลม และมีผู้ซื้อไปในราคาประมูลสูงสุดถึง 1.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณราว 52 ล้านบาท ซึ่งเหนือความคาดหมายอย่างมาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook